วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

เจดีย์ประธานวัดทองบ่อ บางปะอิน

จากตลาดโก้งโค้ง บ้านแสงโสม (M) อีกแค่เพียง ๑ กิโลเมตรก็ถึงวัดทองบ่อ (W)... 


ผมเลี้ยวจักรยานผ่านซุ้มประตู (1) เข้าไปอย่างไม่ลังเล...

ภาพจาก google street view - thanks!

หยุดถ่ายภาพอาคาร (2) ซึ่งเดาว่าเป็นศาลาการเปรียญไว้ก่อน ๑ บาน...


ตั้งอยู่ด้านหน้า (3) คิดว่าน่าจะเป็นฌาปนกิจสถาน ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริงก็จะเป็นที่เผาศพที่สวยที่สุดเท่าที่ผมได้เห็นมา...



ส่วนอาคาร ๒ ชั้น (5) ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกล คืออะไรผมไม่รู้...


แต่สิ่งที่ทำให้ผมตื่นตาตื่นใจมากที่สุดก็คือ เจดีย์โบราณ ซึ่งกล่าวว่าสร้างขึ้นในราวสมัยรัชกาลที่ ๓


มีป้ายบรรยายไว้ด้วยครับ...


อ่านหน่อยนะ ผมพิมพ์ให้แล้วครับ...
เจดีย์ประธานวัดทองบ่อ
ชุมชนมอญบ้านเสากระโดง เดิมชื่อภาษามอญว่า "กวานปราสาท" และมีชื่อเรียกวัดว่า "เพียปราสาท" เป็นชาวมอญที่อพยพมาจากเมืองมอญเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในสมัยอยุธยา ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านเสากระโดง" และเปลื่ยนชื่อวัดว่า "วัดทองบ่อ" ส่วนภาษามอญเรียกว่า "เพียทอปลาง" เนื่องจากแต่เดิมที่ตั้งหมู่บ้านในอดีต นับตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นด่านขนอน (ด่านเก็บภาษี) มีเรือสำเภาผ่านเข้าออกเสมอ สันนิษฐานว่าเรือสำเภาลำหนึ่งเกิดอับปางลง สายน้ำพัดเอากระโดงมาติดที่หน้าชุมชน ผู้คนที่สัญจรไปมาจึงได้เรียกชุมชนว่า "ชุมชนบ้านเสากระโดง" ปัจจุบ้นเสากระโดงต้นดังกล่าวนั้น ทางวัดยังได้เก็บรักษาไว้ภายในวัด
เจดีย์ประธานวัดทองบ่อ ตั้งหันหน้าเข้าแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตก เป็น "เจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม" ก่อสร้างด้วยอิฐ ฉาบผิวด้วยปูนหมักและขัดทับด้วยปูนดำ ในสมัยอยุธยาตอนปลายโดยได้รับอิทธิพลจากศิลปะล้านนา จากฐานประทักษิณที่มีขนาดสูง บันไดขึ้นเจดีย์ทางทิศตะวันตก สร้างปิดทับช่องประตูรูปเกือกม้าซึ่งเดิมคงมีลวดลายประดับอยู่ องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานสูงรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ฐานล่างสุดเป็นทางเดินรูปเกือกม้าด้านละ ๖ ช่อง เหนือขึ้นไปเป็นทางเดินประทักษิณ มีราวระเบียงเจาะเป็นช่องล้อมรอบ โดยมีฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมสี่ฐาน ฐานชั้นที่สองเจาะเป็นซุ้มรูปเกือกม้า ฐานชั้นที่สามเป็นฐานหน้ากระดานย่อมุมไม้สิบสองก่อเป็นช่องประตูหลอกไว้ทางด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ สันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นซุ้มสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปนูนต่ำ ฐานชั้นที่สี่หน้ากระดานมีลวดบัวรัดเกล้าคาดรองรับชุดฐานสิงห์ย่อมุม ไม้ยี่สิบและฐานบัวลดหลั่นกัน ๓ ชั้น บัวปากระฆังรองรับบัวย่อมุมไม้ยี่สิบประดับลายปูนปั้นบัวคอเสื้อหลังองค์ระฆังต่อขี้นไปด้วยบัลลังก์ย่อมุมไม้ยี่สิบ มีภาชนะเครื่องเคลือบลายครามทรงสูงเป็นเสาทานรองรับบัวฝาละมีและปล้องไฉนซึ่งมีเส้นลวดคั่นลดหลั่นกัน มีบัวคั่นรับปลียอดที่รองรับเม็ดน้ำค้าง
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บัวรัดเกล้า คือบัวหงายที่ชันลาดมาก ใช้รองรับเรือนยอดของอาคาร
บัวปากระฆัง ชื่อเรียกส่วนประกอบที่ทำเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย
บัวฝาละมี เรียกส่วนพระเจดีย์ที่เป็นฐานรองรับปล้องไฉนของเจดีย์ทรงกลมหรือทรงลังกาที่มีลักษณะคล้ายฝาละมี (สิ่งที่ปิดปากหม้อดินที่เป็นหม้อข้าวหม้อแกง)

มีรูปเสากระโดงเรือสำเภาโบราณที่กล่าวถึงมาให้ดูด้วยจ้า...


เก็บภาพพระเจดีย์มาฝากเพื่อน ๆ แล้วดังนี้...









๑๖.๔๔ น. แดดอ่อนลงมากแล้ว...ต้องรีบทำเวลา!


เพื่อน ๆ ตามไปดูอุโบสถด้วยกันนะ....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น