วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

วัดป่าชัยมงคล ตำบลไหล่หิน


"วัดป่าชัยมงคล" หรือ "วัดชัยมงคลธรรมวราราม" (3) อยู่ในตำบลไหล่หิน อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ห่างจากวัดพระธาตุลำปางหลวง (1) ประมาณ ๙ กิโลเมตร และห่างจากวัดไหล่หินหลวง (2) ประมาณ ๕-๖๐๐ เมตร เดิมเป็นที่นาและสันดอนบางส่วน มีน้ำแม่ยาวไหลผ่าน...


วัดนี้มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจดังนี้...
ปี ๒๔๗๙ - ท่านพระครูธรรมาภิวงค์ (อุปสมบท ณ วัดไหล่หินหลวง) หลังจากไปศึกษาที่วัดบรมนิวาสวิหาร กรุงเทพมหานคร ได้กลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดเชตวันในเมืองลำปาง เนื่องจากวัดไหล่หินหลวงเป็นวัดฝ่ายมหานิกายไม่สะดวกในการกระทำสังฆกรรม ผู้ใหญ่หน้อยป้อ แม่จุ่ม ครุขยัน ได้บริจาคที่ดินดังกล่าวเพื่อสร้างวัดถวาย และให้เป็นที่พำนักของพระภิกษุสงฆ์สามเณรฝ่ายธรรมยุติ
ปี ๒๔๘๐ - ผู้ใหญ่หน้อยป้อ แม่จุ่ม ครุขยัน เป็นประธานพร้อมด้วยคณะสรัทธาประมาณ ๖๐ หลังคาเรือน พร้อมใจกันอาราธนานิมนต์พระคุณเจ้าท่านพระครูธรรมาภิวงค์มาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ เริ่มก่อสร้างวัดไหล่หินใหม่โดยสร้างเป็นสำนักสงฆ์ก่อน
ปี ๒๔๘๑ - สร้างกุฏิสงฆ์ขึ้น ๒ หลัง และศาลาการเปรียญเพื่อใช้เป็นที่บำเพ็ญบุญตามเทศกาล โดยสร้างเป็นแบบชั่วคราวด้วยไม้ไผ่ มุงหญ้าคาพอให้พระภิกษุสามเณรได้จำพรรษา พอออกพรรษาได้เกิดไฟไหม้โดยไม่ทราบสาเหตุ คณะศรัทธาต้องซ่อมแซมและสร้างใหม่ถวายอีกครั้ง ต่อมาได้สร้างกุฏิถาวรขึ้นอีก ๒ หลัง โดยช่วยกันไปหาไม้เท่าที่หาได้ในป่าใกล้หมู่บ้านนำมาสร้าง เมื่อมีวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างพร้อม กำลังจะลงมือสร้างก็มีผู้ไม่หวังดีไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้ให้มายึดไม้ทั้งหมดไป เกิดเป็นคดีความ ทางคณะศรัทธาโดยมีผู้ใหญ่หน้อยป้อ ครุขยัน เป็นประธานได้มอบหมายให้พ่อน้อยสุข ภักตรา เป็นผู้รับผิดชอบ ต้องเรี่ยไรเงินไปเสียค่าปรับ หลังจากชำระคดีความเรียบร้อยแล้วจึงได้นำวัสดุอุปกรณ์ที่ถูกยึดไว้นำมาสร้างกุฏิจนแล้วเสร็จ การก่อสร้างแต่ละครั้งนับเป็นความศรัทธาและความเพียรอันสูงยิ่ง เพราะเป็นยุคข้าวยากหมากแพง ชาวบ้านผู้หาเช้ากินค่ำต้องสละเวลา เงินทอง และแรงงานของตนเอง (พ่อหลวงสม เทพหินลัพ ยังถูกไม้ทับจนขาหักตอนไปหาไม้มาสร้างกุฏิ)
ปี ๒๔๘๓ - มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันอีกจนได้ เมื่อเดือนกันยายนเกิดไฟไหม้เป็นครั้งที่สองโดยผู้ไม่หวังดี เผาพลาญกุฏิ ๒ พร้อมกับพระพุทธรูปทองหน้าตักกว้าง ๑ ศอก สูง ๑ ศอกครึ่ง ธรรมาสน์หลังใหญ่ประดับกระจก ๑ หลัง และของมีค่าอีกจำนวนมาก นับเป็นความเสียหายอันใหญ่หลวงจากผู้ไม่หวังดีต่อพระพุทธศาสนา
ปี ๒๔๘๓ - คณะศรัทธาไม่ละความพยายามในการก่อสร้างกุฏิสงฆ์ ได้รวบรวมเงินไปซื้อบ้านของชาวบ้านทุ่งขาม ๑ หลังมาสร้างกุฏิสงฆ์ได้ ๒ หลัง พร้อมกันนั้นก็ได้ซื้อบ้านของชาวบ้านไหล่หินอีก ๑ หลัง นำมาสร้างศาลาการเปรียญ เพื่อใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญบุญในเทศกาลสำคัญ
ปี ๒๔๘๕ - กรมการศาสนาอนุญาตให้สร้างเป็นวัดได้โดยสมบูรณ์แบบโดยใช้ชื่อวัดว่า "วัดไหล่หินใหม่" ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดชัยมงคลธรรมวราราม" เริ่มสร้างกุฏิสองชั้นก่อด้วยอิฐถือปูนเสริมเหล็ก ใช้เวลาหลายปีกว่าจะแล้วเสร็จเมื่อปี ๒๔๙๕  พอถึงเดือนพฤษภาคมตรงกับเดือน ๘ เหนือได้เกิดพายุพัดจนกุฏิพังเสียหายทั้งหลัง ท่านพระครูธรรมาภิวงค์ได้ให้คณะศรัทธาทำการรื้อถอนออกให้หมด
ปี ๒๔๙๖ - เริ่มสร้างพระวิหารโดยทำได้แค่มุงหลังคา ยกช่อฟ้า และปานลมขึ้น ส่วนพระประธานในพระวิหารหน้าตักกว้าง ๓ ศอก สูง ๔ ศอก ปั้นโดยพ่อสล่าหนานใจ พะยอมยงค์ ผู้มาบูรณะพระวิหารวัดไหล่หินหลวง ร่วมกับสล่าบ้านไหล่หิน
ปี ๒๕๐๑ - เปลี่ยนหลังคาพระวิหารเป็นกระเบื้องแผ่นเล็ก
ปี ๒๕๐๒ - พระครูธรรมาภิวงค์มรณภาพ ทำให้คณะศรัทธาขาดประธานในการก่อสร้างและขาดที่พึ่ง เป็นที่เศร้าโศกและอาลัยอาวรณ์ยิ่งนัก การก่อสร้างต้องหยุดชะงักลงระยะหนึ่ง จนกระทั่งท่านพระครูพิพัฒน์ ศิลาจารย์ (พระราชเมธาจารย์) ได้มาสานต่อการก่อสร้างทั้งหมดจนพระวิหารแล้วเสร็จในปี ๒๕๐๔
ปี ๒๕๐๕ - สร้างสะพานไม้ข้ามลำน้ำแม่ยาวเพื่อข้ามไปทำบุญได้สะดวก และชาวบ้านได้ใช้ไปทำไร่ทำสวน
ปี ๒๕๑๗ - สร้างกำแพงชั้นใน
ปี ๒๕๒๐ - สร้างศาลาการเปรียญ
ปี ๒๕๒๕ - ปลูกต้นไม้สาละอินเดียหรือสาละลังกา
ปี ๒๕๒๘ - สร้างแทงค์น้ำสูง ๑๒ เมตร กว้าง ๓ เมตร
ปี ๒๕๒๙ - สร้างกุฏิเจ้าอาวาสแบบทรงไทย
ปี ๒๕๓๐ - สร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง ๓.๕ เมตร ยาว ๓๐ เมตรข้ามลำน้ำแม่ยาว
ปี ๒๕๓๓ - ซื้อที่นาด้านทิศใต้ ๑ ไร่เศษถวายเป็นเขตธรณีสงฆ์ปี ๒๕๓๓ และปลูกต้นโพธิ์
ปี ๒๕๓๔ - สร้างห้องน้ำ ๑๐ ห้อง
ปี ๒๕๓๕ - บูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถครั้งใหญ่ ให้ช่างวาดรูปพระเวสสันดรชาดก และหล่อรูปเหมือนท่านพระครูธรรมาภิวงค์ พร้อมศาลาเพื่อประดิษฐาน
ปี ๒๕๓๗ - สร้างหอฉัน ๒ ชั้น และปลูกต้นสัก
ปี ๒๕๓๙ - สร้างหอระฆัง
ปี ๒๕๔๓ - สร้างกำแพงด้านใต้และด้านตะวันออกด้วยศิลาแลง
ปี ๒๕๔๕ - สร้างซุ้มประตูโขง
ปี ๒๕๔๗ - ซ่อมแซมศาลาการเปรียญครั้งใหญ่
ปี ๒๕๕๐ - สร้างพระเจดีย์ วางศิลาฤกษ์เมื่อวันจันทร์ที่ ๒ เมษายน ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ เหนือ เริ่มก่อสร้างเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๔ พฤษภาคม แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ เหนือ ปีกุน
อ้างอิง - ประวัติวัดชัยมงคลวราราม หรือวัดไหล่หินลุ่ม เรียบเรียงโดย สามเณรดวงจันทร์ ครุขยัน

จากถนนที่จะไปยังวัดไหล่หินเข้าไปอีก ๓๐๐ เมตร ข้ามสะพานแล้วไปจอดที่หน้าวัด (2) ได้เลย...


สะพานคอนกรีต (1) ข้ามลำน้ำแม่ยาว...



ซุ้มประตูโขงสร้างเมื่อปี ๒๕๔๕...



เดินผ่านซุ้มประตูโขง เลี้ยวขวาไปยังพระวิหาร (3)



กำลังก่อสร้างบันไดนาค ผมเห็นกองอิฐกองทรายที่ข้างวิหาร...


ซุ้มประตูวิหารเรียบง่าย ดูดีในสายตาของผม...



ผมค่อย ๆ ผลักประตู แอบเข้าไปนำภาพภายในวิหารมาให้เพื่อน ๆ ดู...




บานหน้าต่างก็เรียบง่ายเช่นกัน...




พระเจดีย์ (4) อยู่หลังวิหารเป็นรูปแบบที่เห็นโดยทั่วไป...





รายรอบด้วยศาลาไม้ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์เล็ก...


ข้าง ๆ พระวิหารมีศาลาประดิษฐานรูปหล่อท่านพระครูธรรมาภิวงศ์ สร้างเมื่อปี ๒๕๓๕...


หอระฆัง (5) ตั้งอยู่ไม่ไกล...


ซูมให้เห็นชัด ๆ อีกหน่อย...


ถ้าเพื่อน ๆ ได้ไปวัดไหล่หินหลวง อย่าลืมแวะ "วัดป่าชัยมงคล" หรือ "วัดไหล่หินลุ่ม" ด้วยนะ!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น