วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2562

วัดบวกครกหลวง เชียงใหม่


วัดบวกครกหลวง (W) อยู่ห่างจากสถานีรถไฟเชียงใหม่ (S) ไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๓ กิโลเมตร...


วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๒ ผมปั่นจักรยานไปตามถนนหลวงหมายเลข 1006 (เชียงใหม่-สันกำแพง) ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอันเกิดขึ้นกับถนนลาดยางสายเล็ก ๆ ที่เคยขี่จักรยานจากสถานีรถไฟไปเที่ยวอำเภอสันกำแพงเมื่อ ๕๐ กว่าปีที่แล้ว...


รู้จักบ้านบวกครกดี แต่ยังไม่เคยได้เห็นวัดบวกครกหลวง วันนี้โชคดีที่แวะมา...


ซุ้มประตูบอกชื่อวัด (1) ตั้งอยู่ตรงปากทาง.... ใกล้กับถนนสายเชียงใหม่-สันกำแพง (1006)





ปั่นจักรยานเข้าซอยไปนิดนึงก็เห็นรั้ววัด (2)ทางด้านขวา...



ประตูเข้ามีสิงห์เฝ้าอยู่ ดูเหมือนจะไม่ค่อยชอบบรรดาสายไฟสายโทรศัพท์ที่ขึงอยู่เหนือหัวสักเท่าใด!




ขี่จักรยานเลี้ยวเข้ามาในวัด...



 ผมเห็นครกใบใหญ่ตั้งอยู่บนแท่น (4)...



มีป้ายบอกประวัติวัดอยู่ด้วย อ่านหน่อยนะ...
ประวัติวัดบวกครกหลวง
วัดบวกครกหลวง เป็นวัดสังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๒๔ บ้านบวกครกหลวง หมู่ที่ ๑ ถนนเชียงใหม่-สันกำแพง ตำบลท่าศาลา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่บนเนื้อที  ๘-๐-๗๖ ไร่
วัดบวกครกหลวง เดิมชื่อวัดม่วงคำ ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างจึงไม่สามารถที่จะระบุได้ว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่ในวัดบวกครกหลวงมีโบราณสถานที่สำคัญและสถิตคู่วัดบวกครกหลวงแห่งนี้มานานหลายชั่วอายุคน นั้นก็คือ วิหารหลวงหลังงามตามแบบฉบับพื้นเมืองล้านนาที่เด่นสง่าอยู่ในบริเวณวัด และภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารหลวงอันทรงคุณค่ายิ่ง โดยกรมศิลปากรได้เข้ามาบูรณะภาพฝาผนัง และประมาณอายุของการก่อสร้างวิหารหลวงหลังนี้ สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ลงมา คำว่า "บวกครกหลวง" คำนี้เป็นภาษาพื้นเมือง คำว่า "บวก" แปลว่า "หลุม" "ครก" แปลว่าภาชนะตำข้าว คำว่า "หลวง" แปลว่า "ใหญ่" แปลรวมหมายถึงภาชนะตำข้าวขนาดใหญ่ มีผู้รู้เล่ากันมาว่า ในหมู่บ้านมีหลุมสำหรับตำข้าวขนาดใหญ่ ใช้ตำข้าวเลี้ยงคนจำนวนมากในหมู่บ้าน บ้างก็บอกว่าลำเหมืองในหมู่บ้าน ครั้งหนึ่งมีน้ำไหลนองและกัดเซาะบริเวณลำเหมืองหน้าวัดเป็นหลุมขนาดใหญ่คล้ายครก ชาวบ้านเรียกว่า "บวกครกหลวง" เมื่อประมาณ ๒๐๐ ปีผ่านมา ชื่อวัดบวกครกหลวงปรากฏนามในพระคัมภีร์ใบลานของตำนานล้านนาหลายแห่ง แต่เป็นนามว่า วัดบวกครกเท่านั้น คำว่าหลวงที่ได้รับการขนานนามต่อท้ายชื่อเดิมอาจจะมาจาก ๒ นัยด้วยกัน โดยนัยแรกตามที่ได้กล่าวมาเบื้องต้น ส่วนนัยที่ ๒ นั้นอาจเป็นเพราะยุคสมัยเปลี่ยนแปลง มีการสร้างถนนสายสันกำแพงตัดผ่านพื้นที่ทำให้ประชากรของหมู่บ้านไม่สะดวกต่อการมาทำบุญของผู้เฒ่าผู้แก่ที่อยู่อีกฟากหนึ่งของถนน จึงมีการสร้างอารามแห่งใหม่ขึ้น ชื่อวัดบวกครกน้อย และเพิ่มคำว่าหลวงให้แก่วัดบวกครก วัดบวกครกมีพระอุโบสถของวัดที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหสือประมาณ ๑ กิโลเมตร ปัจจุบันได้ถอนสีมาออกเพื่อความสะดวกในการลงทำสังฆกรรมและการดูแลของคณะสงฆ์ภายในวัด และกำหนดเขตสีมาขึ้นมาใหม่ ภายในอาณาบริเวณที่ตั้งของวัดปัจจุบันและรับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๗
สันนิษฐานว่าวัดและเสนาสนะสถาน อันได้แก่ วิหารหลวง พระอุโบสถ ได้ถูกสร้างขึ้นมาก่อนแล้ว และหลังจากนั้นมาได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นและในสมัยรัชกาลที่ ๗ วัดบวกครกหลวงได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้งด้วยกัน การบูรณครั้งใหญ่เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๘ เจ้านายฝ่ายเหนือ โดยการนำของเจ้าราชภาคินัย  บิดาแม่เจ้าจามรีราชเทวี ชายาในเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย ได้มีการซ่อมเสาวิหารซึ่งเป็นเสาไม้สักขนาดคนโอบไม่รอบซึ่งผุและมีปลวกมากัดกินทำรัง จีงได้ตัดเสาที่ติดกับฟื้นซีเมนต์และเทปูนทับเป็นรูปทรงระฆังคว่ำและได้เจาะผนังเพื่อทำเป็นช่องลมและหน้าต่าง ทำให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังแต่ละภาพขาดหายไปบางส่วน พร้อมกับได้สร้างมุขหน้าวิหารใหม่ โดยได้เสามาจากวัดสวนดอก
ปัจจุบันกรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนวัดบวกครกหลวงเป็นโบราณสถาน ตามประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดขอบเขต ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๗ ตอนที่ ๔๑ ลงวันที่ ๑๔ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๒๓
  
ไม่เคยอดทนพิมพ์ได้ยาวขนาดนี้เลยนะเนี่ย!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น