วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2563

สมเด็จเชษฐวชิรปัญญามหาเถระ วัดสันต้นธง ลำพูน

วัดสันต้นธง ตั้งอยู่เลขที่ ๑๑๓ หมู่ ๒ ตำบลต้นธง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน...
 
 
กล่าวว่าแต่เดิมการปกครองสงฆ์มีระบบสังฆราชาท้องถิ่น จังหวัดลำพูนก็มีครูบาสมเด็จเชษฐวชิรปัญญามหาเถรวัดสันต้นธงเป็นสังฆประมุข ถ้าดูภาพถ่ายดาวเทียมแล้วจะเห็นได้ว่าวัดสันต้นธง (W) ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมยิ่ง...


ที่วัดสันต้นธงผมเดินผ่านประตูโขง (1) และวิหาร (4) เข้าไปเห็นศาลาสมเด็จเชษฐวชิรปัญญามหาเถระ (5) ตั้งอยู่ทางด้านขวามือ...
 
  
ศาลาหลังนี้ (5) บูรณะโดยพระครูบวรศิริธรรมเจ้าอาวาสวัดสันต้นธงพร้อมด้วยศิษยานุศิษย์...

 
ด้านหน้าผมเห็นงูใหญ่ดวงตาแจ่มใสให้การต้อนรับ....

ขออนุญาตแล้วเดินผ่านเข้าไปเก็บภาพมาฝากเพื่อน ๆ...

มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ในศาลาด้วยครับ....

 

วิทยานิพนธ์ของพระพิชัย  ปิยสีโล (อินต๊ะซาว) หัวข้อ "การสร้างพลังชุมชนของครูบาศรีวิชัย" ได้เขียนไว้ในหน้า ๓๕-๓๖ ว่า...

ประวัติของครูบาสมเด็จเชษฐวชิรปัญญามหาเถร (พ.ศ. ๒๓๗๔ -๒๔๕๔) นี้ ชาวบ้านเรียกย่อ ๆ กันว่า “ครูบาสมเด็จ” มีนามเดิมว่า “อุ้ย” เป็นชาวบ้านบ่อแฮ้ว ตำบลต้นธง อำเภอเมือง จังหวัด ลำพูน วัดที่บวชนั้นระบุไว้สองแนวทาง บ้างว่าบวชที่ วัดบ่อแฮ้ว (กมลธัชยาราม) ต่อมาย้ายไปจำพรรษา ที่วัดสันต้นธง บ้างก็ว่าบวชที่วัดสันต้นธง ซึ่งทั้งสองวัดตั้งอยู่ไม่ไกลกัน มีฉายาว่า “วชิรปัญญา” โดยมี “ครูบากิตติ กิตติธโร” เจ้าอาวาสวัดสันต้นธงรูปแรกเป็นพระอุปัชฌาย์ให้พระวชิรปัญญาเดินทางไปศึกษาวิชากัมมัฏฐาน บาลีไวยากรณ์ อักขรวิธี มูลกัจจายน์ ปรมัตถ์ คัมภีร์ สมัญญาภิธาน (ว่าด้วยการเขียน การอ่าน สระ และ พยัญชนะ เรียกโดยรวมว่า “สัททาทั้งแปด”) กับ “ครูบากัญจนะอรัญวาสีมหาเถร” หรือครูบาเฒ่าวัดสูงเม่น เมืองแพร่ เมื่อสำเร็จการศึกษาจากสำนักวัดสูงเม่นแล้ว พระวชิรปัญญาได้กลับมาเปิดสำนักเรียนพระปริยัติธรรม ที่วัดสันต้นธง (ไม่ระบุศักราชว่าเริ่มเปิดปีไหน) สำนักเรียนแห่งนี้ต้องเปิดการเรียนการสอนถึง ๓ รอบต่อวัน จึงจะสามารถรองรับปริมาณความต้องการของพระภิกษุสามเณรได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งตอนกลางคืนยังต้องอบรม สั่งสอนสนทนาธรรมกับศรัทธาผู้เฒ่าผู้แก่อีกด้วยด้วยความโดดเด่นในการปฏิบัติภารกิจด้านศาสนาอย่างเยี่ยมยอด มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส จนกิตติศัพท์เลื่องลือไปทั่วภาคเหนือว่าเป็นพระผู้รอบรู้ ยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน มีมุขปาฐะเล่าสืบต่อกันมาว่า ครั้งหนึ่งเจ้าดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนลำดับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๑๘-๒๔๓๑) กำลังเตรียมจะประหารนักโทษรายหนึ่ง โดยขบวนนักโทษประหารกำลังเคลื่อนผ่านหน้าวัดสันต้นธง มีเสียงฆ้องที่เป็นสัญญาณบอกเหตุ พระวชิรปัญญาได้ออกมายืนหน้าวัดขวางขบวน พลางขอบิณฑบาตชีวิตนักโทษผู้นั้นจากเจ้าผู้ครองนครลำพูน เหตุการณ์นี้ทำให้เจ้าดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในตัวของพระวชิรปัญญาขึ้นมาจนกล่าวว่าเป็นพระผู้มี “จาตุปาริสุทธิศีล” สมเป็นสาวกของพระบรมศาสดา เจ้าหลวงดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์จึงได้ถวายตำแหน่งสังฆประมุขแห่งเมืองลำพูนแด่พระวชิรปัญญาในสมณศักดิ์ “ครูบาสมเด็จเชษฐวชิรปัญญามหาเถร”
เหรียญสมเด็จเชษฐวชิรปัญญามหาเถระ - ที่มา web-pra.com














กู่ครูบาสมเด็จเชษฐวชิรปัญญามหาเถระ (6) ตั้งอยู่ไม่ไกลจากศาลาฯ (5)

เห็นแล้วทำให้ผมคิดถึงกู่ครูบาขี้หอม (เจ้าราชครูหลวงพ่อโพนสะเม็ก) ซึ่งได้ไปไหว้ที่วัดธาตุฝุ่นสันติธรรมวราราม เมืองจำปาสัก สปป.ลาว เมื่อหลายปีก่อน...


ไม่รู้ว่าอีกเมือไหร่จะได้เดินทางไกลอีกครั้ง?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น