วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

Travellin’ light ไป Bukit Lawang – ๑ วันก่อนออกเดินทาง

พร้อมแล้วครับ สำหรับการเดินทางแบบตัวเบาไป Bukit Lawang วันนี้ผมอยู่เชียงใหม่ กำลังรอที่จะออกเดินทางด้วยรถเร็วขบวน 102 ไปกรุงเทพในวันพรุ่งนี้เช้า...

จัดเตรียมข้าวของที่จะนำลงเป้ไว้แล้ว ดูเหมือนว่า"ยา" ที่นำไปด้วยจะมีมากจนน่าเป็นห่วง ก็คงเป็นเรื่องปกติสำหรับนักเดินทางสูงวัย ซึ่งมิใช่หนุ่ม ๆ สาว ๆ ผู้แข็งแรงปานม้าศึก กล้องถ่ายรูปที่นำไปก็มีเพียงตัวเดียว แต่มี memory card ไปเยอะหน่อย เพราะตั้งใจว่าคราวนี้จะถ่ายวิดิโอด้วย


ที่พิเศษและค่อนข้างหนัก คือ ถุงเสบียง ๒ ถุง บรรจุน้ำดื่มขวดใหญ่ ๔ ขวด นมแลคตาซอย ๕ กล่อง กล้วยอบ ๑๕ ลูก มูสลี่ประมาณ ๔๐๐ กรัม แอปเปิ้ล+ฟักทองตากแห้ง และขนมปังโฮลวีท...


สำหรับเสื้อผ้าก็ไม่แตกต่างกับทริป travellin' light ไปเวียดนามเมื่อปีกลาย เพียงแต่คราวนี้มีโสร่งและกางเกงสำหรับใสเล่นน้ำในลำธารไปด้วย..


ทีแรกผมตั้งใจจะพก net bookไปด้วย แต่ทำไม่ได้เพราะไม่มีพื้นที่พอ ผมคงจะรายงานเรื่องการเดินทางทาง facebook ได้เพียงทางเดียว บล็อกนี้คงจะเงียบอีกนาน...

ขอบคุณเพื่อน ๆ ที่ติดตามอ่านครับ!

วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558

Travellin’ light ไป Bukit Lawang – ประกันการเดินทาง

ผมขอกราบขอบพระคุณเพื่อน ๆ ที่ได้ให้ความเป็นห่วงในการเดินทางลงใต้เพื่อมุ่งหน้าสูปีนังของผมในครั้งนี้ เพื่อความสบายใจก็จะพยายามปรับเปลี่ยนแผนการเดินทางให้เสี่ยงภัยน้อยที่สุดนะครับ...

อย่างไรก็ตาม ชีวิตผมเดินมาได้ถึงตอนนี้ ผมก็เตรียมตัวเตรียมใจไว้แล้วค่อนข้างเต็มที่ ถ้ามีอันจะต้องจากโลกนี้ไป ขอเพียงอย่างเดียวว่า ถ้าจะไปก็ขอให้ไปเลย อย่าได้เจ็บป่วยพิกลพิการให้เป็นที่ลำบากสำหรับคนอื่นก็แล้วกัน  ในกรณีที่ร่างกายไม่สามารถใช้เป็นอาจารย์ใหญ่ได้ ก็ขอให้ผู้ที่ยังอยู่ช่วยกำจัดให้หมดไปโดยไม่รีรอ...

นี่คือเจตจำนงของผม!!


ถึงกระนั้น การเดินทางครั้งนี้ผมก็ได้ทำประกันไว้แล้วกับบริษัท CIGNA (ติดต่อศูนย์บริการลูกค้า โทร ๑๗๕๘  หรือ ๐๒ ๗๖๓๐๐๐๐)  กรมธรรม์หมายเลข INP000871


คุ้มครอง ๑๕ วัน เริ่มต้น ๓ เมษายน ๒๕๕๘ (๐๐.๐๑ น.) สิ้นสุด ๑๗ เมษายน ๒๕๕๘ (๒๔.๐๐ น.) คุ้มครองดังนี้..

  • เสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงโดยอุบัติเหตุ  ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท
  • ค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุและเจ็บป่วย : จ่ายตามจริง ไม่เกิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท
  • การเคลื่อนย้ายเพื่อรักษาพยาบาลฉุกเฉิน / การย้ายกลับประเทศไทย / การส่งศพกลับประเทศไทย
ผมจะระวังทุกย่างก้าว หวังว่าคงไม่ต้องใช้บริการของบริษัทประกันภัยแต่อย่างใด!

วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2558

Travellin’ light ไป Bukit Lawang – แผนเดินทางลงตัว

เพื่อน ๆ ที่รักครับ  แผนของ "Travellin' light ไป Bukit Lawang" ของผมลงตัวแล้วครับ!


เมษายน ๒๕๕๘ นั่งรถเร็วขบวน 102 ออกจากสถานีเชียงใหม่เวลา ๐๕.๔๕ น. ถึงสถานีหัวลำโพงเวลา ๒๑.๑๐ น. นอนรอที่สถานีรถไฟจนถึงวันรุ่งขึ้น<em> (ไม่ต้องห่วงนะครับ...ผมเคยรอแบบทรหดที่สถานีรถไฟมัณฑะเลย์มาแล้ว หนักหนาสาหัสกว่าที่สถานีหัวลำโพง ซึ่งถ้ามี wifi ก็นั่งเขียนบล็อกไปได้เรื่อย ๆ)

๒ เมษายน ๒๕๕๘ นั่งรถเร็วขบวน 171 ออกจากสถานีหัวลำโพงเวลา ๑๓.๐๐ น. ถึงสถานียะลาเวลา ๐๘.๔๘


๓ เมษายน ๒๕๕๘ ค้างยะลา ๑ คืน ก่อนนั่งรถโดยสารระยะทาง ๑๔๐ กิโลเมตรไปอำเภอเบตง

๔-๕ เมษายน ๒๕๕๘ อยู่เที่ยวเบตง พักค้าง ๒ คืน...

๖ เมษายน ๒๕๕๘ ออกเดินทางแต่เช้า เข้ามาเซียทางด่านเบตง จากนั้นจะต้องเดินทางรวดเดียวให้ถึง George Town เข้าพักที่ Friendly Green House ตามที่ได้จองไว้ล่วงหน้าแล้ว

๗ เมษายน ๒๕๕๘ เช่าจักรยานปั่นเที่ยวรอบเกาะปีนัง ไปอาบน้ำทะเล...

๘ เมษายน ๒๕๕๙  พักผ่อนสบาย ๆ ในตอนเช้า ก่อนเช็คเอ้าท์จากที่พักไปนั่งรถเมล์สาย 401 (ค่าโดยสาร 2.70 RM) จาก jetty ไปสนามบิน


บินจากสนามบินนานาชาติ Penang (PEN) เวลา ๒๑.๔๕ น. ถึงสนามบินนานาชาติ Kualanamu (KNO) ในเมดัน เวลา ๒๑.๓๕ น. (ท้องถิ่น) อยู่ค้างคืนที่สนามบิน รอรถบริษัท ALS เที่ยวแรกจากสนามบินไป Kota Binjai (๓๐,๐๐๐ รูปี)

ต่อรถเล็กไป Bukit Lawang เข้าพักที่ rainforest guest house ซึ่งได้จองไว้แล้ว...

๙-๑๓ เมษายน ๒๕๕๘  enjoy Bukit Lawang

๑๔ เมษายน ๒๕๕๘ เช็คเอ้าท์แต่เช้า นั่งรถกลับ Binjai  ตรวจสอบว่ารถเที่ยวสุดท้ายไปสนามบินออกกี่โมง แล้วเดินในเมืองจนได้เวลานั่งรถไปสนามบิน ถึงสนามบินรอ check in บินกลับปีนังเวลา ๐๕.๑๕ น.

๑๕ เมษายน ๒๕๕๘ ถึงปีนังเวลา ๐๗.๐๐ น. นั่งรถเมล์สายเดิมกลับ George Town อยู่เที่ยวอีก ๑ วันเต็ม ก่อนที่จะลงเรือข้ามฟากไปบัตเตอร์เวิร์ธ  นั่ง night bus ออกจากสถานีขนส่งบัตเตอร์เวิร์ธเวลา ๒๒.๐๐ น. มุ่งหน้าสู่โกตาบารู

๑๖ เมษายน ๒๕๕๘ ถึงโกตาบารู เข้าพักที่ Backpacker Hostel ๑ คืน เที่ยวโกตาบารูแบบว่ารำลึกถึงอดีต...

๑๗ เมษายน ๒๕๕๘ นั่งรถจากท่ารถไปเข้าไทยที่ด่านสุไหงโก-ลก รอขึ้นรถไฟฟรีขบวน 172 ออกจากสถานีสุไหงโก-ลก เวลา ๑๑.๓๐ น..


๑๘ เมษายน ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๑๕ น. ถึงสถานีหัวลำโพง  รอนั่งรถไฟฟรีขบวน 109 ออกจากหัวลำโพง ๑๒.๔๕ น.


๑๙ เมษายน ๒๕๕๘  ถึงเชียงใหม่เวลา ๐๔.๐๕ น.  นอนเชียงใหม่ ๑ คืน

๒๐ เมษายน ๒๕๕๘ ถึงบ้านที่ห้างฉัตรก่อนเที่ยง..

ขอบคุณข้อมูลเรื่องรถไฟจาก railway.co.th

Travellin’ light ไป Bukit Lawang – จองที่พัก

ตามที่ผมได้บอกเพื่อน ๆ ว่าทริปไป Bukit Lawang ครั้งนี้ ผมวางแผนการเดินทางไว้ค่อนข้างดี โดยอาศัยการค้นคว้าหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตและการจองที่พักออนไลน์ คราวก่อนผมรายงานว่าได้จองที่พักใน George Town ไว้แล้วที่ Friendly Green House ใน George Town


ส่วนที่่ Bukit Lawang ผมก็เพิ่งจองที่พักไว้เรียบร้อยแล้วเช่นกัน เป็นอันว่าทั้งในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ผมไม่ต้องแบกเป้เดินหาที่พักเหมือนทุกที...


นั่งรถจาก Binjai ไป Bukit Lawang ตามเส้นทางต่อไปนี้,,,,


ลงรถที่ตัวเมือง...


เดินไปที่พักซึ่งมีชื่อว่า Rainforest Guest House ซึ่งเข้าไปดูในเว็บแล้วหน้าตาเป็นเช่นนี้...



อย่างที่เคยบอก เพื่อน ๆ ก็คงรู้ดีว่าผมเป็นคนอยู่ง่ายกินง่าย ที่นอนเป็นแค่ฟูกที่วางบนพื้นห้อง ผมก็อยู่ได้ เค้าคิดหัวละ ๕๗ บาทต่อคืน ผมไปคนเดียวต้องจ่ายทั้งสองหัว คือ ๑๑๔ บาทต่อคืน ยึดครองคนเดียวทั้งห้อง...



อยู่กับธรรมชาติอย่างเนี้ยแหละ...


หวังว่าคงจะได้ไปนั่งตรงบาร์ที่เห็น...


ไปถึงแล้วจะถ่ายรูปมาให้เพื่อน ๆ ดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ เจ้าอุรังอุตังที่จะได้ไปเยือนถึงถิ่นของมันจริง ๆ

วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2558

Travellin’ light ไป Bukit Lawang – ปรับแผน

หลังจากศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับอินโดนีเซีย... ผมพบว่าทั้งค่าที่พักและอาหารการกินราคาค่อนข้างถูก อีกทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจและไม่เหมือนใครเยอะมาก ชนิดว่าถ้าไม่ตายเสียก่อน คงต้องไปประเทศนี้อีก ๓ ครั้งเป็นอย่างน้อย...

ที่มา - meetawee.com
ทีนี้มาดูทริปไปอินโดนีเซียครั้งแรกที่ได้วางแผนไว้ ผมกะว่าจะไปดูอุรุงอุตัง ไปปีนภูเขาไฟ และไปทะเลสาบโทบา แต่คิดแล้วเวลาที่มีอยู่แค่ ๖ วันนั้นไม่พอซะแล้ว ผมจึงต้องขอปรับเปลี่ยนเส้นทางเสียใหม่...

ดูตามแผนที่ซึ่งนำมาจากเว็บ bukitlawang.com  จากสนามบินใหม่ Kuala Namu (1) ซึ่่งอยู่ห่างจากเมืองเมดันเกือบ ๓๐ กิโลเมตร ถ้าจะไปหาเพื่อนอุรังอุตังที่ Bukit Lawang (3) ก็ต้องไปทางทิศตะวันตก จากนั้นถ้าจะไปปีนภูเขาไฟก็ต้องนั่งรถกลับมาลงใต้ไป Berastagi (4) เหลือเวลาแค่วันสองวัน ไม่พอสำหรับการ explore the world ตามสไตล์ลุงน้ำชาอย่างแน่นอน!


งั้นขอแปะโป้งเอาไว้ก่อน คราวหน้าค่อยหาตั๋วราคาถูกของแอร์เซียบินตรงจากดอนเมืองไปเมดัน คนไทยเดินทางเข้าอินโดนีเซียได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่าอยู่แล้ว...สบายมาก!  ถ้าอยู่ ๒ อาทิตน์เหมือน Travellin' light ไปพม่า ผมจะได้เที่ยวอย่างสำราญใจ นั่งรถไฟจากเมดันลงใต้ไปเรื่อย ๆ ดูภูเขาไฟพ่นควัน เที่ยวทะเลสาบ ขี่จักรยานรอบเกาะ แล้วลงไปให้ถึง Java ฯลฯ    ส่วนครั้งนี้ขอเป็น Bukit Lawang อย่างเดียว โดยจะนั่งรถของบริษัท ALS จากสนามบิน Kuala Namu (1) (๓๐,๐๐๐ รูปี)  ไปลงที่ Kota Binjai (2)...

ภาพจาก airportkualanamu.com
จากนั้นก็จะหารถต่อไปยัง Bukit Lawang  ไปอยู่กับธรรมชาติ กินอาหารสุขภาพ ถ่ายรูปอุรังอุตัง เที่ยวน้ำตก แช่ธารน้ำไหล เข้าดงพงไพร ฯลฯ  วันที่ ๙-๑๓ อยู่ใน Bukit Lawang ทั้ง ๕ วันเลย  วันที่ ๑๔ ค่อยนั่งรถกลับมาลงเมดัน  เดินชมเมืองสักครึ่งวัน หาอะไรกินอร่อย ๆ ประมาณ ๔-๕ ทุ่มค่อยนั่ง Airport Raillink  (๘๐,๐๐๐ รูปี) ไปสนามบิน....รอขึ้นเครื่องกลับไปปีนัง

เปลี่ยนแผนไป Bukit Lawang ที่เดียวทำให้ไม่ต้องรีบเร่ง เดินทางได้แบบสบาย ๆ  ผมขอเปลี่ยนชื่อทริปครั้งนี้เป็น "Travellin' light ไป Bukit Lawang"  ออกเดินทางวันที่ ๑ เมษายนนี้... ผมเตรียมเป้และเสื้อผ้าไว้แล้วครับ!


เสียดายตากกล้วยไม่ทัน ผมทำได้แค่แอปเปิ้ลตากแห้ง ฟักทองและมะพร้าว


เอาไว้ผสมกินกับ Muesli + แลคตาซอย โดยใช้ภาชนะใบนี้...


ใส่ถุงเตรียมไว้ ช่วงแรกเป็น Freight Train to Betong  ผมบรรจุของลงเป้ และหิ้วไปกินด้วยได้เต็มที่...


ยาหอมสำหรับคนแก่ก็เอาไปด้วย...


วันที่ ๘ ขึ้นเครื่องไปเมดัน ถึงจะเป็น Travellin' light น้ำหนักสัมภาระนำขึ้นเครื่องต้องไม่เกิน ๗ กิโลกรัม...

วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2558

Travellin’ light ไปสุมาตรา - จองที่พักในปีนัง

คิดว่า Travellin' light ไปสุมาตราในเดือนเมษายนนี้ น่าจะเป็นครั้งแรกที่ผมได้วางแผนการเดินทางไว้ค่อนข้างดี ในช่วงแรกยังไม่ต้อง improvise อะไรทั้งนั้น แค่นั่งรถไฟฟรีตลอดเส้นทางจากเชียงใหม่ไปยะลา...


การเดินทางด้วยรถไฟช่วงแรกมีดังนี้...

  • วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๘ นั่งรถเร็วขบวน 102 ออกจากสถานีเชียงใหม่เวลา ๐๕.๔๕ น. ถึงสถานีหัวลำโพงเวลา ๒๑.๑๐ น.  นอนรอที่สถานีรถไฟจนถึงวันรุ่งขึ้น
  • วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ นั่งรถเร็วขบวน 171 ออกจากสถานีหัวลำโพงเวลา ๑๓.๐๐ น. ถึงสถานียะลาเวลา ๐๘.๔๘ น.  หาที่พักในยะลานอน ๑ คืน

วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๘ ใช้เวลาครึ่งวันเที่ยวเมืองยะลา ก่อนนั่งรถโดยสารระยะทาง ๑๔๐ กิโลเมตรไปอำเภอเบตง...


ผมอยากเข้าพักที่โรงแรมฟ้าอันรุ่งเพราะถูกดี....


กะว่าจะพักสัก ๒ คืน (๔-๕ เมษายน) จะได้มีเวลาได้เที่ยวชมเมือง ดูหอนาฬิกา ตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ วัดพุทธาธิวาส มัสยิด วัดกวนอิม อาคารมูลนิธิอำเภอเบตง สวนสุดสยาม และอื่น ๆ...


วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๘ ออกเดินทางแต่เช้า เข้าประเทศมาเซียทางด่านเบตง จากนั้นจะต้องเดินทางรวดเดียวให้ถึง George Town บนเกาะปีนัง


ในชีวิตก็เพิ่งได้จองที่พักทางอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก โดยใช้บริการของเว็บ booking.com ได้ที่พักที่ Friendly Green House  ซึ่งโฆษณาว่า....
Friendly Green House is a hostel offering air-conditioned dormitory rooms with free WiFi.  Featuring its own restaurant, the property allows guests to paint on its walls. A 24-hour front desk and minimart is available.   Located in George Town, Friendly Green House is 800 metres from Komtar and Prangin Mall.  Pinang Peranakan Mansion is 1.4 km away while Penang International Airport is 15 km from the hostel.  Each dormitory room offers city views and features a clothes rack and comes with towels and linen. Guests have access to a shared bathroom.  Other facilities include a shared lounge, a games room and a ticket service. Bicycle rentals are available to explore the surrounding neighbourhood. Guests also have access to laundry and ironing facilities.

dorm bed ที่ Friendly Green House สองคืนแค่ ๓๒๑ บาท (๓๖ ริงกิต)  ถูกกว่านี้ไม่มีแล้ว...


จองผ่าน booking.com ดีจริง ๆ  ไม่ต้องจ่ายก่อน ไปจ่ายเอาตอนเข้าพักโน่น...


ผมค่อนข้างจะคุ้นเคยกับ George Town  รู้ว่าจากท่าเรือข้ามฟากจะต้องเดินไปทางไหน "Friendly Green House" อยู่ไม่ไกลครับ...


พักที่นั่นสองคืน  บ่ายโมงวันที่ ๘  ค่อยเช็คเอ้าท์แล้วนั่งรถเมล์ไปสนามบิน รอขึ้นเครื่องแอร์เอเซีย (เที่ยวบิน QZ105) ออกเวลา ๒๑.๔๕ น. ถึงสนามบินนานาชาติ Kualanamu (KNO) ในเมดันเวลา ๒๑.๓๕ น.

ถึงตอนนั้นแหละถึงจะได้ improvise ให้ได้ตื่นเต้นกันอีกที!!

วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2558

Travellin’ light ไปสุมาตรา

เพื่อน ๆ ที่รักครับ ผมหยุดเรื่องวัดและการปั่นจักรยานไว้ก่อนนะ... จากนี้ขอเป็นเรื่องการเดินทางในเดือนเมษายนล้วน ๆ

ตามที่ได้เขียนไว้ในบล็อกช่างเหอะ เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาที่ผ่านมา เรื่อง "นั่งรถไฟฟรี ๑,๘๒๐ กิโลเมตร ว่า...
....ผมจะนั่งรถเร็วขบวน 102 ออกจากเชียงใหม่เวลา ๐๕.๔๕ น. ถึงกรุงเทพเวลา ๒๑.๑๐ น. นอนรอที่สถานีหัวลำโพงจนถึงวันรุ่งขึ้น จากนั้นก็นั่งรถเร็วขบวน 171 ออกจากกรุงเทพ (๑๓.๐๐ น.) ถึงสถานียะลาเวลา ๘.๔๘ น. จากยะลาก็ไปเบตง "เบตง" เมืองซึ่งมีคำขวัญว่า "เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน" อยากจะพักสักคืนสองคืน (ขึ้นอยู่กับสถานการณ์) ก่อนเดินทางเข้ามาเลเซียทางด่านเบตง

ผมตั้งใจว่าจะเดินทางเข้ามาเลเซียโดยนั่งรถจากชายแดนไปบัตเตอร์เวิร์ธ แล้วลงเรือข้ามฟากไปเกาะปีนัง ที่คิดได้ตอนแรกก็มีแค่นั้นเอง แต่แล้วในระหว่างค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเรือที่จะข้ามไปยังเมดัน (Medan) ประเทศอินโดนีเซีย พบว่าปัจจุบันนี้ไม่มีเรือโดยสารให้บริการระหว่างปีนัง-เมดันอีกต่อไป บริษัทเดินเรือแจ้งว่า "Please note this ferry is no longer operating due to competition from the cheap budget airlines"  ผมคลิกอ่านไปทั่วตามเว็บสายการบินที่ให้บริการเส้นทางปีนัง-เมดัน  แล้วไม่รู้ว่าทำอีท่าไหนไปเจอโปรโมชั่นพิเศษ (Economy Promo) ของแอร์เซียเข้า ค่าโดยสารจากปีนังไปเมดันแค่ ๓๗๕ บาทเท่านั้น ไปกลับก็ ๗๕๐ บาท!!  ไม่มี Fuel Charge!  นอกจากค่าภาษีสนามบินของมาเลเซียและอินโดนีเซีย  รวมค่าเลือกที่นั่งและค่าธรรมเนียมการใช้บัตรแล้วแค่พันแปดร้อยกว่าบาท  หาไม่ได้ง่ายนักสำหรับจังหวะดี ๆ เช่นนี้ ผมรีบจองทันที (ได้ที่นั่ง 15A  ทั้งไปและกลับเหมือนทุกครั้ง)...


ขาไป - เดินทางวันพุธที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๘  ด้วยเที่ยวบิน QZ105 จากสนามบินนานาชาติ Penang (PEN) เวลา ๒๑.๔๕ น. ถึงสนามบินนานาชาติ Kualanamu (KNO) ในเมดัน เวลา ๒๑.๓๕ น. (ท้องถิ่น) ขากลับ วันพุธที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๕๘ เที่ยวบิน QZ108 จากสนามบินนานาชาติ Kualanamu (KNO) เวลา ๐๕.๐๕ น. ถึงสนามบินนานาชาติ Penang (PEN) เวลา ๐๗.๐๐ น.

เมดันเป็นเมืองใหญ่อันดับ ๔ ของอินโดนีเซีย ซึ่งมีข่าวว่ารถติดวินาศสันตะโร ผมคงจะใช้เป็นแค่ทางผ่าน... แล้วจะไปที่ไหนล่ะ?   ผมคงต้องรีบเร่งอย่างมาก เพราะมีเวลาแค่ ๗ วัน!

จุดหมายแรกที่จะไปคือ Bukit Lawang เพื่อเยี่ยมเพื่อนอุรังอุตัง...

ภาพจาก 00protectendangeredanimals00.blogspot.com
คุณ รชฏ ใจกล้า ได้ให้ความรู้ไว้ว่า...
ลิงอุรังอุตัง สุมาตรา (ชื่อสามัญ: Sumatran Orangutan/ ลิงอุรังอุตัง สุมาตรา  ชื่อวิทยาศาสตร์: Pongo abelii)  มีแหล่งที่อยู่บนหมู่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย มีรายงานไม่เกิน ๗,๕๐๐ ตัว เป็นผลเนื่องมาจากการบุกรุกทำลายป่า การเผาป่า และการตัดไม้ ทำการเกษตรอย่างผิดกฎหมาย  ในปี ๒๕๔๕ ได้มีการขึ้นบัญชีของ The World Conservation Union จัดให้เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (endangered) และมีรายงานประมาณการจำนวนของลิงอุรังอุตัง สุมาตราในปัจจุบันว่าเหลือเพียง ๓.๕๐๐ ตัวเท่านั้น
จากนั้นก็จะไป Berastagi เพื่อปีนภูเขาไฟ...

ที่มาของภาพ galeriwisata.wordpress.com
ถ้าต้องนอนในเมดัน ๒ คืน ผมไม่มีเวลาพอที่จะไปต่อจนถึงทะเลสาบโตบา (Lake Toba)

ภาพจาก th.aectourismthai.com
ไม่เป็นไรครับ ไปสุมาตราครั้งแรกขอแค่อุรังอุตังกับภูเขาไฟก่อนก็พอ...

วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

วัดปางม่วง อำเภอห้างฉัตร

ก่อนเขียนเรื่อง "Travellin' light ไปสุมาตรา" การผจญภัยซึ่งกำลังจะเริ่มในเดือนเมษายนนี้... ผมขอเขียนเรื่องวัดต่ออีกวันนะครับ!


"วัดปางม่วง" ตั้งอยู่บ้านปางม่วง หมู่ ๙ ตำบลห้างฉัตร เป็นวัดเก่าสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๐ ชาวบ้านเรียกกันว่า "วัดพระธาตุปางม่วง"


จากสี่แยกห้างฉัตร (1)  เพื่อน ๆ ขับรถไปถึงสี่แยกไฟแดง (ถนนลำปาง-ห้างฉัตร) (2)  ให้ตรงไปยังบ้านแม่ฮาว ข้ามทางรถไฟ (3) แล้วเลี้ยวซ้าย ขับตรงไปอีกเล็กน้อยถึงทางแยกไปบ้านวอแก้ว (4) ไม่ต้องเลี้ยวนะครับ  ขับตรงไปเรื่อย ๆ ในที่สุดก็จะถึงวัดปางม่วง (5)  รวมระยะทางประมาณ ๙ กิโลเมตร...


ซุ้มประตูตั้งเด่นอยู่ข้างหน้า ไม่ต้องกลัวว่าจะหาไม่เจอ...


ขับรถขึ้นไปตามทางเลยครับ...


วัดปางม่วงตั้งอยูบนภูเขาลูกเล็ก...


วัดนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นปูชนียสถานโบราณทางศาสนาอันดับ ๗ เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๓  เว็บห้องสมุดประชาชนอำเภอห้างฉัตรได้ลงประวัติความเป็นมาของวัดปางม่วงไว้น่าสนใจดังนี้...
โดยอดีตกาลประมาณ ๑,๔๐๐ กว่าปี สมัยพระนางจามเทวี ผู้ครองนครหริภุญชัย หรือจังหวัดลำพูนในปัจจุบัน ได้มาประทับเมืองเวียงตาลซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอห้างฉัตร ซึ่งมีพระโอรสองค์ที่ ๒ เป็นเจ้าเมือง ได้สุบินว่ามีชีปะขาวรูปหนึ่ง ชรอยว่าเป็นท้าวสักกะเทวราชจำแลงกายมาทูลพระนางว่าที่บนดอยกุโสนั้นมีพระเกศาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ เส้นบรรจุอยู่ พระนางจึงเล่าสุบินนิมิตให้แก่พระราชบุตรผู้เป็นเจ้าเมืองฟัง พระราชบุตรจึงให้ข้าราชบริพารออกตรวจค้นหาดอยกุโสไม่นานก็พบว่าอยู่ตรงข้ามตำบลห้วยตาน พระนางจามเทวีจึงรับสั่งให้พระราชบุตรเตรียมไพร่พลไปตั้งปางตรงจุดที่ต้นมะม่วง ทำพิธีเฉลิมฉลองเจ็ดวันเจ็ดคืน เริ่มตั้งแต่วันเพ็ญเดือน ๖ ใต้ ซึ่งตรงกับเดือน ๘ เหนือ แรม ๘ ค่ำ กำหนดนี้ได้ปฏิบัติเป็นประเพณีสรงน้ำพระธาตุมาตราบเท่าทุกวันนี้มิได้ขาด การฉลองที่จัดขึ้นในครั้งนั้นเรียกว่า “งานปางม่วน” เพราะมีการละเล่นสารพัดเท่าที่จะมีได้ในยุคนั้น ชาวเมืองอื่นที่อยู่ใกล้เคียงก็มาร่วมม่วนด้วย จึงเรียกติดปากว่า “ปางม่วน” นาน ๆ เข้าก็เลยเพี้ยนมาเป็นปางม่วงจนทุกวันนี้ ต่อมามีนายช่างชาวอินเดียชื่อ นายคาบิเยน โภราค่า ซึ่งเป็นช่างควบคุมงานซ่อมรางรถไฟที่เสียหายจากพายุฝนทำให้ต้องทำการซ่อมให้แล้วเสร็จก่อนวันพีธีเปิดรถไฟสายกรุงเทพ – เชียงใหม่ ได้ร่วมประเพณีสรงน้ำพระธาตุปางม่วง ได้รับรู้เรื่องเล่าความเป็นมาและปาฏิหารย์จากผู้เฒ่าผู้แก่จนเกิดความเลื่อมใสศรัทธา และเห็นว่าบรรดาพุทธศาสนิกชนทุกสารทิศต่างก็ต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง ในการขึ้นไปสักการะบูชาองค์พระธาตุ รวมถึงการถวายอาหารแด่พระสงฆ์สามเณร เพราะทางขึ้นไปนั้นสูง ทั้งไม่มีบันไดต้องปีนป่ายขึ้นอย่างลำบากยากยิ่ง และพิจารณาเห็นว่าองค์พระเจดีย์ที่มีอยู่นั้นเล็กเกินไปไม่สมกับความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชนที่มาสักการบูชาอย่างมาก จึงอยากจะสร้างให้องค์ใหญ่กว่าเก่าแต่ติดขัดที่ตนเองไม่ได้ร่ำรวยจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบเรียนให้เจ้าบุญวาทย์ เจ้าเมืองลำปาง ท่านเจ้าหลวงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา สั่งเบิกเงินจากคลัง ๔ ปีบให้สร้างองค์เจดีย์ตามความประสงค์ และได้แล้วเสร็จก่อนกำหนดวันทำพิธีเปิดรถไฟสายกรุงเทพ – เชียงใหม่ และในวันเปิดทางเดินรถไฟเจ้าบุญวาทย์ได้ขึ้นไปนมัสการพระเจดีย์องค์ใหม่ เกิดความพอใจ แต่ทางขึ้นไปนมัสการไม่สะดวก จึงมอบเงินให้อีก ๘ ปีบให้นายคาบิเยน สร้างบันไดขึ้น และศาลาพักใกล้องค์พระเจดีย์อีกหนึ่งหลัง (บันไดที่นายคาบิเยนสร้างขึ้นคราวนั้น ไม่ได้ราดซีเมนต์อย่างที่เห็นทุกวันนี้ เพียงแต่เอาหินมาเรียงซ้อนกันเป็นขั้น ๆ ขึ้นไปเท่านั้น)
ผมถ่ายภาพเส้นทางสำหรับเดินขึ้นมาให้เพื่อน ๆ ดูด้วย มีอยู่ ๒ ทางคือ ถนนคอนกรีตเล็ก ๆ...


และเส้นทางที่มีบันไดและราวเหล็ก...


ส่วนถนนทางสำหรับพาหนะนั้นค่อนข้างอันตราย เพื่อน ๆ ต้องใช้ความระมัดระวังในการขับขี่...


ขึ้นถึงข้างบนแล้ว จะมองเห็นทัศนียภาพเบื้องล่างได้ชัดเจน (ถ้าไม่มีหมอกควัน) บางครั้งอาจพอดีได้ยินเสียงรถไฟวิ่งผ่านสถานีปางม่วง...




พระธาตุปางม่วงมีลักษณะสถาปัตยกรรมไปทางอินเดีย เพราะผู้สร้างพระธาตุเป็นคนอินเดียชื่อ คาบินเยน โภราด่า (นายช่างคุมงาน) ลักษณะเด่นของพระธาตุคือ มีลวดลายรูปดาบไขว้ปรากฏอยู่  และด้านข้างพระธาตุทั้ง ๔ ด้านมีกระโจมรูปสามเหลี่ยม ยอดประดับด้วยสัญลักษณ์คล้ายหอกสามง่าม...


ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปองค์เล็ก...



ด้านข้างมีศาลาประดิษฐานพระนอน...





มีพระบรมธาตุแช่แห้งจำลองด้วย...


พระอุโบสถก่อด้วยศิลาแลง..






พระประธานภายในอุโบสถ...



ทางขึ้นไปยังรอยพระพุทธบาทวังมะนาว


เห็นมณฑปครอบรอยพระพุทธบาท...







วัดปางม่วงกำลังสร้างวิหารทำด้วยไม้สักทั้งหลัง!!


เจ้าอาวาสวัย ๔๐ ปีกำลังคุมงานก่อสร้างหน้าบัน...



ท่านบอกกับญาติโยมว่า "เดือนพฤษภาฯ มีปอยหลวง...มาเน้อ"