วันเสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

วัดแสนหลวง

"วัดแสนหลวง" เป็นวัดเก่าวัดแก่ ตั้งอยู่ในตำบลยางเนิ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ บนถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน ที่มีต้นยางเรียงรายอยู่สองข้างทาง....


จากเชียงใหม่ ถ้าเพื่อน ๆ ขับรถผ่านที่ทำการอำเภอสารภีไปอีกเล็กน้อย ก็จะเห็นวัดแสนหลวงอยู่ทางด้านซ้ายมือ...


วัดแสนหลวงสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๘ (ในสมัยพระเจ้ากาวิละ)  ถึงวันนี้ก็มีอายุกว่า ๒๐๐ ปี เป็นวัดมหานิกาย มีเนื้อที่ ๕ ไร่ ๓ งาน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๑  เว็บของเทศบาลตำบลยางเนิ้ง ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของวัดแสนหลวงไว้ค่อนข้างละเอียดดังนี้...
ในรัชสมัยของพระเจ้าเมกุฏิวิสุทธิวงศ์ แห่งราชวงศ์เม็งราย องค์ที่ ๒๐ ได้เสียเมืองเชียงใหม่ให้แก่พม่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๐๒ และพระองค์ก็ได้ถูกจับตัวไปยังกรุงอังวะ นับจากนั้นล้านนาไทยก็อยู่ใต้อำนาจของพม่านานถึง ๒๑๖ ปี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๑๗ พญาจ่าบ้าน (บุญมา) ซึ่งเป็นน้าของพระเจ้ากาวิละ ได้ร่วมกับพระเจ้ากาวิละนำทัพของพระเจ้าตากสินมหาราชเข้าตีเมืองเชียงใหม่ขับไล่พม่าออกไป แต่ก็หาความผาสุกไม่ได้เนื่องจากยังถูกพม่ายกทัพมารบกวนอยู่เสมอ ซ้ำร้ายยังขาดแคลนอาหารด้วย จึงอพยพผู้คนถอยร่นจากเมืองเชียงใหม่มาตั้งรับข้าศึกอยู่ที่ “เวียงหวาก” ซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอสารภี จากนั้นจึงปรึกษาหารือกันและเห็นชอบว่าควรจะสร้างวัดขึ้นสักวัดหนึ่งเพื่อไว้บำเพ็ญกุศลของข้าราชการในราชสำนักและไพร่ฟ้าประชากร โดยมอบหมายให้พญาแสนหลวงเป็นสล่า (นายช่าง) ได้มีการออกแบบก่อสร้างวัดในปี พ.ศ. ๒๓๓๘ ตรงกับเดือน ๖ เหนือ ออก ๑๕ ค่ำ ยามใกล้รุ่ง ซึ่งอาราธนามหาเถรเจ้าจ่อคำต๊ะโรเป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ พญาแสนหลวงเป็นหัวหน้าฝ่ายฆารวาส การก่อสร้างดำเนินงานไปเกือบจะเสร็จ ทางสล่าอยากได้เตียงไว้ในกุฏิให้พระสงฆ์ไว้นอน และอยากจะได้เตียงถวายเจ้าเหนือหัวด้วย จึงได้พากันไปตัดต้นยางต้นหนึ่งซึ่งในตำนานกล่าวว่าเป็นต้นไม้ใหญ่ขนาดสามคนโอบ มีลำต้นเอนไปทางทิศตะวันออก พอคณะช่างไปถึงต้นยางใหญ่ สล่าผู้เป็นหัวหน้าก็ยกขวานฟันลงที่ต้นยางนั้น ขณะนั้นเองก็เกิดอาเพศขึ้น ต้นยางใหญ่ต้นนั้นเกิดอาการสั่นสะเทือน และมีเสียงครางฮือๆ เหมือนได้รับความเจ็บปวดอย่างสาหัส พวกสล่าต่างพากันทิ้งเครื่องมือและหนีไปคนละทิศละทาง พญาแสนหลวงจึงสั่งให้ลูกน้องนำข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน เหล้าไห ไก่คู่ หมากเมี่ยง พูล ยา มาตั้งศาลเพียงตาทำพิธีบวงสรวง เสร็จแล้วจึงตัดต้นยางนั้นต่อ การก่อสร้างดำเนินงานจนเสร็จ และไม่นานนักพญาแสนหลวงก็ถึงแก่อนิจกรรมลงและอีกเพียง ๓ วัน มหาเถรเจ้าจ่อคำต๊ะโรก็ถึงแก่มรณกรรม พระเจ้ากาวิละจึงได้ให้สล่าทำหอ (ศาล) ไว้ ๒ หอ คือหอคำซึ่งสร้างไว้ที่หลังพระวิหาร (ต่อมาหอคำหลังนี้ได้หายสาบสูญไป) ส่วนอีกหอหนึ่งคือ หอพญาแสนหลวงซึ่งสร้างไว้ที่มุมกำแพงวัดด้านเหนือ คือริมศาลาบาตรใต้ต้นโพธิ์ พระเจ้ากาวิละและพญาจ่าบ้านจึงได้กรุณาโปรดให้ตั้งชื่อวัดนี้ว่า “วัดแสนหลวง” เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานให้แก่พญาแสนหลวง ผู้ออกแบบและดำเนินงานก่อสร้างวัดนี้ ส่วนศาลพญาแสนหลวงนั้นต่อมาได้นามว่า “ศาลเจ้าพ่อแสนหลวง” เพื่อเป็นที่สักการบูชาของประชาชน
แต่เดิมวัดนี้ไม่มีเจดีย์ ปัจจุบันนี้ได้สร้างพระเจดีย์เสร็จแล้ว....งดงามมาก!!























เพื่อน ๆ ผ่านไปอำเภอสารภี อย่าลืมแวะวัดแสนหลวงนะครับ!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น