วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2564

พระธาตุดอยน้อย ลำปาง

พระธาตุดอยน้อยอยู่ที่วัดดอยน้อย ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง...

 
ในการศึกษาพระธาตุสำคัญของจังหวัดลำปางเพื่อการจัดการเส้นทางการเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม พาฝัน ประดาอินทร์ ได้เขียนเอกสารวิชาการเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของพระธาตุดอยน้อยไว้ดังนี้..
ประวัติความเป็นมา  พระธาตุดอยน้อย
เกิดปรากฏการณ์เมื่อในวันอังคารขึ้น ๑๕ ค่ำ ทุกเดือนชาวบ้านสันทราย (บ้านทรายคำเดิม) ได้เห็นรัศมีแสงสว่างปรากฏขึ้นที่วัดดอยน้อย ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร ชาวบ้านเห็นเป็นปาฏิหาริย์จึงตกลงกันมานิมนต์พระอาโนจัย วัดปงสนุก ขึ้นไปพักที่วัดดอยน้อย เพื่อเตรียมตัวประกาศเชิญชวนแก่ชาวบ้านใกล้เคียงและหมู่บ้านใกล้เคียงจัดหาเครื่องไทยทานพร้อมทั้งตุงเหล็ก ตุงทอง ตุงเงิน ตุงทราย ต่อมาในวันพุธ เดือน ๘ ขึ้น ๘ ค่ำ จุลศักราช ๑๒๕๗ (พ.ศ. ๒๔๓๙) ตรงกับปีมะแม จึงได้เชิญเจ้าเมืองและเจ้านายที่อยู่ใกล้เคียงให้มา
ร่วมงาน จากนั้นได้จัดเตรียมเครื่องไทยทาน และตุงทั้ง ๔ ถวายแด่ท้าวทั้ง ๔ ทิศ (ท้าวจตุโลกบาล) รวมทั้งมหาพรหม ครูบาอาจารย์ และร่วมกันอาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ขอให้ดลบันดาลให้ได้รู้ที่อยู่แห่งองค์พระธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
หลังจากที่ได้อาราธนาเสร็จแล้ว พระอาโนจัยและพระภิกษุ และคุณนายชาวบ้านหญิงชายได้ลงมือขุดค้น รื้อถอนรากไม้และเศษอิฐ แล้วนำมาคัดแยกเป็นแต่ละชนิด แล้วนำมารวบรวมแยกเป็นประเภทอิฐ หิน และขุดค้นเรื่อยมาจนถึงวันพุธ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๘ ชาวบ้านบ้านแม่ปุ้ม ได้ขุดพบขุมยนต์ซึ่งก่อไว้ด้วยคอนกรีตจึงงัดแงะแล้วทุบจนแตกจึงเห็นเป็นเรืออยู่ภายใน ภายในเรือประดิษฐานด้วยเจดีย์ทองคำ (พระธาตุเจ้าองค์คำ) ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มี ๖ สี เช่น ขาว เหลือง แสด แดง ชมพู และส้ม ลักษณะเท่าเมล็ดข้าวเปลือกบ้าง เมล็ดข้าวสารหักครึ่งบ้าง เท่าเมล็ดงาหรือเมล็ดผักกาดก็มี นับรวมกันได้ ๓๒๒,๒๐๐ เมล็ด (ดวง) จึงได้นำมารวมกันและนำไปเก็บไว้ที่วัดดอยน้อย ต่อมาในวันรุ่งขึ้น (วันพฤหัสบดี เดือน ๘ แรม ๘8 ค่ำ) พระภิกษุและชาวบ้านได้ร่วมมือสร้างหอประถาเสร็จแล้วจึงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานไว้ในหอประถาที่สร้าง จึงจัดพิธีสรงน้ำพระธาตุโดยเริ่มตั้งแต่ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ (ภาคเหนือเรียกว่าออก ๘ ค่ำ เดือน ๘) จนถึงวันพุธขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ ปีฉลู (ภาคเหนือเรียกว่า เดือน ๙ ออก ๑๓ ค่ำ วันพุธ ปีเป้า) จากนั้นขึ้น ๑๓ ถึง ๑๕ ค่ำเดือน ๙ จึงนำพระบรมสารีริกธาตุเข้ามาในเวียงละกอน เพื่อให้พระองค์เจ้าหลวงนรธนันชัยสุขวดีได้สักการบูชาสรงน ้ำ และได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุไว้บางส่วนที่วัดปงสนุก (ดอยปงสนุกเดิม)  ในขณะสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ พระเมืองแก้ว (เจ้าบุญเลิศ) ได้ถวายผอบทองคำ (ภาคเหนือเรียกว่า ผอูปคำ) เพื่อใส่พระบรมสารีริกธาตุที่แบ่งไว้ จากนั้นจึงได้เกิดปาฏิหาริย์มีลม ฝน ฟ้าร้อง ฟ้าแลบ ท้องฟ้ามือมิด คนล้านนาได้แสดงเป็นสักขีในการถวายทาน ในวันรุ่งขึ้น (วันศุกร์ เดือน ๙ แรม ๑ ค่ำ) พระอาโนจัย (วัดปงสนุก) โดยตามทางก็มีเจ้าหัวเมืองต่างๆ คณะพระภิกษุ และชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง ต่างพากันมานมัสการและสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุและได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุกลับมายังวัดดอยน้อย จากนั้นจึงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุเข้าสู่วัดสันทราย ต่อมาเจ้าอาวาสวัดสันทรายพร้อมด้วยศรัทธาทั้งหลายได้ตกแต่งเครื่องไทยทานไปน้อมถวายพระบรมสารีริกธาตุ และอาราธนาพระบรมสารีริกธาตุ มาประดิษฐานที่วัดดอยน้อย และเริ่มก่อสร้างพระธาตุดอยน้อยขึ้นใหม่สำเร็จลุล่วงในวันอังคาร แรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ ปียี่ จุลศักราช ๑๒๘๘ (พ.ศ. ๒๔๗๐)
ขอขอบคุณที่มาของข้อมูล  ตาแก่เมืองรถม้าเก็บภาพพระเจดีย์มาฝากเพื่อน ๆ แล้วดังนี้...

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 


 



 
 
 
ล้อมรอบองค์เ่จดีย์ กำแพงแก้วมีฉัตรทองอยู่ทั้งสี่มุม...



จัดรูปให้เต็มอิ่มเลยนะครับ...เพื่อน ๆ :)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น