๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๘ มีงานสืบสานตำนานไตลื้อและวัฒนธรรมชนเผ่า จังหวัดลำพูน ครั้งที่ ๒ ที่โรงเรียนวัดบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน...
ข้อมูลจากวิกิพีเดียบรรยายว่า...
ชนเผ่าไตลื้อหรือไทลื้อ เป็นชาวไทกลุ่มหนึ่ง มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแถบสิบสองปันนาของจีน มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือการใช้ภาษาไทลื้อ และมีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์อื่น ๆ เช่น การแต่งกาย ศิลปะและประเพณีต่าง ๆ เดิมมีถิ่นที่อยู่บริเวณเมืองลื้อหลวง จีนเรียกว่า "ลือแจง" ต่อมาได้เคลื่อนย้ายลงมาอยู่บริเวณเมืองหนองแส หรือที่เรียกว่าคุนหมิงในปัจจุบัน แล้วย้ายลงมาสู่ลุ่มน้ำน้ำโขง สิบสองปันนาปัจจุบัน...
ประชากรไตลื้อมีทั้งหมดประมาณ ๑.๕ - ๒ ล้านคน อาศัยอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ คือประเทศจีน ๔๐๐,๐๐๐ - ประเทศพม่า ๓๐๐,๐๐๐ - ประเทศลาว ๑๓๔,๐๐ - ประเทศไทย ๑,๐๐๐,๐๐๐ - ประเทศเวียดนาม ๔,๙๖๐ ภาษาที่ใช้คือ ภาษาจีน, ภาษาลื้อ, ภาษาไทเหนือ, ภาษาไทดำ, ภาษาลาว, ภาษาไทย และภาษาพม่า
ตอนไปหลวงน้ำทา สปป.ลาว ผมยังเคยขี่จักรยานไปบ้านดอนมูล (หมู่บ้านวัฒนธรรมไตลื้อ) ที่เดียนเบียนฟุ ประเทศเวียดนามก็มีคนชวนให้ไปเที่ยวหมู่บ้านไตลื้อ ดูเหมือนว่าชนเผ่าไตลื้อจะมีอยู่ทั่วไป และมากที่สุดในประเทศไทย วันนี้ผมอยากพาเพื่อน ๆ ไปดู "พิพิธภัณฑ์บ้านไตลื้อ" ที่อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน ซึ่งหาไม่ยากเพราะถนนหนทางบ้านเราสร้างกันไว้ดีเหลือเกิน จากแยกนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ให้เพื่อน ๆ ใช้เส้นทางหมายเลข 1147 ขับไปเรื่อย ๆ ประมาณ ๒๐ กว่ากิโลเมตรก็ถึงตำบลบ้านธิ การหาโรงเรียนวัดบ้านธิคงมิใช่เรื่องยากนะครับ...
"พิพิธภัณฑ์บ้านไตลื้อบ้านธิ" อยู่ในโรงเรียน เป็นเรือนไม้ตั้งหันหน้าออกไปยังสนามหญ้า ขึ้นไปดูกันหน่อย...
ขึ้นบันไดไปยังชานเรือนปูด้วยไม้กระดานหน้ากว้าง ทางด้านซ้ายมือเป็นเรือนหลังเล็ก เข้าใจว่าน่าจะทำเป็นห้องครัว (ถ้าผิดก็ขออภัย) พอดีทางพิพิธภัณฑ์กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง จึงยังไม่มีแผนผังให้ผู้มาเยือนได้ศึกษา...
ผมเห็นหม้อน้ำหรือที่เรียกกันว่า "น้ำหม้อ" มีน้ำบวยแขวนไว้ที่เสา เดี๋ยวนี้หาดูได้ยากแล้ว คนไตลื้อเรียกว่า "ฮ้านน้ำ" เป็นชั้นวางหม้อน้ำสำหรับคนในบ้าน และใช้ต้อนรับแขก...
ด้านขวาเป็นเรือนหลังใหญ่ วันนี้ผมเห็นคนเฒ่าคนแก่มาชุมนุมกัน เพื่อจัดงานสืบสานตำนานไตลื้อในช่วงเย็น...
แม่อุ้ยแต่งตัวเตรียมพร้อมไว้แล้ว ในวิกิพีเดียกล่าวว่า...
ผู้ชายไทลื้อส่วนใหญ่จะนิยมสวมเสื้อขาวแขนยาว สวมทับด้วยเสื้อกั๊กปักลวดลายด้วยเลื่อม เรียกว่า "เสื้อปา" สวมกางเกงหม้อห้อมขายาวต่อหัวกางเกงด้วยผ้าสีขาว เรียกว่า "เตี่ยวหัวขาว" นิยมโพกศีรษะ (เคียนหัว) ด้วยผ้าสีขาว สีชมพู ส่วนหญิงไทลื้อนิยมสวมเสื้อปั๊ด (เป็นเสื้อที่ไม่มีกระดุมแต่สาบเสื้อจะป้ายเฉียงมาผูกไว้ที่เอวด้านข้าง) นุ่งซิ่นต๋าลื้อ สะพายถุงย่าม และนิยมโพกศีรษะด้วยผ้าสีขาวหรือสีชมพู
ถ่ายภาพภายในเฮือนไตลื้อมาให้เพื่อน ๆ ดู....
ที่นอนชาวไตลื้อ...
พิพิธภัณฑ์กำลังอยู่ในช่วงปรับปรุง คาดว่าจะสมบูรณ์แบบในไม่ช้านี้...
ลงมาดูที่ใต้ถุนกันหน่อย...
เสียดายที่ไม่มีโอกาสได้อยู่ดูขบวนแห่ในช่วงเย็น ไม่งั้นผมคงมีภาพมาฝากเพื่อน ๆ อีกเยอะ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น