วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

FB Trip ไป อช.แม่ปิง - กู่ครูบากางเป็ด


พระเจดีย์ครูบาคางเป็ดแห่งวัดฉางข้าวน้อยใต้ หรือที่เรียกว่า "กู่*ครูบากาง**เป็ด" เป็นพุทธศาสนสถานที่สำคัญของหมู่บ้านฉางข้าวน้อย อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน 
* กู่ หมายถึง วิหาร (โบราณ)  อนุสาวรีย์ กุฏิ เจดีย์  (ท้องถิ่น-พายัพ)
** กาง หมายถึง คาง  (ท้องถิ่น-พายัพ)



๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๒ ผมเปิดประตูเล็ก (5) เข้ามาในกำแพงแก้วล้อมรอบเจดีย์ (6)...



มีป้ายบรรยายด้วย เพื่อน ๆ อ่านหน่อยนะครับ ผมพิมพ์ให้แล้ว...
ประวัติกู่ครูบากันธา เรวจฺจ (คางเป็ด)
*******************
ครูบากันธา เรวจฺจ ถิ่นกำเนิดอยู่ที่เมืองยอง แคว้นสิบสองปันนา เมื่อภัยธรรมชาติคุกคามได้ชักชวนญาติโยมย้ายลงมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสันเข้าน้อย ป่าซาง เมื่อประมาณพุทธศักราช ๒๓๓๐ เป็นพระอธิการองค์แรก เมื่อวัยเด็กกำพร้าแม่ แม่น้า(แม่เลี้ยง)ข่มเหงรังแก และมอบหมายให้ไปดูแลเลี้ยงวัว แม่น้าได้ห่อข้าวกับคางเป็ดเป็นอาหารกลางวัน โดยบังคับให้เก็บคางเป็ดกลับบ้าน และได้เอาคางเป็ดอันเดิมนั้นห่อข้าวไปทุกวัน จนอายุครบบวช ครูบาฯ ได้บวชเณรและศึกษาธรรมะ ครั้นจะคิดลาสิกขาคราวใด เมื่อนำคางเป็ดที่เก็บไว้มาพิจารณาก็เป็นอันเลิกล้มจะไม่ลาสิกขา และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุศึกษาปฏิบัติธรรมพระกัมฐานจนมีความรู้แตกฉาน ดวงตาเห็นธรรมเกิดวิมุตติฌาณทัศนะรู้แจ้งในกฎพระไตรลักษณ์จนเป็นพหูสูตอยู่จนชั่วอายุขัย เมื่อท่านมรณภาพกระดูกได้กลายเป็นอัฐธาตุ คณะศรัทธาญาติโยมจึงได้สร้างกู่บรรจุอัฐธาตุขึ้น และได้บูรณปฏิสังขรณ์ให้งดงามเพื่อสักการะบูชา เป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้

facebook ประวัติความเป็นมานครหริภุญชัย - ลำพูนในปัจจุบันก็กล่าวว่า...
เดิมทีนั้นท่านครูบาคางเป็ดชื่อ "ครูบาคันธา เรวัจจะ" เป็นคนไทยเชื้อสายทางสิบสองปันนา เมื่อปี ๒๓๕๐ เกิดทุพภิกขภัยข้าวยากหมากแพง ท่านพร้อมด้วยสหธรรมิกอีกรูปหนึ่งคือ ครูบาปินตา ได้นำชาวบ้านจากสิบสองปันนาจำนวนหนึ่งออกเดินทางมาเมืองลำพูนเพื่อหาสถานที่ตั้งบ้านเรือนใหม่ เมื่อมาถึงเขตหมู่บ้านนี้ ท่านพิจารณาเห็นว่าเป็นที่อุดมสมบูรณ์มีน้ำแม่ทาไหลผ่าน จึงให้หยุดพักและตัดสินใจตั้งบ้านเรือนกันที่นี ส่วนครูบาปินตาได้นำโยมของท่านเคลื่อนขึ้นไปอีกแห่งหนึ่งถัดไปซึ่งต่อมาคือ บ้านฉางข้าวน้อยเหนือ แต่ก่อนที่จะแยกกันนั้นญาติโยมได้จัดภัตตาหารถวายเพลถวายท่านทั้งสอง เมื่อท่านฉันไปได้ชั่วครู่ไม่กี่คำก็เที่ยงตรงพอดีจึงต้องหยุดฉันเพียงเท่านั้น โยมทั้งหลายจึงถือเอานิมิตนั้นเป็นเหตุและพร้อมใจกันตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านฉันข้าวน้อย ในยุคสมัยต่อมาเจ้าหลวงผู้ครองนครลำพูนองค์หนึ่งได้มีรับสั่งให้มาสร้างฉางข้าวขึ้นเพื่อเก็บข้าวส่วย ณ ที่หมู่บ้านแห่งนี้ ชาวบ้านจึงพากันเรียกชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า ฉางข้าวน้อย จนถึงปัจจุบัน สำหรับสมัญญาของท่านที่ว่าครูบาคางเป็ดนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่าเดิมทีเมื่อท่านยังเป็นเด็กอยู่ที่สิบสองปันนา ครอบครัวท่านยากจน แม่แท้ ๆ ก็มาตายจาก พ่อของท่านจึงแต่งงานใหม่ และก็เข้าทำนองแม่เลี้ยงลูกเลี้ยง ท่านมักถูกใช้ให้ไปเลี้ยงควาย อาหารที่ห่อให้ไปกินนั้นก็มีแต่ข้าวและคางเป็ดย่างไม่มีเนื้อมีหนังให้พออิ่มได้ เป็นเช่นนี้บ่อยๆจนเพื่อนๆพากันล้อท่านว่า อ้ายคางเป็ด เมื่อท่านเจริญวัยจนพอศึกษาเล่าเรียนได้ อีกทั้งด้วยเหตุที่ชีวิตของท่านประสบทุกข์ยากลำบากจึงเกิดสลดสังเวช ท่านจึงขอต่อพ่อและแม่เลี้ยงไปบรรพชาเป็นสามเณร และเมื่ออายุครบก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุได้นามจากพระอุปัชฌาย์ว่า เรวัจจะภิกษุ ท่านมุ่งมั่นศึกษาปฏิบัติธรรมกัมมัฎฐานอย่างจริงจัง ต่อเมื่อท่านนำศรัทธาญาติโยมมาตั้งหลักแหล่งใหม่และท่านก็มาอยู่ที่เมืองลำพูนนี้จนถึงกาลมรณภาพ เมื่อทำการประชุมเพลิงสรีระของท่านแล้วปรากฎว่า อัฎฐิของท่านได้กลายเป็นพระธาตุทั้งสิ้น ยังความอัศจรรย์ใจแก่ญาติโยมทั้งหลาย อาศัยเหตุที่ท่านเป็นผู้นำในการมาตั้งหลักแหล่งแห่งห้องใหม่และด้วยศรัทธาในความเป็นพระผู้สิ้นแล้วซึ่งกิเลสดังที่ปรากฎ ศรัทธาสาธุชนจึงร่วมกันก่อกู่เพื่อบรรจุพระสรีระธาตุของท่านไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์และสักการะสืบมา...
(ขอบคุณสำหรับข้อมูลที่ต้องขออนุญาตยกมาเต็ม ๆ จัดว่าเป็นข้อเขียนซึ่งกล่าวถึงประวัติของครูบาและการก่อตั้งหมู่บ้านฉางข้าวน้อยไว้ได้ดียิ่ง)



เก็บภาพมาฝากเพื่อน ๆ แล้วดังนี้...










เป็นที่น่ายินดียิ่งสำหรับตาแก่เมืองรถม้าที่ได้มาสักการะและศึกษาประวัติของครูบาฯ และความเป็นมาของบ้านฉางข้าวน้อย...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น