วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

Tuol Sleng Genocide Museum

ก่อนไปเขมรผมได้อ่านหนังสือ ดูคลิปวิดีโอ และภาพยนต์สารคดีเกี่ยวกับการสู้รบและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) ในเขมรมาบ้างแล้วพอสมควร ผมคิดว่าเหตุการณ์ที่คนเขมรฆ่าเขมรด้วยกันนั้นเลวร้ายกว่าที่เวียดนามเหนือรบกับเวียดนามใต้เสียอีก ในขณะที่คนไทยยังไม่ผ่านประสบการณ์เช่นนั้นมาก่อน ทุกวันนี้ยังคงเพลิดเพลินกับความเป็นอยู่ที่สุขสบาย หลงในวัตถุนิยม กินทิ้งกินขว้าง คนรวยเอาเปรียบคนจน ประชาชนขาดความสามัคคี ผู้มียศฐาก็กำลังมัวเมาอยู่กับอำนาจของตนเอง แต่ประเทศอย่างเวียดนามและเขมรซึ่งได้ผ่านในบทเรียนที่ต้องแลกมาด้วยชีวิตของผู้คนนับล้านมาแล้ว ตอนนี้เค้ากำลังพัฒนาประเทศไปสู่ความรุ่งเรืองและความเป็นปึกแผ่น ผมอดมองประเทศเราด้วยความเป็นห่วงไม่ได้! 

คิดว่าเมื่อถึงวันที่ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนกว้างเกิน ธรรมชาติถูกทำลายและเบียดเบียนจนถึงขีดสุด มวลมนุษย์ขาดความรักในมนุษย์ด้วยกัน วันนั้นวงล้อแห่งประวัติศาสตร์จะหมุนคืนมา การทำลายล้างเพื่อให้เริ่มต้นใหม่อาจเกิดขึ้นอีกครั้งก็เป็นได้!

คำว่า genocide หมายถึง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพื่อทำลายกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มเชื้อชาติ หรือ กลุ่มชนในชาติในศาสนา ผมศึกษาเรื่องนี้ด้วยความสนใจ และเห็นใจในชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์  หลังจากดูภาพยนต์เรื่อง Year Zero: The Silent Death of Cambodia ของ John Pilger ตั้งแต่ต้นจนจบ ดูคลิปในยูทูปเล่าเรื่องผู้รอดตายจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์  ผมตั้งใจว่าวันหนึ่งจะต้องไปเห็นคุกโตลสเลงและทุ่งสังหารให้ได้ ทั้งนี้เพื่อคารวะดวงวิญญาณของเพื่อนร่วมโลก แลเตือนตนถึงภัยอันเกิดจากการกระทำของผู้หลงในอำนาจ  บ่ายวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๘... ผมปั่นจักรยานมาถึงแล้วครับ


ก่อนหน้านั้นสถานที่แห่งนี้เคยเป็นโรงเรียนมัธยมชื่อว่า Tuol Svay Pray จนกระทั่งถึงวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๑๘ เมื่อกองกำลังของพอลพตได้เปลี่ยนโรงเรียนให้กลายเป็นคุกที่ชื่อว่า S21 (Security Office 21) ล้อมรอบด้วยกำแพงแผ่นสังกะสีลูกฟูกสองชั้น ด้านบนขึงไว้ด้วยลวดตาข่าย ห้องเรียนชั้นล่างและชั้นสองถูกทะลุทำเป็นห้องขังเดี่ยว ส่วนชั้นสามใช้เป็นห้องขังรวม



ในบรรดาผู้ถูกคุมขังจำนวนนับพันมีทั้งเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน ช่างเทคนิค วิศวกร นายแพทย์ ครู นักศึกษา พระ ทหารตำรวจ ข้าราชการ ฯลฯ  ผู้เคราะห์ร้ายเหล่านั้นถูกจองจำและทรมาน ในที่สุดก็นำไปฆ่าทิ้งพร้อมลูกเมีย







เสาคานที่เห็นนี้คือตะแลงแกงใช้แขวนนักโทษ แต่ก่อนเป็นที่สำหรับห้อยโหนออกกำลังกายของเด็กนักเรียน เขมรแดงได้ใช้มันเป็นที่ทรมานสอบสวนนักโทษ ในป้ายบอกไว้ว่าเค้าจับนักโทษมัดแขนไขว้หลังด้วยเชือกแล้วดึงขึ้นไป ปล่อยให้หัวห้อยลงมา ทำเช่นนั้นจนนักโทษหมดสติ จากนั้นก็นำหัวไปจุ่มลงในตุ่มน้ำหมักปุ๋ยชีวภาพ (ที่เห็นในภาพ) เพื่อให้ฟื้น... แล้วทำการรีดคั้นต่อ



ภาพและเรื่องราวของความโหดร้ายในคุกโตลสเลงนั้นมีมากเหลือเกิน ขณะที่ผมไปเยือนมีนักท่องเที่ยวไม่มาก บนอาคารเงียบเชียบปราศจากผู้คน บางจุดผมต้องเดินคนเดียว ผ่านห้องขังและกำแพงที่ทะลุถึงกัน เห็นเตียงเหล็กเก่า เครื่องทรมาน และอีกหลายสิ่งหลายอย่างซึ่งแสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายน่ากลัว ผมมิได้บันทึกภาพเอาไว้เพราะเห็นมีป้ายห้าม




ลายกระเบื้องปูพื้นอย่างนี้แหละที่ผมเห็นในยูทูป...


วันนี้ได้มาสัมผัสแล้วด้วยตนเอง ห้องที่อยู่ปลายสุดนั่นมีที่เก็บหัวกะโหลกผู้ตาย เค้ามีธูปให้จุดไหว้ด้วย แม้จะเป็นคนไทยแต่ผมก็ขอคารวะต่อดวงวิญญาณของคนเขมรผู้เป็นเหยื่อในการล้างเผ่าพันธุ์อันเหี้ยมโหดครั้งนี้...






"Never will we forget the crimes committed during the Democratic Kampuchea regime"  ผมอ่านป้ายแล้ว หวังว่าคนเขมรคงไม่ลืมอาชญากรรมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในแผ่นดินของตน ขอให้มีกำลังใจที่จะร่วมมือกันฟื้นฟูประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองในอนาคต


ส่วนในเมืองไทย (ประเทศที่ผู้คนลืมง่ายเหลือเกิน) ผมก็ไม่อยากให้วันหนึ่งต้องทำป้ายอย่างนี้ขึ้นมาจริง ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น