วันอังคารที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2557

วัดหัวข่วง จังหวัดน่าน

ผมเขียนเกี่ยวกับเรื่องวัดเรื่องวาติดต่อกันมาค่อนข้างนาน...นับตั้งแต่จบเรื่อง "Travellin' light ไปพม่า" คิดว่าถ้าเพื่อน ๆ ติดตามอ่านคงเบื่อแย่เลย!  ผู้เขียนเองก็ยังเบื่อเลย (ฮา)  ตั้งใจว่าจะเริ่มต้นเขียน "Travellin' light ไปเวียดนาม" ในวันสองวันนี้แหละ คิดว่าว่าลองได้ติดเครื่องแล้วคงจะไปยาว นานแค่ไหนไม่รู้กว่าจะเล่าเรื่องการท่องเที่ยว ๒ สัปดาห์ไปฮานอย ดานัง เว้ และฮอยอันจนจบ!  ลุยเวียดนามก็ดุดันไม่แพ้ไปพม่า ผมมีเรื่องราวและภาพที่จะนำมาโพสต์ได้อีกเป็นเดือน ๆ!!  อย่างไรก็ตามวันนี้ขอพาเพื่อน ๆ ไป "วัดหัวข่วง" ก่อนนะครับ...

ย่านประวัติศาสตร์สำคัญของเมืองน่านคือบริเวณ"ข่วงเมือง" ซึ่งผมคงไม่ต้องบอกว่าอยู่ตรงไหน (ใครไปเที่ยวเมืองน่านแล้วหาข่วงเมืองไม่เจอก็คงไม่ต้องไปไหนแล้ว!! อิอิ ) ถ้าเพื่อนไปถึงที่นั่นแล้ว ตั้งนาฬิกาเอาไว้ได้เลย ๓ ชั่วโมงเป็นอย่างน้อยสำหรับการเที่ยวชมวัดวาอาราม โบราณสถาน และพิพิธภัณฑ์ ซึ่งโอบกอดกันอยู่บริเวณนั้น! "วัดหัวข่วง" ก็เป็นหนึ่งในความภูมิใจของคนเมืองน่าน!


สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดน่าน ให้ข้อมูลไว้ค่อนข้างละเอียดว่า....
คำว่า "หัวข่วง" คือ ลานกว้าง ๆ วัดหัวข่วงก็คือวัดที่มีลานกว้าง ๆ ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ ๗๗ พ.มหาพรหม ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน ตั้งอยู่ในย่านประวัติศาสตร์สำคัญของเมืองน่านในอดีต ใกล้กับ "หอคำ" ซึ่งเป็นตำหนักของเจ้าผู้ครองนครน่าน (ปัจจุบัน คือ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจังหวัดน่าน) วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วัดภูมินทร์ คุ้มเจ้าราชบุตรมีประวัติการก่อสร้างสมัยใด ไม่ปรากฏชัดเจน แต่ปรากฏหลักฐานการซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ พระอุโบสถวัดหัวข่วงครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ โดย เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๐ สมัย พลตรีเจ้ามหาสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง วัดหัวข่วงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ เป็นวัดที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดน่าน เนื่องจากสิ่งก่อสร้างภายในวัดได้แก่ เจดีย์ พระอุโบสถ ธรรมมาสน์ และหอไตร ล้วนมีรูปแบบศิลปกรรมแบบล้านนาอย่างแท้จริง กรมศิลปากร จึงได้ประกาศให้เป็นโบราณสถานแห่งชาติดังปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๗ ตอนที่ ๑๒๓ ลงวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๓
เจดีย์วัดหัวข่วง ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงประสาท หรือเรือนทอง ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะล้านนา ฐานล่างทำเป็นหน้ากระดานสี่เหลี่ยม รับฐานบัวลูกแก้ว ๒ ชั้น มีชั้นหน้ากระดานคั่นกลาง ฐานบัวลูกแก้วชั้นบนย่อเก็จรับเรือนธาตุไปจรดชั้นบัวถลาใต้ องค์ระฆัง ส่วนเรือนธาตุมีซุ้มจรนัมด้านละซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริด ที่มุมผนังทั้งสองข้างปั้นเป็นรูปเทวดาทรงเครื่องยืนพนมมือเหนือชั้นอัสดง ตอนสุดเรือนธาตุเป็นชั้นบัวถลาซ้อนกัน ๓ ชั้น องค์ระฆังมีขนาดเล็ก ไม่มีบัลลังก์ ลักษณะของรูปทรง โดยส่วนรวมคล้ายกับเจดีย์วัดโลกโมลี อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งสร้างขึ้นระหว่างรัชกาลพระเมืองเกษเกล้า ราว พ.ศ.๒๐๗๑ แต่ส่วนฐานล่างและชั้นบัวถลาของเจดีย์ยกสูงขึ้น ทำให้มีลักษณะเรียวสูงกว่าแสดงถึงพัฒนาการทรงรูปแบบที่ชาวเมืองน่านดัดแปลงนำมาใช้ในระยะหลัง ซึ่งคงมีอายุไม่เก่าไปกว่าครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๒๒๗
"หอไตร" เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมทรงสูง ใต้ถุนก่อทึบมีทางเข้าทางเดียวมีบันได ภายในอาคารชั้นบนของหอไตร ฝาผนังทำด้วยไม้ มีหน้าต่างด้านละหนึ่งบาน ยกเว้นด้านหลังหลังคาเป็นรูปจั่ว มีการลดชั้นแบบปั้นหยา หลังคาด้านบนมีช่อฟ้าใบระกา หอไตรเป็นศิลปะล้านนา ผสมผสานศิลปะพม่า
ธรรมาสน์ เป็นธรรมาสน์ทรงสี่เหลี่ยม ยอดเป็นรูปน้ำเต้าสลักลาย ลงรักปิดทองประดับกระจก สร้างถวายโดยแม่เจ้าบัวแว่น ณ น่าน เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๘ และเจ้าราชวงศ์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕
(ขอขอบคุณที่มาของข้อมูล)

นำภาพมาฝากเพื่อน ๆ แล้วนะ เริ่มต้นที่พระอุโบสถกันก่อนเลย...
















พระเจดีย์...





หอไตร...





"หอคำ" หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่านในปัจจุบันคือจุดหมายต่อไป!  (ขออีกวันเดียวก่อนเล่าเรื่องไปเวียดนาม)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น