วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

สถานีชุมทางบ้านภาชี


ผมก้าวลงจากรถเร็วขบวน 102 ที่สถานีชุมทางบ้านภาชีเพื่อต่อรถไปสุรินทร์  คิดว่าเหล่าช้างแสนรู้ที่ได้เห็นรูปในหนังสือคงกำลังรอผมอยู่ที่บ้านตากลาง!


ผมชอบคำว่า "ชุมทาง" หรือที่ภาษาปะกิตเรียกว่า "่junction" มันทำให้ผมคิดถึงเพลงที่ว่า "จากเธอที่ชุมทางเขาชุมทอง เฝ้าแต่แลมอง ๆๆ จนลับตา...."  แถมยังคิดไปถึงตอนเรียนช่างไฟฟ้าเมื่อฝึกงานติดตั้ง junction box แยกสายไฟไปยังจุดต่าง ๆ



รถไฟก็เช่นกัน สายใต้วิ่งออกจากหัวลำโพงแล้วไปหยุดที่ชุมทางบางซื่อเพื่อแยกไปหาดใหญ่สุไหงโก-ลก ส่วนรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือไปหยุดที่ชุมทางบ้านภาชีเพื่อแยกไปอุบลราชธานี และอื่น ๆ  ทริปนี้ผมตั้งใจไปสุรินทร์ ถ้าไม่นับรถด่วนก็มีรถไฟให้เลือกโดยสารดังนี้...
รถธรรมดา 233 กรุงเทพ-สุรินทร์ ออกจากหัวลำโพง ๑๑.๔๐ น. ถึงบ้านภาชี ๑๓.๒๕ น. ถึงสุรินทร์ ๒๐.๐๐ น.
รถเร็ว 145 กรุงเทพ-อุบลราชธานี ออกจากหัวลำโพง ๑๕.๒๐ น. ถึงบ้านภาชี ๑๗.๒๕ น. ถึงสุรินทร์ ๐๐.๓๒ น.
รถเร็ว 139 กรุงเทพ-อุบลราชธานี ออกจากหัวลำโพง ๑๘.๕๕ น. ถึงบ้านภาชี ๒๐.๔๘ น. ถึงสุรินทร์ ๐๓.๑๕ น.
รถเร็ว 114 กรุงเทพ-อุบลราชธานี ออกจากหัวลำโพง ๒๒.๒๕ น. ถึงบ้านภาชี ๐๐.๑๔ น. ถึงสุรินทร์ ๐๖.๕๘ น.
สองขบวนแรกเป็นรถไฟฟรี ส่วนสองขบวนหลังต้องจ่ายตังค์ ๑๗๐ บาท (ชั้น ๓ ไปลงสุรินทร์)  ไม่เป็นไรฮับ...ยินดีจ่าย  ผมลงรถที่บ้านภาชีเวลา ๑๘.๔๕ น. มีเวลาอีก ๒ ชั่วโมงก่อนขึ้นรถเร็วขบวน 139 แต่ถ้าไปขบวน 114 ก็ต้องรอถึง ๕ ชั่วโมงครึ่ง  ผมเดินไปสอบถามที่ห้องจำหน่ายตั๋ว...


เจ้าหน้าที่แนะนำให้ไปขบวน 139 โดยให้เหตุผลว่ารถอาจเสียเวลา อีกทั้งขบวน ๒๐.๔๘ น. ก็ไม่ต้องรอนาน ผมตกลงซื้อตั๋วรถเร็ว 139 ไปลงสถานีสุรินทร์ ค่าโดยสาร ๑๗๐ บาท ยื่นบัตรประชาชนให้เค้านำไปคีย์บันทึกหมายเลขและชื่อลงบนตั๋ว


ได้ตั๋วมาแล้วก็ต้องรอ  มีเก้าอี้ทำจากไม้หมอนลงยูรีเทน (เหมือนที่สถานีนครลำปาง) ตั้งอยู่ตรงข้ามกับห้องจำหน่ายตั๋ว...



สถานีรถไฟเล็ก (แต่ทำหน้าที่ใหญ่เพราะเป็นชุมทาง) มีผู้โดยสารนั่งและนอนรออยู่แค่ ๓-๔ คน ผมมองไปรอบ ๆ เห็นแต่ความมืดยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ รถบรรทุกน้ำมันยาวเหยียดทอดตัวอยู่บนราง รอเดินทางขึ้นเหนือ โดยมีหัวรถจักรคันใหม่ที่ยังหนุ่มแน่นอยู่หัวขบวนกำลังเร่งเครื่องส่งเสียงแสดงพลัง!


นอกนั้นแล้วก็เงียบสงบ ถ้าถามว่าทำไมไม่ไปรอรถที่สถานีอยุธยา (2) ซึ่งน่าจะมีแสงสีและอะไรให้ดูมากกว่านี้?  ผมก็อยากบอกว่าลงสถานีบ้านภาชี (1) นี่แหละดี เพราะผู้คนไม่มาก ภาพหญิงผู้มากับเด็กที่กำลังนอนอยู่บนม้ายาวเป็นคำตอบที่ดี แสดงให้เห็นว่าสถานีรถไฟแห่งนี้ใจดีอนุญาตให้เหยียดกายนอนรอได้!


วางเป้ไว้แล้วออกเดินสำรวจไปรอบ ๆ  ที่จริงแล้วอยากหาห้องน้ำมากกว่า แต่ดันไปเจอร้านข้าวต้มอยู่ข้างห้องควบคุม (3)...


ว้าว... มีข้าวต้มปลาขายด้วย!  ชามละ ๒๐ บาท  ผมนั่งสั่งกินทันที...


กินเสร็จกลับมาที่นั่งผู้โดยสาร ได้ยินลุงคนหนึ่งคุยว่าเพิ่งเดินไปอาบน้ำมา ผมหูผึ่งขยับเข้าไปถามว่าอยู่ตรงไหนนะเจ้าห้องน้ำที่ว่านั่น?  แกบอกให้เดินออกทางด้านหลัง ข้ามทางรถไฟ (4) เลี้ยวซ้ายแล้วเดินไปจนถึงจุดที่มีร้านค้า (5) ถ้าไม่เจอก็ถามเค้าอีกที  ผมเปิดเป้ค้นผ้าขนหนูผืนเล็กออกมาพาดบ่า แล้วเดินมุ่งหน้าออกไปตามคำบอก...



ก็ยังไม่วายกดชัตเตอร์เก็บภาพ (เบลอ ๆ) ข้างทาง...



เดินหาจนเจอ  อยู่เลยร้านรับทำกุญแจที่เห็นในภาพไปหน่อย...ห้องอาบน้ำซ่อนอยู่ทางด้านขวา ผมจ่าย ๑๐ บาทแล้วเข้าอาบน้ำในห้องน้ำซึ่งบางคนอาจรับไม่ได้...


ได้บันทึกไว้ว่า "มีห้องส้วม-ห้องน้ำ จ่าย ๑๐ บาท เด็กหนุ่มบอกว่า "อาบตามสบายเลยป๋า น้ำไม่พอก็เปิดอีก" - ห้องน้ำสกปรกแต่ก็อาบได้ มีสบู่ + แป้งให้ด้วย - ต้องระวังไม่ให้ลืมของ เช็คให้ดีก่อนจากมา..."


"Refreshed"   คนแบกเป้ผู้เดินทางมาตั้งแต่เช้ามืดนึกถึงคำพูดของฝรั่งเพื่อนร่วม hostel...  มีความรู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น