วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

กำแพงเมืองคูเมืองพิษณุโลก

๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๕ เวลา ๐๖.๐๕ น. ผมถ่ายรูปเจ้า Banian อยู่บนสะพานนเรศวร...

 
จากนั้นก็พากันข้ามสะพานแล้วเลี้ยวซ้ายไปถ่ายรูปแม่น้ำน่านขณะฟ้าเริ่มสาง โอกาสอย่างนี้คงไม่มีอีกแล้ว...  


 
วงเวียนที่ตั้งอยู่กลางถนนหน้าศาลจังหวัดพิษณุโลก...
 
 
มองเห็นศาลหลักเมือง ผมต้องข้ามถนนไปยังศาลากลางจังหวัด เพื่อรอยื่นขอทำหนังสือเดินทาง...
 
 
ใช้เวลาไม่นาน...ผมก็ไปยืนอยู่ที่ศาลากลางซึ่งเคยไปทำหนังสือเดินทางเมื่อ ๕ ปีที่แล้ว ท้องฟ้ายังไม่สว่างดี ผมเห็นแม่ค้าบริเวณนั้นเพิ่งกำลังตั้งร้าน อีกตั้ง ๒ ชั่วโมงเป็นอย่างน้อยที่ข้าราชการเค้าจะมาทำงานกัน  
 

 
ผมตัดสินใจสอบถามกลุ่มชาย ๒-๓ คนที่อยู่แถวนั้น  ทำให้ได้ความจริงว่าเค้าไม่ทำหนังสือเดินทางที่ศาลากลางกันแล้ว หน่วยงานได้ย้ายไปให้บริการอยู่ที่ชั้น G ลานจอดรถของห้างเซ็นทรัลพิษณุโลกโน่น (ต้อง ๙ โมงครึ่งเค้าถึงจะเปิด) อ้าว! แล้วเซ็นทรัลพิษณโลกอยู่ไหนล่ะ? โชคดีที่ได้รับคำตอบว่าอยู่บนทางหลวงหมายเลข 12 เส้นที่อยู่ข้างหน้านี้แหละ แต่ต้องไปอีกเกือบ ๕ กิโลเมตร...
 

ดีแล้ว...งั้นตาแก่เมืองรถม้าก็แวะถ่ายรูปวัดไปเรื่อย ๆ ได้เลย ออกจากศาลากลาง (S) มาตั้งต้นบนทางหลวงหมายเลข 12
 

ต้องผ่านสะพานเล็ก ๆ ข้ามคูเมือง (2) ซึ่งขนานกับถนนพระร่วง (3) ทำให้ผมได้เห็นกำแพงเมือง (1) คูเมือง (2) พิษณุโลกที่ยังคงหลงเหลือไว้เป็นอนุสรณ์...

 
ภาพจาก annaontour.com - ขอขอบคุณ
 
ตรงนี้เรียกว่าทางแยกวัดคูหาสวรรค์ ข้างหลังนั้นคือป้อม...

 
ยังไม่สว่างนัก...ผมเก็บภาพป้อมและกำแพงเมืองไว้ได้แค่ ๒-๓ บานเท่านั้น
 
 
เว็บ thai-tour.com กล่าวว่า...
กำแพงเมืองพิษณุโลกแต่เดิมเป็นกำแพงดินเช่นเดียวกับกำแพงเมืองสุโขทัย คาดว่าสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถเพื่อเตรียมรับศึกพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ได้โปรดให้ซ่อมแซมกำแพงเมืองอีกครั้งเพื่อเตรียมรับศึกพม่า ร่อยรอยอารยธรรมโบราณที่ชี้ชัดได้ว่าพิษณุโลกเคยเป็นหัวเมืองที่มีความสำคัญยิ่งในอดีตกาลมาก่อนนั้น คือ กำแพงเมืองคูเมืองแห่งนี้ ที่ผ่านการซ่อมแซมมาหลายยุคหลายสมัยด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เดิมทีกำแพงเมืองเป็นกำแพงดินเช่นเดียวกับสุโขทัย และคาดว่าสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถเพื่อเตรียมรับศึกพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา หลังจากนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดฯ ให้ซ่อมแซมกำแพงเมืองอีกครั้งเพื่อเตรียมรับศึกพม่า ครั้นมาถึงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์โปรดฯ ให้ช่างฝรั่งเศสสร้างกำแพงใหม่ โดยก่ออิฐให้แข็งแรงยิ่งขึ้น จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดฯ ให้รื้อกำแพงเมืองและป้อมต่าง ๆ เสีย เพื่อไม่ให้พม่าซึ่งรุกรานไทยยึดเป็นที่มั่นได้ ปัจจุบันกำแพงเมืองที่เห็นได้ชัดเจนนั้นอยู่แถวบริเวณวัดโพธิญาณ วัดน้อย และสถานีตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก ส่วนคูเมืองพบเห็นได้ตามแนวที่ขนานกับถนนพระร่วง (หลังสถาบันราชภัฏพิบูลสงคราม)


ผมหันไปเก็บภาพท้องฟ้าเริ่มสางสว่างแล้วเหนือทางหลวงหมายเลข 12 ไว้หน่อย...


 
กล่าวได้ว่ากำแพงเมืองและคูเมืองคือแลนด์มาร์กและอนุสรณ์สถานของจังหวัดพิษณุโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น