วันอังคารที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559

งามแค่เปลือก


เพื่อน ๆ ยังจำเรื่อง "วัดศรีหลวงแจ้ซ้อน เมืองปาน" ได้หรือเปล่าครับ?  ดูเหมือนผมจะเคยเปรียบเทียบให้เห็นภาพเจดีย์องค์เก่ากับภาพเจดีย์ใหม่หลังได้รับการบูรณะปฏิสังขร ตามข่าวใน manager online ที่ว่า....
สำนักศิลปากรที่ ๗ จังหวัดน่าน กรมศิลปากร ร่วมกันบูรณะวัดศรีหลวงแจ้ซ้อน ม. ๕ บ้านหลวงแจ้ซ้อน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง ทั้งวิหารหลวง และพระธาตุที่เก่าแก่ของวัดศรีหลวงแจ้ซ้อนกลายเป็นวัดใหม่ ไม่หลงเหลือศิลปวัฒนธรรมของล้านนาที่เก่าแก่อายุกว่า ๔๐๐ ปีอีกเลย โดยพระธาตุที่เคยแสดงถึงความเก่าแก่กลับกลายเป็นเหมือนพระธาตุใหม่ ทาองค์พระธาตุด้วยสีทองสดใส และฐานสีขาวใหม่ ส่วนวิหารหลวง ซึ่งเคยมีลักษณะที่บอกให้เห็นถึงความสวยงาม และความเก่าแก่ด้านวัฒนธรรมล้านนา ก็ถูกทาสีใหม่จนไม่เหลือความเก่าแก่ให้เห็น โดยเฉพาะลายไม้หน้าวิหารหลวงที่ถูกทาด้วยสีทอง และประดับด้วยกระจกจีนสีเขียว นับเป็นภาพที่ดูแปลกตาไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
ภาพจาก manager online

ตอนไปเที่ยวเขมร ผมเห็นโบสถ์วิหารเก่า ก็ยังสงสัยอยู่ว่าเค้าจะอนุรักษ์ไว้ได้ดีแค่ไหน?...





โชคดีเหลือเกินที่ทางกัมพูชาได้ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเยอรมันมาช่วยในการบูรณะปฏิสังขรโบราณสถานของตน...


ผมมีวารสาร "ศิลปวัฒนธรรม" ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๑๒ : ตุลาคม ๒๕๒๗ อยู่บนหิ้งหนังสือ...


ในหน้า ๒๒ - ๒๕ ผมได้อ่านเรื่อง "แสงสว่างจากไฟฟ้ามิได้ทำให้ดวงตามองเห็นธรรม" เขียนโดย "สุจิตต์ วงษ์เทศ" ความว่า...
นอกจากวัดพระธาตุหริภุญไชยอันเป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์พระบรมธาตุซึ่งอยู่ใจกลางเมืองแล้ว ห่างออกไปนอกเมืองยังมีพระเจดีย์สี่เหลี่ยมและพระเจดีย์แปดเหลี่ยมซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดจามเทวีหรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า "วัดกู่กุฏิ"......
ประชาชนทั่วไปก็รู้ว่าเป็นพระเจดีย์สำคัญ ดังนั้นพระเจดีย์องค์นี้จึงได้รับความเคารพนับถือว่าเป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่มากที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองลำพูน เป็นความภาคภูมิใจของชาวลำพูนและชาวไทยทั่วไป
ทางราชการก็เห็นความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมศิลปากรเฝ้าทนุถนอมพระเจดีย์องค์นี้เป็นพิเศษทีเดียว เพราะรู้ว่าเป็นหลักฐานสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ไทย
ทางวัดจามเทวีวงศ์หรือวัดกู่กุฏิเองก็รู้ว่าพระเจดีย์องค์นี้สำคัญมาก จึงพยายามดูแลอย่างดียิ่ง เพราะพระเจดีย์องค์นี้มีส่วนสำคัญในการดึงดูดประชาชนทั่วประเทศให้เข้าวัด นอกจากนั้นยังดึงดูดให้ชาวต่างประเทศเกือบจะทั่วทุกมุมโลกมาเข้าวัดนี้ด้วย
แต่วิธีการให้ความสำคัญต่อพระเจดีย์ที่สำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทยอย่างนี้และซึ่งทางวัดกระทำไว้นั้น อาจจะต้องได้รับการพิจารณาไตร่ตรองเสียใหม่ด้วยความเข้าใจอันดีที่จะพึงมีต่อการสงวนรักษาโบราณสถานของชาติ
ข้อแรก ทางวัด (ซึ่งประกอบด้วยพระภิกษุสามเณรตลอดถึงประสกสีกาข้าพระเลกทั้งหลายที่มีส่วนในการดูแลปูชนียสถานในวัด) จะต้องตระหนักด้วยว่าประชาชนคนไทยทุกคนซึ่งมีจำนวนมากกว่า ๕๐ ล้านมีสิทธิ์และมีส่วนเป็นเจ้าของที่จะแสดงความรักและหวงแหนสมบัติอันล้ำค่านี้ด้วยกันทั้งสิ้น ราษฎรไทยทุกคนต่างตระหนักดีว่าชาวลำพูนเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการสงวนรักษาโบราณสถานของชาติเอาไว้ และทางวัดได้รับหน้าที่ในการทนุบำรุงมาเป็นอย่างดีตราบถึงทุกวันนี้ ทั้งนี้โดยให้ความร่วมมือกับกรมศิลปากรซึ่งเป็นหน่วยงานราชการที่ทำหน้าที่อีกชั้นหนึ่ง
ข้อหลัง แต่การสงวนรักษาสมบัติวัฒนธรรมของชาติอย่างพระเจดีย์สี่เหลี่ยมของวัดจามเทวีนี้ มีหลักการอันเป็นสากลที่จะไม่พยายามเปลี่ยนแปลงหรือแตะต้องทุก ๆ ส่วนของโบราณสถานอันเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ ยกเว้นแต่ที่จำเป็นเท่านั้น แต่การจะแตะต้องหรือดัดแปลงที่จำเป็นก็จะต้องเป็นไปเพื่อค้ำจุนให้โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมมั่นคงถาวรสืบไปนานเท่านานโดยได้รับความเห็นชอบเป็นมติเอกฉันท์จากนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับความเชื่อถืออย่างสูงจากสังคมทั่วไป ทั้งจะต้องแสดงออกด้วยเหตุผลทางวิชาการชั้นสูงให้เป็นที่รู้อย่างกว้างขวางด้วย
ภาพที่นำมาตีพิมพ์เปรียบเทียบนี้จะเห็นชัดเจนว่ามีการนำโคมไฟสมัยใหม่ไปประดับตามฐานสี่เหลี่ยมขององค์เจดีย์ การติดโคมไฟเหล่านี้ต้องเจาะไชศิลาแลงอันเป็นส่วนสำคัญขององค์เจดีย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการทำลายหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งลงไป
โดยหลักการที่ถูกต้องแล้วเขาจะไม่แตะต้องส่วนใดส่วนหนึ่งของโบราณศถานอันมีคุณค่าเช่นนี้ดังกล่าวมาแล้ว
หากต้องการที่จะเชิดชูองค์พระเจดีย์ให้โดดเด่น คงจะไม่จำเป็นถึงขนาดต้องไปเจาะไชองค์พระเจดีย์ เพราะวิธีการโถมแสงไฟแรงสูงจากภายนอกเข้าไปจะทำได้ดีกว่าและสวยงามกว่าในยามค่ำคืน
การฝังหมุดเพื่อตั้งโคมไฟลงบนฐานพระเจดีย์สี่เหลี่ยมไว้ทุกช่องชั้นเช่นนี้ อาจจะเกิดขึ้นเพราะความไม่รู้เป็นเบื้องต้น และเพราะความปรารถนาดีที่จะเชิดชูองค์พระเจดีย์เป็นเบื้องปลาย แต่ผลจากเจตนาดีอย่างนี้ก่อให้เกิดความสะเทือนใจต่อผู้พบเห็นที่หวงแหนสมบัติวัฒนธรรมของชาติเช่นนี้เป็นอย่างยิ่ง
พุทธศาสนิกชนที่ดีย่อมไม่ยึดติดกับความงามอันเป็นเปลือกของความงามที่สุด เพราะความงามอันเป็นที่สุดนั้นอยู่ที่ใจอันมีธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ปราศจากแสงจากโคมไฟฟ้ามาประดับ แต่ใจของสาธุชนย่อมสว่าง และพระเจดีย์สี่เหลี่ยมองค์นี้ย่อมสดใสอยู่นิรันดร ท่ามกลางความมืดมิดของดวงเดือนและดวงตะวันโดยไม่จำเป็นต้องมีโคมไฟ
วัดจามเทวีบัดนี้มืดนักหรือ? จึงต้องขุดเจาะเพื่อฝังแสงไฟฟ้าลงในองค์พระเจดีย์สี่เหลี่ยมที่มีอายุยืนยาวมานับพัน ๆ ปีโดยไม่เคยจะต้องอาศัยไฟมาประดับ
หากจะให้พระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าส่องสว่างไสวไปทั่วทุกหนทุกแห่ง ก็ขอให้ดับไฟฟ้าแห่งโลกียะเสียเถิด และหากปรารถนาจะให้เทียนธรรมกระจ่างไปทั้งพื้นปฐพี ก็ขอให้ปลดโคมไฟฟ้าออกจากพระเจดีย์ธรรมนี้เสียเถิด
พระเจดีย์สี่เหลี่ยมมิได้มืด วัดจามเทวีก็มิได้มืด พระธรรมก็ไม่เคยมืด
ดวงตาและดวงใจของมนุษย์ต่างหากที่กำลังจะมืด ยิ่งติดโคมไฟฟ้าอย่างนี้มากเท่าไร ใจก็จะยิ่งมืดมนเท่านั้น
สภาพแวดล้อมปัจจุบันของพระเจดีย์สี่เหลี่ยม ดวงขาว ๆ ตรงมุมของพระเจดีย์คือหลอดไฟฟ้า

กว่าจะฝังก้านของหลอดไฟฟ้าลงไปได้ จะต้องเจาะก้อนศิลาแลงไปทุก ๆ ช่อชั้น ถามว่าทุกวันนี้แม้โลกจะมืด แต่พระธรรมมืดลงด้วยหรือไร? อย่าลืมว่าพระธรรมนั้นสว่างที่สุดแมัในที่ที่มืดที่สุด" กว่าจะฝังก้านของหลอดไฟฟ้าลงไปได้ จะต้องเจาะก้อนศิลาแลงไปทุก ๆ ช่อชั้น ถามว่าทุกวันนี้แม้โลกจะมืด แต่พระธรรมมืดลงด้วยหรือไร? อย่าลืมว่าพระธรรมนั้นสว่างที่สุดแมัในที่ที่มืดที่สุด


เมื่อปีกลายผมไปดูมา พบว่าเค้าเอาหลอดไฟออกไปแล้ว...ค่อยยังชั่วหน่อย!


ทีนี้ลองหันไปดู "พระบรมธาตุทุ่งยั้ง" ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ดูบ้าง  การเปลี่ยนแปลงเริ่มปรากฏ ผมเห็นซุ้มประตูด้านนอกเริ่มลงสีใหม่แล้ว อีกไม่นานอาจตามมาถึงประตูโขง...


วิหารและพระธาตุเจดีย์ก็เริ่มลงสีขาวแล้ว...


ผมมีภาพเจดีย์ที่บันทึกไว้ตอนปั่นจักรยานไปดูเมื่อ ๓ ทศวรรษที่แล้ว...


หลังจากนั้นก็ปั่นเจ้า Coyote ไปอีก...


เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา... ผมได้เห็นภาพนี้


อีกไม่นานคงดูใหม่เอี่ยม!!  เช่นเดียวกับหน้าบันพระวิหารที่ช่างกำลังลงมือตกแต่ง...


ชอบข้อความของ "สุจิตต์ วงษ์เทศ" ที่ว่า "พุทธศาสนิกชนที่ดีย่อมไม่ยึดติดกับความงามอันเป็นเปลือกของความงามที่สุด" สิ่งที่กำลังทำกันอยู่ล้วนเป็นความงามแค่เปลือกจริง ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น