วันพุธที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2557

FB Trip ไปอุตรดิตถ์ – วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง

หยุดจอดรถอยู่ตรงมุมถนนหน้าวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง...ผมถ่ายภาพซุ้มประตูในลักษณะย้อนแสงไว้ ๑ บาน ก่อนที่จะขี่จักรยานเข้าไป!


หันกลับไปถ่ายภาพด้านหลังไว้ด้วย...


ดึงภาพเข้ามาใกล้ ๆ อีกหน่อย...



ผมนำจักรยานไปจอดไว้ข้าง ๆ ซุ้มประตูโขง โดยไม่ได้ล็อคกุญแจ...


ด้านหน้ามีแผ่นจารึกให้อ่านก่อนเดินเข้าไปชมภายใน ดีเหมือนกันจะได้ทราบข้อมูลและประวัติความเป็นมา...


วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง...
วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ตั้งอยู่ในเขตตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมืองโบราณทุ่งยั้ง ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างตั้งแต่เมื่อใด สันนิษฐานว่าเป็นโบราณสถานสำคัญที่มีมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย จากการศึกษารูปแบบศิลปกรรมของเจดีย์ประธาน สันนิษฐานว่าเดิมเจดีย์ประธานคงจะเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ และมีการบูรณะในภายหลังเป็นเจดีย์ทรงลังกาที่ปรากฏในปัจจุบัน และจากตำแหน่งที่ตั้งของวัดคงจะเป็นวัดสำคัญประจำเมือง อีกทั้งหลักฐานทางโบราณคดียังชี้ให้เห็นว่า เมืองทุ่งยั้งเป็นเมืองโบราณร่วมสมัยกับกรุงสโขทัยและศรีสัชนาลัย วัดแห่งนี้จึงน่าจะสร้างควบคู่กับการสร้างเมือง มีการบูรณะปฏิสังขรณ์สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในวัดมาเป็นลำดับจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนหลักฐานทางเอกสารที่กล่าวถึงวัดนี้ ได้แก่ จดหมายเหตุระยะทางไปพิษณุโลก พระนิพนธ์ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ พ.ศ.๒๔๔๔
โบราณสถานสำคัญภายในวัดประกอบด้วย เจดีย์ประธาน อุโบสถและวิหารหลวง ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ขนาด ๒๒.๒๐ x ๒๒.๒๐ เมตร สูง ๒๕ เมตร ประกอบด้วยฐานเขียงซ้อนกัน ๓ ชั้นลดหลั่นกันไป ฐานชั้นล่างสุดก่อด้วยศิลาแลง ถัดขึ้นไปก่อด้วยอิฐและศิลาแลงฉาบด้วยปูน ที่ฐานเขียงชั้นล่างทั้ง ๔ มุม มีเจดีย์ขนาดเล็กทรงระฆัง ตรงกลางเรือนธาตุของเจดีย์ประธาน ทั้ง ๔ ด้าน ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนอยู่ภายในซุ้มจรนำ สันนิษฐานว่าคงทำขึ้นภายหลัง อุโบสถเป็นอุโบสถขนาด ๓ ห้อง ก่ออิฐถือปูนกว้าง ๗.๖๐ เมตร ยาว ๑๔ เมตร สูง ๑๓ เมตร ผนังด้านข้างมีช่องหน้าต่างด้านละ ๓ ช่อง หลังคามุงกระเบื้องแค ๓ ชั้น ประดับด้วย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ปูนปั้นประดับกระจก ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานปูนปั้น ด้านหน้าเป็นมุขยื่นหลังคาลด ๓ ชั้น
วิหารหลวงเป็นวิหารขนาด ๕ ห้อง ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ประธานก่อด้วยศิลาแลงและอิฐ มีขนาดกว้าง ๑๐.๕๐ เมตร ยาว ๒๕ เมตร หลังคามุงกระเบื้องลด ๓ ชั้น ประดับด้วย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ไม้แกะสลัก ที่หน้าบันเป็นไม้แกะสลักติดกระจกลงรักปิดทอง มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลังทำเป็นหลังคาลด ๓ ชั้น เสารับน้ำหนักด้านนอกเป็นเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ หัวเสาเป็นบัวกลุ่ม มีหน้าต่างด้านละ ๕ บาน ด้านหน้ามีประตู ๑ ประตู ด้านหลังมี ๒ ประตู ภายในมีฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ด้านหน้าพระพุทธรูปประธานมีเสากลมหัวเสาเป็นบัวกลุ่มรับน้ำหนัก เพดานเป็นลายเขียนสี และที่ผนังด้านในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนเรื่องเงาะป่า 
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษ เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ ลงวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘

ประวัติวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง...
วัดนี้สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงสุโขทัยตอนปลาย คือในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท ชาวบ้านทั่วไปเรียกชื่อวัดนี้ว่า "วัดบรมธาตุ" แต่ส่วนใหญ่นิยมเรียกชื่อว่า "วัดทุ่งยั้ง" กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียน วัดนี้ให้เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ และเขียนชื่อวัดนี้ว่า "วัดมหาธาตุ" เป็นชื่อทางราชการ วัดแห่งนี้มีโบราณสถาน โบราณวัตถุที่สำคัญดังนี้
๑. พระมหาเจดีย์ทรงลังกา พระสารีรักธาตุ
๒. พระวิหารหลวง และพระประธานในพระวิหารหลวง
๓. พระอุโบสถ
โบราณสถาน โบราณวัตถุ ดังกล่าวนี้อยู่ในเขตพุทธาวาสซึ่งมีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน พระมหาเจดีย์ตั้งอยู่ทางด้านหลังของวิหารหลวง เป็นเจดีย์ทรงลังกา สูง ๒๐ วา ฐานพระเจดีย์กว้าง ๑๐ วา ๓ ศอก มีซุ้มจรนำประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง ๔ ทิศ แต่ซุ้มจรนำนี้ได้ถูกช่างชาวพม่าปฏิสังขรณ์จึงมีรูปทรงเปลี่ยนไปจากของเดิม เช่นเดียวกับเจดีย์ทั้ง ๔ องค์ ซึ่งตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมในชั้นที่ ๑ นั้นมีรูปลักษณะเหมือนเจดีย์ของพม่า ส่วนที่ยังรักษารูปทรงเหมือนของเดิมคือส่วนบนขององค์พระเจดีย์ตั้งแต่ชั้นที่ ๓ ขึ้นไปเท่านั้นที่ยังคงเป็นลักษณะแบบลังกาซึ่งเป็นพระเจดีย์ที่นิยมสร้างกันในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือ "เที่ยวตามทางรถไฟ" ว่าพระมหาธาตุเจดีย์ วัดมหาธาตุ เมืองทุ่งยั้ง เป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แต่ได้หักพังลงมาแล้วมีผู้ซ่อม แปลงเป็นรูปทรงอื่นเสียแล้ว พระบรมธาตุเจดีย์ได้พังทลายลงเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๕๑ เนื่องจากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง พระวิหารหลวงและอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมไทยสมัยกรุงศรีอยุธยามีรูปลักษณะสวยงามทรงคุณค่าทางศิลปกรรมไทย ตัวพระวิหารได้ถูกบูรณะปฏิสังขรณ์ ๓ ครั้งคือ
๑. ในรัชสมัยพระเจ้าอยู๋หัวบรมโกศ (พ.ศ. ๒๒๘๓)
๒. ในรัชสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู๋หัว (พ.ศ. ๒๔๔๒)
๓. ในรัชสมัยพระเจ้าอยู๋หัวองค์ปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๒๗)
พระประธานซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระวิหารหลวง ชาวบ้านได้ถวายพระนามว่า "หลวงพ่อโต" บ้าง "หลวงพ่อประธานเฒ่า" บ้าง "หลวงพ่อหลักเมือง" บ้าง เป็นพระพุทธรูปั้นขนาดหน้าตักกว้าง ๒ วา ๑๐ นิ้ว ลงรักปิดทองคำเปลวอย่างดี เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองทุ่งยั้ง อนึ่งวัดบรมธาตุเคยใช้เป็นที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการทหารและพลเรือนในสมัยกรุงศรีอยุธยา และเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระปิยะมหาราช) ได้เคยเสด็จมานมัสการ พระบรมธาตุเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๔๔๔ ปัจจุบันวัดพระบรมธาตุมีเนื้อที่ตั้งวัดจำนวน ๔๐ ไร่ ๒ งาน ๑๕ ตารางวา มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน ๖ ไร่ ๒ งาน ๖ คารางวา ตามโฉนดเลขที่ ๗๐๒๕ และ ๗๐๕๒ มีเสนาสนะถาวรวัตถุครบบริบูรณ์ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันชื่อ "พระอธิการวรกูล ธมทินโน" (ม่วงทอง)
พร้อมแล้วก็เข้ากันไปด้วยกันเลย...


หันกลับไปถ่ายภาพซุ้มประตูโขงไว้อีก ๑ บาน...


หอระฆังอยู่ทางด้านซ้ายมือ...




พระวิหารหลวงได้เวลาปิดแล้ว...


พระประธานปางมารวิชัย ด้านหน้ามีเสากลมหัวเสาเป็นบัวกลุ่มรับน้ำหนัก เพดานเป็นลายเขียนสี และที่ผนังด้านในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนเรื่องเงาะป่า...







"ขอแรงช่วยยกตู้หน่อยจ้า" หญิงผู้ดูแลขอให้ผมช่วยยกตู้บริจาคเข้าเก็บตั้งไว้ที่หน้าพระประธาน ถามว่า "มาจากไหนคะเนี่ย?" ผมตอบว่า "ลำปางครับ"  

ออกจากพระวิหารหลวง ผมเดินอ้อมไปถ่ายภาพด้านข้าง เห็นพระเจดีย์อยู่ด้านหลัง...



ด้านหลังพระวิหารหลวง...


ผมถ่ายภาพพระอุโบสถมาให้เพื่อน ๆ ได้ดูด้วย  (กรุณาอ่านรายละเอียดบนแผ่นจารึกข้างบน)...



จากนั้นก็เดินอ้อมมาอีกด้านนึง อยากให้เพื่อน ๆ ได้เห็นโดยรอบพระวิหารหลวง...


ก่อนที่จะบันทึกภาพผู้พิทักษ์เก็บไว้...


ก้าวต่อไปคือตามหารอยล้อเจ้าอามุย...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น