วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2564

วัดจู้ดหลวง ต.ลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง

วัดจู้ดหลวง ตั้งอยู่บ้านจู้ด หมู่ที่ 5 ตำบลลำปางหลวง  อำเภอเกาะคา  จังหวัดลำปาง...

 
 
ตำบลลำปางหลวงแบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๑๐ หมู่บ้าน คือหมู่ ๑ บ้านลำปางหลวง, หมู่ ๒ บ้านใต้, หมู่ ๓ บ้านป่าเหียง, หมู่ ๔ บ้านนางเหลียว, หมู่ ๕ บ้านจู้ด, หมู่ ๖ บ้านม้าเหนือ, หมู่ ๗ บ้านล้อมศรีป้อ, หมู่ ๘ บ้านกองหาญ, หมู่ ๙ บ้านม้าใต้, หมู่ ๑๐ บ้านจู้ดทุ่ง (จู้ดเหนือ)  เริ่มขยายพื้นที่การสำรวจวัดวาอารามจากอำเภอห้างฉัตรมายังอำเภอเกาะคา...จากวัดไชยาทุ่งล้อม (วัดจู้ดทุ่ง) (W1) ซึ่งอยู่หมู่ ๑๐ ผมปั่นจักรยาน ๘๐๐ เมตรถึงวัดจู้ดหลวง (W2) ซึ่งอยู่ในหมู่ ๕ บ้านจู้ด
 

เห็นซุ้มประตูโขงสวยงามอลังการ...


ซุ้มที่เห็นคือประตูโขงหน้าวัด ซึ่งเอกสารงานวิจัยเรื่อง “การศึกษารูปแบบและแนวคิด ซุ้มประตูโขงและโขงพระเจ้าสกุลช่างลําปาง ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๕” ของฐาปกรณ์ เครือระยา นักวิจัยประจําศูนย์วิจัย วิทยาลัยอินเตอร์เทคลําปาง กล่าวว่า...
 
ลักษณะของซุ้มประตูโขงเป็นประติมากรรมแบบลอยตัวก่ออิฐถือปูนที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นทางเข้าออกวัด และเป็นเครื่องแบ่งเขตแดนที่สําคัญของการก้าวข้ามจากแดนโลกภูมิผ่านเข้าสู่แดนพุทธภูมิที่สร้างขึ้น ด้วยกระบวนการความคิดด้านจิตวิทยาเพื่อให้บุคคลที่ก้าวพ้นไปสู่ความสงบนิ่ง สันนิษฐานว่าในอดีตวัดที่สามารถสร้างซุ้มประตูโขงได้ต้องเป็นวัดที่มีความสําคัญหรือวัดที่มีครูบาแก่กล้าวิชา เนื่องจากผู้คนให้ความเคารพบูชาและลูกศิษย์มีความศรัทธาในครูบาอาจารย์ ซึ่งจะสร้างตามผังที่เน้นเรื่องจักรวาลคติโดยใช้ซุ้มประตูโขงเป็นประตูทางเข้าของจักรวาล ดังเช่นที่วัดพระธาตุลําปางหลวง และวัดไหล่หินหลวงแก้วช้างยืน อําเภอเกาะคา, วัดเวียงเถิน และวัดล้อมแรด อําเภอเถิน, วัดพระธาตุเสด็จ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม และวัดปงสนุกเหนือ อําเภอเมือง เป็นต้น
นอกจากในช่วงระยะเวลานี้จะมีรูปแบบโขงในสกุลช่างครูบาโนเกิดขึ้นแล้วยังพบว่ามีซุ้มประตูโขงแบบอื่น ๆ อีก ๖ หลัง ได้แก่ ซุ้มประตูโขงวัดจู้ดหลวง อําเภอเกาะคา, ซุ้มประตูโขงวัดนางแล อําเภอห้างฉัตร (๒ หลัง), ซุ้มประตูโขงวัดศรีหมวดเกล้า ซุ้มประตูโขงวัดบุญวาทย์วิหาร และซุ้มประตูโขงเข้าพระธาตุวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม อําเภอเมือง สําหรับซุ้มประตูโขงวัดจู้ดหลวงนั้นมีรูปแบบและลวดลายปูนปั้นคล้ายคลึงกับซุ้มประตูโขงวัดพระธาตุลําปางหลวง เพียงแต่มีขนาดเล็กและรายละเอียดน้อยกว่า (วัดจู้ดหลวงนี้อยู่ห่างจากวัดพระธาตุลําปางหลวงทางทิศเหนือประมาณ ๑๐ กิโลเมตร) จารึกบนซุ้มประตูโขงระบุว่า “สร้างจ.ศ. 112” (ตรงกับ พ.ศ. 2436) แสดงให้เห็นว่าคติแนวคิดการสร้างซุ้มประตูโขงไว้หน้าวิหารยังคงได้รับความนิยมและสืบทอดต่อมาจนถึงช่วงเวลานี้ อย่างไรก็ดีปัจจุบันซุ้มประตูโขงวัดจู้ดหลวงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ซึ่งมีผลทําให้ลวดลายปูนปั้นบนซุ้มประตูเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ผมเก็บภาพประตูโขงหน้าวัดมาให้เพื่อน ๆ ได้ดูด้วยแล้วดังนี้...




วัดจู้ดหลวงสังกัดมหานิกาย ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๐ โดยชาวเงี้ยวชื่อนายปะ ได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๖ เขตุวิสุงคามสีมากว้าง ๒๕ เมตร ยาว ๖๐ เมตร...

 
  
สิ่งที่ผมชื่นชอบคือต้นยางสูงใหญ่ เป็นเสมือน landmark ที่เห็นได้แต่ไกล...
 

 
นอกนั้นก็ยังมีความร่มรื่นสวยงามอยู่ภายในบริเวณวัดชึ่งกว้างใหญ่กว่า ๖ ไร่ให้ได้เห็น...

 
 
 
 
 
 
 
ชาวบ้านบอกผมว่าวัดจู้ดใต้หรือวัดจู้ดหลวงก็คือวัดเดียวกัน 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น