วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559

พิธีสืบชะตาแม่น้ำ - หินสามเส้า

เมื่อสิ้นสุดพิธีสืบชะตาฯ ผากลางน้ำ ทุกคนได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวัน หลังจากนั้นท่านกำนันก็พาผมซ้อนจักรยานยนต์ออกไปยังจุดที่ ๒ ของพิธีกรรมในวันนี้... 


ล้อหมุนมาตามถนนลูกรังเล็ก ๆ ระยะทางกิโลเมตรกว่า ๆ ก็ถึงจุดหมาย เราสองคนมาถึงที่นี่ก่อนเพื่อน ด้านซ้ายมือผมเห็นลานกว้างบนเนิน มีศาลและศาลาอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ ดูครึ้มและเงียบสงัดด้วยอำนาจเร้นลับ!



ไม่นานนักขบวนของชาวบ้านก็ตามมาถึง มีการจุดบอกไฟ (พลุ) เพื่อบอกเจ้าที่เจ้าทาง...




ท่านพระครูฯ กำลังเล่าความและชี้ให้เห็น "หินสามเส้า" 

 



ในขณะที่ชาวบ้านเร่งมือตั้งกระโจมไม้และโยงสายสิญจน์...



ข้างบนลานก็ปูเสื่อ ตั้งเก้าอี้ จัดเตรียมเครื่องถวาย...



ชาวบ้านมากันพร้อมแล้ว...



พระสงฆ์เริ่มทำพิธี...




ผมบันทึกภาพเทียนสายที่กำลังลุกไหม้มาให้เพื่อน ๆ ดูด้วย...


เสร็จพิธี หลังจากช่วยเก็บเก้าอี้...ผมซ้อนมอเตอร์ไซค์ท่านกำนันไปแวะเอาจักรยานที่ศูนย์เรียนรู้ฯ


จากนั้นก็ปั่นจักรยานออกไปยัง "หอเสื้อบ้าน" ซึ่งเป็นสถานที่ทำพิธีจุดสุดท้าย

วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559

พิธีสืบชะตาแม่น้ำ - ผากลางน้ำ

วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๙ เป็นวันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๗ มีพิธีสืบชะตาแม่น้ำที่บ้านวอแก้ว อำเภอห้างฉัตร ลำปาง ผมโชคดีที่มีโอกาสได้ไปร่วมงาน อยากจะนำภาพมาฝากเพื่อน ๆ ที่รัก!


 

เว็บประเพณีไทยดอทคอมได้ให้ข้อมูลไว้ว่า...
พิธีสืบชะตาแม่น้ำประยุกต์มาจากพิธีสืบชะตาคนและสืบชะตาหมู่บ้าน มีความสำคัญดังนี้
    ๑. ก่อให้เกิดความร่วมมือ ความสามัคคีและช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในชุมชน
    ๒. ทำให้เกิดความเลื่อมใส เคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องรักษาแม่น้ำ
    ๓. เกิดความรักหวงแหนและสำนึกในการดูแลรักษาแม่น้ำ ตลอดจนต้นน้ำลำธาร
พิธีกรรม
    ๑. ก่อนทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำ ชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจกัน ขุดลอกลำคลองและแหล่งน้ำ โดยใช้เครื่องไม้เครื่องมือพื้นบ้าน
    ๒. ในวันกระทำพิธีจะมีการบวงสรวงเทวดา เพื่อเป็นการขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษาแม่น้ำ
    ๓. เครื่องสืบชะตาประกอบด้วย กระโจมไม้สามขา ท่อนแสก เรียกว่าสะพานเงิน สะพานทอง อีกท่อนหนึ่ง จะผูกติดด้วยไม้ค้ำท่อนเล็ก ๆ จำนวนพอประมาณแต่ลงท้ายด้วยเลข ๙ เครื่องประกอบอื่น ๆ ได้แก่กระบอกน้ำ หน่อกล้วย อ้อย ลูกมะพร้าว หม้อเงิน หม้อทอง เทียนถุง เมี้ยง บุหรี่ หมากพลู ข้าวตอกดอกไม้รวมกันในด้ง บทสวดที่ใช้ในการสืบชะตาแม่น้ำ คือบทสืบชะตาหลวง (อินทชาตา, ชินบัญชร อัฏฐอุณหัสสและธรรมสาลาวิจารสูตร) 
ที่บ้านวอแก้วพิธีกรรมมีอยู่ด้วยกัน ๓ จุดคือ  ๑) ผากลางน้ำ  ๒) หินสามเส้า  และ ๓) หอเสื้อบ้าน


ผากลางน้ำ
หินสามเส้า
หอเสื้อบ้าน
เริ่มที่ศาลาบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เปิ๊บก่อน เมื่อเวลา ๙.๓๐ น...


ประกอบด้วยพระสงฆ์ ๕ รูปและชาวบ้านอีกร่วมร้อย...

 




จุดเทียนสายในระหว่างการสวดสืบชะตา....



กำลังนำน้ำพุทธมนต์ไปพรมที่ "ผากลางน้ำ"



สิ้นเสียงสวด "สะทา โสตถี ภะวันตุ เตตตตตต..."  ชาวบ้านได้รับพรกันแล้ว ก็เป็นอันว่าเสร็จพิธี


พระสงฆ์ฉันเพล...


ตามด้วยชาวบ้านและผู้ไปร่วมพิธี...


อาหารที่ชาวบ้านร่วมมือร่วมใจกันทำมาเลี้ยงนั้นมีมากมาย พร้อมทั้งขนมและผลไม้...


ขนมจีนน้ำเงี้ยวเชิญมาทางนี้...



ท้องฟ้าแจ่มใส แสงแดดจ้า แต่อากาศไม่ยักร้อน คงเป็นเพราะอยู่ในอ้อมกอดของขุนเขาและป่าไม้อุดมสมบูรณ์!



เสร็จจากนี่แล้ว...ชาวบ้านเริ่มเดินทางต่อไปยังจุดทำพิธีที่ "หินสามเส้า"


เพื่อน ๆ ตามไปด้วยกันนะ!

วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559

FB Trip - อ่างเก็บน้ำห้วยแม่เปิ๊บ ต.วอแก้ว อ.ห้างฉัตร


วันจันทร์ที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๙  มีพิธีสืบชะตาแม่น้ำที่ตำบลวอแก้ว อำเภอห้างฉัตร ผมปั่นจักรยานออกจากบ้านร้านเปียโน (H) ตั้งแต่ ๘ โมงเช้า มุ่งหน้าไปบ้านวอแก้วเพื่อร่วมงานซึ่งทราบว่าจะเริ่มเวลา ๙.๓๐ น.


ด้วยระยะทาง ๑๒ กิโลเมตร ผมเดินทางถึงวัดวอแก้ว (1) เมื่อเวลา ๙.๐๐ น.


หยุดถ่ายภาพบ้าง ต้องปั่นขึ้นเขาบ้าง จึงใช้เวลาค่อนข้างมาก!   ที่วัดวอแก้ว (1) ผมยังไม่รู้ตำแหน่ง ต้องหยุดถามชาวบ้านตรงสามแยกถึงสถานที่จัดพิธี หญิงคนหนึ่งบอกให้ผมตรงไปแล้วเลี้ยวซ้าย อีกคนหนึ่งแนะให้ไปตามถนนที่เห็นอยู่ทางด้านซ้ายดีกว่าจะได้ไม่หลง ขณะที่ยังสับสนและตัดสินไม่ได้ว่าจะปั่นจักรยานไปทางไหนดี ก็มีท่านกำนันในชุดยีนส์ขี่จักรยานยนต์ผ่านมาพอดี



ภาพกำนัน บันทึกไว้ทีหลัง
กำนันหนุ่มบ้านวอแก้วช่วยกรุณานำผมยังไปศูนย์การเรียนรู้ฯ เพื่อเก็บจักรยานไว้ที่นั่น แล้วพาซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ไปยังสถานที่จัดพิธี...




ถึงได้รู้ว่าจากวัดวอแก้ว (1) ต้องไปอีก ๓.๕ กิโลเมตร บนเส้นทางดินลูกรังยากลำบากกว่าจะถึงสถานที่ทำพิธีบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เปิ๊บ


 

ถึงแล้วครับ ทันเวลาพอดี! หากผมต้องปั่นมาเอง คงมาไม่ทันเพราะหลงทางซะก่อนเป็นแน่แท้


ผมมีภาพและเรื่องของพิธี "สืบชะตาแม่น้ำ" ที่จะนำมาโพสต์และเล่าให้ทราบ แต่วันนี้อยากพาเพื่อน ๆ ไปดูอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เปิ๊บด้วยกันก่อน ต้องเดินไต่เขาขึ้นไปครับ...



ถึงข้างบนแล้วมองเห็นวิวสวยเบื้องล่าง...



ถนนบนขอบอ่าง...


ผมเดินไปเก็บภาพป้ายอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เปิ๊บไว้เป็นหลักฐาน...



มีจุดยืนชมวิวด้วยนะ...



เดินข้ามสะพานตามไปเก็บภาพมาฝากเพื่อน ๆ






ลุงคนหนึ่งพูดว่า "น้ำมอกถ้วยก๋าไก่" หมายความว่าปีนี้มีน้ำน้อยมาก !!


"พิธีสืบชะตาแม่น้ำ" ที่กำลังจะเริ่มในไม่ช้านี้ จึงมีความสำคัญยิ่งต่อชาวบ้านที่นี่!