วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561

FB Tip ไปอยุธยา - วัดไชยวัฒนาราม

จาก "วัดลอดช่อง" ผมปั่นจักรยานแค่ครึ่งกิโลเมตรถึง "วัดไชยวัฒนาราม" วัดเก่าแก่สมัยอยุธยาตอนปลายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา...


"วัดไชยวัฒนาราม" สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๑๗๓ โดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ก่อนกรุงแตก พ.ศ. ๒๓๑๐ ได้ถูกแปลงให้เป็นค่ายตั้งรับศึก หลังการนั้นก็ถูกปล่อยทิ้งร้างเรื่อยมา จนถึง พ.ศ. ๒๕๓๐ กรมศิลปากรจึงได้เข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์ ขึ้นทะเบียนเป็นหนึ่งในโบราณสถานของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๓๕  (ที่มา - วิกิพีเดีย)


มีกำแพงล้อมรอบถึง ๓ ชั้น พอเข้าไปก็พบกับเจดีย์บรรจุอัฐิเจ้าพ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ก่อนเลย...

  


เมรุทิศ-เมรุรายตั้งล้อมรอบพระปรางค์อยู่ทั้งสิ้น ๘ องค์... 


   

พระอุโบสถสร้างอยู่ด้านหน้ากำแพงเมรุทิศเมรุรายนอกระเบียงคต ปัจจุบันเหลือแต่ฐาน...

    
     


เมรุรายมีผนังภายในเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปใบไม้ใบกนกซึ่งลบเลือนไปมากแล้ว ผนังด้านนอกมีภาพปูนปั้นพุทธประวัติจำนวน ๑๒ ภาพซึ่งก็เลือนไปแล้วเช่นกัน...




  

 



 




 โบราณสถานกว้างใหญ่ ต้องใช้เวลาสำรวจนานหน่อยนะครับ! ก้าวเดินก็ต้องระวังด้วย

วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2561

FB Trip ไปอยุธยา - วัดลอดช่อง

๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐ เป็นวันที่ตั้งใจแล้วว่าจะปั่นจักรยานเที่ยวรอบนอกเกาะอยุธยาเมืองเก่า ในแผนที่ผมเห็นว่าด้าน ๖-๑๒ นาฬิกามีวัดอยู่หลายวัด! 


กินอาหารเช้าให้อิ่ม เตรียมน้ำไว้ด้วย ๑ ขวด ร่างกายพร้อม จักรยานพร้อม ออกเดินทางได้แล้วจ้า...


ขี่จักรยานออกไปตามถนนอู่ทอง ผ่านโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ถีงวัดลอดช่อง ระยะทางประมาณ ๕.๖ กิโลเมตร...


ชื่อวัดลอดช่องฟังดูแปลกดี ผมอ่านเจอว่า "วัดลอดฉ้อง" สร้างในสมัยอยุธยาตอนกลางโดยพระเอกาทศรถสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึง "พระมหาเถรคันฉ่อง" พระอาจารย์ของพระองค์และสมเด็จพระนเรศวร กล่าวกันว่าต่อมาชื่อ "วัดมหาเถรคันฉ่อง" ถูกเปลี่ยนให้เพี้ยนไปเป็น “วัดลอดช่อง”


"วัดลอดช่อง" ตั้งอยู่ในตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา






มีป้ายตั้งอยู่ด้วย อ่านหน่อยนะครับ...
วัดลอดช่อง (Wat Load Chong)
วัดลอดช่อง เดิมชื่อ "วัดมหาเถรคันฉ่อง" จากคำให้การของ "ขุนหลวงหาวัตร" เขียนว่า "วัดลอดฉอง" จากหลักฐานหนังสือประวัติวัดธรรมมาราม เรียกว่า “วัดลอดฉ้อง” วัดนี้สร้างในสมัยอยุธยาตอนกลาง ราวพุทธศักราช ๒๒๐๐ และในราวพุทธศักราช ๒๒๑๐ ได้รับพระราช ทาน “วิสุงคามสีมา” คือให้มีพระสงฆ์จำพรรษา มีพระอุโบสถ วิหารหลวงพ่อขาว วิหารพระพุทธโคดม พระพรหมไตรลักษณ์ ศาลาการเปรียญ กุฏิทรงไทย หอสวดมนต์ หอระฆัง และฌาปนสถาน พระอุโบสถมี สถูปเจดีย์ทรงระฆังฐานย่อเหลี่ยม สันนิษฐานว่า บรรจุอัฐิผู้สร้างวัด จากคำบอกเล่าของผู้สูงวัย วัดนี้เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพสักการะของสาธุชนแถวนี้ จากสภาพที่ตั้งของวัดจะพบว่า วัดนี้อยู่รองถัดมาจากวัดด่านหน้า ซึ่งวัดที่เป็นด่านหน้า คือวัดเจ้าชาย วัดประมุข วัดสุเรน และวัดวรเชษฐ์ จะอยู่ในแนวเดียวกันเป็นเส้นตรง เสมือนคอยเฝ้าระวังกรุงศรีอยุธยา ยามข้าศึกยกมาจากค่ายสีกุก วัดด่านถัดมา เช่นวัดสนามไชย วัดไชยวัฒนากราม วัดคันฉ่อง (วัดลอดช่อง) วัดราชพลี วัดธรรมาราม และวัดการ้อง วัดลอดช่อง สันนิษฐานว่า พระมหาเถรคันฉ่องเป็นผู้สร้างในอยุธยา มีวัดที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนเรศวรฯ ๓ วัด คือ "วัดเจ้าชาย" พระเอกาทศรถเป็นผู้สร้าง "วัดเชษฐา" สมเด็จพระนเรศวรฯ เป็นผู้สร้าง อีกวัดหนึ่งเป็นวัดของพระอาจารย์สมเด็จพระนเรศวรฯ ชื่อ "มหาเถรคันฉ่อง"

สถูปเจดีย์ทรงระฆังฐานย่อเหลี่ยมซึ่งสันนิษฐานว่าบรรจุอัฐิผู้สร้างวัด 


ผมเก็บภาพพระอุโบสถมาฝากเพื่อน ๆ


ใบเสมาคู่อยู่ภายในซุ้มที่งดงามยิ่ง...





มาที่วิหารหลวงพ่อขาว...










ไปกันต่อนะครับ...

วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2561

FB Trip ไปอยุธยา - วัดบางกะจะ (วัดใหม่)


วัดบางกะจะ ตั้งอยู่ในตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เสียดายจังที่ผมไปถึงนั้นเย็นมากแล้ว แถมพายุฝนก็กำลังจะมา...



ยังไง ๆ ก็ขอให้เจ้า Banian เพื่อนยากได้ถ่ายภาพตรงนี้ (1) หน่อย!


บนเนื้อที่ ๑๒ ไร่ ๑ ตารางวา แบ่งเป็นเขตพุทธาวาส เขตศาลาการเปรียญ เขตสังฆาวาส และเขตฌาปนสถาน วัดนี้ตั้งอยู่ติดแม่น้ำ ๒ สายที่ไหลมาบรรจบกัน คือแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวบ้านมักเรียกสถานที่นี้ว่า "วัดใหม่"  ผมเห็นศาลาการเปรียญ (5) ตั้งอยู่ริมฝั่ง


วัดนี้สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. ๒๒๐๐ สถาปัตยกรรมต่าง ๆ เป็นแบบศิลปะล้านนา อยากพาเพื่อน ๆ เข้าชมก่อนฝนเทลงมา...


เดินผ่านซุ้มประตูโขง ตรงไปยังวิหาร...


มิได้เข้าไปข้างในเพราะเค้ากำลังจะปิดประตูแล้ว ผมได้แต่เพียงเดินเก็บภาพภายในกำแพงแก้ว ในขณะที่ลมพายุพัดแรงขึ้นเรื่อย ๆ....


  





ด้านหลังเป็นที่ตั้งของอุโบสถหลังย่อม (4)






พระเจดีย์อยู่หลังวิหารตามรูปแบบที่ได้เห็นทั่วไปในวัดทางภาคเหนือ...






ฝนเริ่มโปรยลงมาแล้ว ผมต้องรีบหาที่กำบังก่อนนะครับ...