วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2559

FB Trip ไปลำพูน - พระนอนวัดอุโมงค์

วัดอุโมงค์ (จังหวัดลำพูน) สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๒๘๕  จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมจึงมีโบราณสถานและสิ่งของที่เป็นหลักฐานให้ได้เห็น ตามที่ผมได้นำภาพมาโพสต์ให้เพื่อน ๆ ได้ดูแล้วเมื่อวันก่อน ขณะเดียวกันบนพื้นที่กว้างขวางทางวัดยังได้สร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานไว้อีก อย่างเช่นพระยืนองค์นี้...  


เว็บ horoscope.sanook.com ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า...
พระพุทธรูปปางเปิดโลก พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืนอยู่บนดอกบัว พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงข้างพระวรกาย แบฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองหันออกไปข้างหน้า เป็นกิริยาทรงเปิดโลก  ความเป็นมาของปางเปิดโลกคือ เมื่อครบกำหนด ๓ เดือนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จสวรรค์ชั้นดาวดึงส์พระพุทธองค์ทรงทำโลกวิวรณปาฏิหาริย์ คือ ทรงเปิดโลกทั้ง ๓ อันได้แก่ เทวโลก ยมโลก และมนุษยโลก ให้มองเห็นถึงกันหมดด้วยพุทธานุภาพ เหล่าเทวดาในสวรรค์มองเห็นมนุษย์และสัตว์นรก มนุษย์มองเห็นเทวดาและสัตว์นรก สัตว์นรกมองเห็นมนุษย์และเทวดา แล้วจึงเสด็จลีลาลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์สู่สังกัสสนครในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑

จากการเดินสำรวจ ผมได้เห็นเจดีย์ทรงแปลก ๆ ก็ที่วัดนี้แหละ...




วิหารหลังใหญ่สวยงามตามรูปแบบสถาปัตยกรรมสร้างวัดในภาคเหนือ...




มีตัว "มอม" พิทักษ์บันได ๓ ขั้น...


คุณ Sitthi  ได้เขียนไว้ในบล็อกว่า...
มอม คือรูปประติมากรรมของสัตว์ประเภทหนึ่ง ถือว่าเป็นรูปธรรมที่สะท้อนออกมาจากนามธรรมคือความเชื่อ ความศรัทธา... ว่ากันว่าด้วยความที่มอมเป็นสัตว์ที่มีอำนาจมาก ทำให้มอมมีความหยิ่งลำพอง ด้วยคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ไม่ดีเหล่านี้จึงฉุดให้มอมไม่สามารถบรรลุธรรมก้าวสู่ความหลุดพ้น  คนล้านนาจึงได้นำเอารูปประติมากรรมมอม มาตั้งไว้บริเวณทางขึ้นหรือทางเข้าโบสถ์ วิหาร ศาลา ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อเป็นอนุสติให้คนเรามีจิตสำนึกลดความมีอคติและมุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อให้ตนเองหลุดพ้น ตามหลักของพระพุทธศาสนา...
มาดูงานจิตรกรรมฝาผนังด้วยกันนะครับ..





ผมขี่จักรยานอ้อมมาข้างวิหาร ผ่านรูปปั้น ๑๒ นักษัตร ตรงไปยัง "พระนอนวัดอุโมงค์"



อยากทราบว่าเป็นพระนอนหรือพระไสยาสน์ปางอะไร?  ผมเข้าไปค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต พบเอกสารทางวิชาการเรื่อง "พระนอนในศิลปะทวาราวดี" โดย ลักษมณ์ บุญเรือง บรรยายว่า...
ปางทรงพระสุบิน ปางทรงพระสุบินนี้ในพุทธประวัติกล่าวว่าก่อนวันที่จะตรัสรูนั้น พระพุทธองค์ทรงบรรทมและได้ศุภนิมิตร (ทรงฝันไป) ว่ามีผู้ชายมาดีดพิณสามสาย ให้ฟัง สายที่หย่อนเกินไปก็เสียงไม่ดัง สายที่ตึงไปก็ขาด สายที่อยู่ตรงกลางก็ดีดดังดี นี่คือที่มาของปางทรงพระสุบิน จะเป็นตอนที่เกี่ยวกับการตรัสรู้ หลังจากที่ทรงพระสุบินแล้ว ก็ได้ค้นพบหนทางของการพ้นทุกข์ นั่นคือทางสายกลาง หรือ มัชฌิมาปฏิปทา และพระมหามงคล ๕ ประการ อันเป็นการแสดงพระพุทธองค์ในช่วงที่จะตรัสรู้ และการเผยแผ่พระธรรม  ลักษณะพระพุทธรูปปางทรงสุบินนี้ จะประทับนอนตะแคงขวา แบบสีหไสยา หรือ สีหไสยาสน์ พระเศียรจะหนุนอยู่ที่พระเขนย พระกรทอดยาวแนบพระวรกาย และพระหัตถ์จะรองรับพระเศียร ความแตกต่างจะอยู่ที่มือ
ขอขอบคุณที่มาของข้อมูล และภาพประกอบดังนี้...


ผมว่าน่าจะใกล้เคียงที่สุด...


ลืมพระเนตร พระพักตร์อิ่มเอิบ แย้มพระสรวลนิด ๆ (อมยิ้ม) ไม่รู้ว่าฝีมือช่างหละปูนหรือเปล่า?




พระเจดีย์สีทองอยู่หลังวิหาร...






ผมใช้เวลาที่วัดอุโมงค์นานกว่าเพื่อนเพราะมีอะไรให้ดูเยอะ!  เพื่อน ๆ มีโอกาสอย่าลืมแวะไปเยือนนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น