ผมมีแผ่นพับวัดพระเจดีย์ซาวหลังเก็บไว้ ๑ ฉบับ มีข้อมูลเกี่ยวกับวัดอยู่ด้วยดังนี้...
๑. ชื่อวัด ตามหนังสือที่ ศธ.๐๔๕/๑๑๖๙ ลงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๒๗ ของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ รับรองสภาพว่าเป็นวัดโบราณสร้างก่อนพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๕ ปรากฏชื่อว่า "วัดพระเจดีย์ซาวหลัง" ชาวบ้านเรียกชื่อ เช่น วัดป่าเจดีย์ซาว วัดเจดีย์ซาวหลัง วัดเจดีย์ซาวได้ไปเก็บภาพ "วัดพระเจดีย์ซาวหลัง" มาให้เพื่อน ๆ ดูดังนี้...
๒. สถานที่ตั้ง ห่างจากตัวเมือง ๔ กิโลเมตร ห่างจากกำแพงเมือง กิโลเมตรที่ ๒ ถนนสายลำปาง - แจ้ห่ม
๓. เนื้อที่ ๒๒ ไร่ ๑ งาน ๖๕ ตารางวา
๔. ลักษณะภูมิประเทศ มีทุ่งนาล้อมรอบ ตั้งระหว่างหมู่บ้านวังหม้อและหมู่บ้านห้วยทราย ห่างจากแม่น้ำวัง ๑ กิโลเมตร
๕. ศิลปกรรม แบบพม่า ได้รับการบูรณะในสมัยเจ้าพ่อบุญวาทย์ วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองลำปางองค์สุดท้ายเป็นประธานการบูรณะ โดยช่างชาวพม่าที่อาศัยในนครลำปางขณะนั้น (พ.ศ. ๒๔๕๗ - พ.ศ. ๒๔๖๔)
๖. ตำนานศาสนวงศ์ (พ.ศ. ๒๐๐๖) สถานแห่งนี้เรียกกันว่ากุลนคร (เมืองละกอน หรือ ลัวะกอน) เขตอรัญวาสี มีพระอริยะเจ้าผู้สำเร็จอภิญญาสามารถหยั่งรู้เหตุการณ์ความเป็นไปในเมือง ได้อาศัยจำพรรษาอยู่ ณ สถานที่นี้
๗. พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้รับพระราชทานให้ยกฐานะของวัดเป็นวัดพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
ตำนานที่เล่าสืบมาตั้งแต่อดีตกาลกล่าวว่า....
หลังจากที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วประมาณ ๕๐๐ ปี พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรื่องในชมพูทวีปและได้แพร่หลายออกไปยังนานาประเทศ อันเป็นผลมาจากการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ ซึ่งพระโมคคัลลีบุตรและพระติสสะเถระเป็นประธาน ได้จัดส่งพระอริยะสงฆ์สาวกออกเผยแผ่ประกาศพระพุทธศาสนาในต่างแดนเป็นครั้งแรก ในกาลนั้นพระอรหันต์เถระเจ้า ๒ รูป ไม่ปรากฏนามได้จาริกมาถึงบริเวณสถานที่แห่งนี้ เห็นว่าเป็นที่สงบเงียบเหมาะที่จะบำเพ็ญสมณธรรม จึงได้เอาเป็นที่พำนักอาศัยและอบรมศีลธรรม สั่งสอน แนะนำพุทธบริษัทในละแวกนั้น ในกาลครั้งนั้นได้มีพญามิลินทร์เป็นเจ้าผู้ครองนครแห่งหนึ่งและมีอำนาจ ได้มีความเลื่อมใสในคำสั่งสอนของพระอรหันต์เถระเจ้าเป็นอย่างยิ่ง จนรับเป็นผู้อุปัฏฐากด้วยศรัทธาแรงกล้า เจ้าพญามิลินทร์มีความประสงค์จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบไปในอนาคต โดยคิดสร้างถาวรวัตถุขึ้นในสถานที่แห่งนี้ จึงได้นำความไปปรึกษากับพระอรหันต์เถระเจ้าทั้ง ๒ รูป ท่านก็เห็นชอบด้วย ได้ใช้มือเสยพระเกศา (เส้นผม) ติดมือมาองค์ละ ๑๐ เส้น รวมกันได้ ๒๐ เส้น แล้วส่งมอบให้เจ้าพญามิลินทร์ตามความประสงค์ เจ้าพญามิลินทร์ได้นำพระเกศาที่ได้มานั้นบรรจุในผอบทองคำเส้นละ ๑ ผอบ รวมทั้งของมีค่าต่าง ๆ นำบรรจุในหลุม แล้วก่อเป็นองค์เจดีย์ขึ้นครอบตามจำนวนเส้นเกศา ประดับด้วยยอดฉัตรทองคำ เพื่อเป็นที่สักการะแก่ชนรุ่นหลังต่อไป...
วิหารหลังเล็กประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางสมาธิ ศิลปะเชียงแสน
กล่าวกันว่าใครนับเจดึย์ได้ครบ ๒๐ องค์ ผู้นั้นคือผู้มีบุญ ผมไม่ได้เข้าไปเดินนับข้างในเพราะไม่อยากเหยียบย่ำสนามหญ้าสวยงาม ครั้นจะเดินนับอยู่ข้างนอกก็ร้อนแดด คงต้องยอมรับว่าตัวเองไม่มีบุญ
ขอเพื่อน ๆ ช่วยไปนับแทนด้วยนะครับ!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น