วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

FB Trip ไปเชียงแสน – วัดหมื่นเชียง

วัดหมื่นเชียง ตั้งอยู่ที่บ้านเวียงใต้ ถนนสาย ๒ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

 
จากวัดบ้านร้อง (2) ผมขี่จักรยานผ่านโกดังเก่าไปจนถึงสี่แยก พอเลี้ยวซ้ายก็เห็น “วัดหมื่นเชียง” (3) ตั้งอยู่ด้านซ้ายมือ…

2wats

ป้ายของกรมศิลปากรบรรยายว่า…

วัดหมื่นเชียง ตำนานพื้นเมืองเชียงแสนกล่าวว่า หมื่นเชียงสง เจ้าเมืองเชียงแสนสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๐๓๑ เป็นที่บรรจุพระธาตุย่อย จำนวน ๖๔๐ องค์ ประกอบด้วยเจดีย์ทรงปราสาทก่ออิฐถือปูน ฐานสูงย่อเก็จกว้างด้านละ ๑๑ เมตร ประดับลูกแก้วเรือนธาตุมีซุ้มจรนำสี่ด้านตกแต่งด้วยลายปูนปั้นองค์ระฆังทรงกลมตั้งอยู่ด้านหลังวิหารซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตรงกับซุ้มประตูทางเข้า มีอายุร่วมสมัยกับเจดีย์วัดพระธาตุจอมกิตติ ซึ่งหมื่นเชียงสงบูรณปฏิสังขรณ์ ปัจจุบันเป็นวัดร้าง

วิหารก่ออิฐถือปูน ขนาด ๑๑.๐๐ x ๓๕.๐๐ เมตร ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของเจดีย์ประธาน ด้านหน้าเป็นห้องโถงเปิดโล่ง มีหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา ผนังก่อหิน ภายในมีฐานชุกชีขนาดใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระประธาน (ศิลาแลง) ขนาบข้างด้วยพระปูนปั้นด้านละองค์

 


เว็บของศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้ให้ข้อมูลไ้ว้ว่า…

เจดีย์วัดหมื่นเชียง

วัดนี้มีชื่อปรากฏในเอกสารที่กล่าวถึงหมื่นเชียงสงเจ้าผู้ครองเมืองเชียงแสน เป็นผู้สร้างในปี พ.ศ. 2030ปัจจุบันเจดีย์วัดหมื่นเชียงเหลือเฉพาะส่วนฐานและเรือนธาตุ ส่วนยอดนั้นหักหายไป ได้รับการบูรณะโดยกรมศิลปากรแล้ว

ส่วนฐานประกอบด้วยฐานเขียง 1 ฐานรองรับฐานบัวคว่ำ-บัวหงายในผังยกเก็จ ขยายท้องไม้สูงประดับลูกแก้วอกไก่ 2 เส้น ส่วนนี้ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ทั้งหมดเพราะฐานเดิมจากภาพถ่ายเก่าส่วนนี้จะพังทลายไปทั้งหมด อาจเป็นฐานบัว 2 ฐานซ้อนกันก็ได้อย่างไรก็ตามลักษณะฐานดังกล่าวนี้เป็นฐานที่พบทั้ง 2 แบบในกลุ่มเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา

ส่วนเรือนธาตุถัดจากฐานบัวชั้นล่างมีฐานบัวคว่ำ-บัวหงายอีกฐานหนึ่ง ฐานส่วนนี้มีลักษณะพิเศษคือท้องไม้ไม่ประดับลูกแก้วอกไก่แต่ทำเป็นช่อง ๆ ภายในปั้นลายแบบลายเมฆ หรือที่เรียกว่าลายช่องกระจก ที่เป็นอิทธิพลจีน พบมากในฐานพระพุทธรูปในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21

ถัดขึ้นไปจึงเป็นส่วนฐานบัวลูกแก้วอกไก่รองรับเรือนธาตุ

เรือนธาตุอยู่ในผังยกเก็จ ไม่มีเสาติดผนังแล้ว มีจระนำซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง4 ด้าน มี 2 ชั้นลักษณะเป็นซุ้มลด ที่สำคัญคือกรอบซุ้มเป็นแบบซุ้มหน้านางซึ่งเป็นอิทธิพลศิลปะสุโขทัย พบอยู่ในกลุ่มเจดีย์ทรงปราสาทยอดเดียวในล้านนา เช่น เจดีย์หลวง กู่พระเจ้าติโลกราช เมืองเชียงใหม่ เป็นต้น ที่เสาซุ้มและที่มุมเรือนธาตุ ประดับลายกาบบน กาบล่างและประจำยามอก ลักษณะลายเป็นแบบลายเครือล้านนาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 แล้ว

จากรูปแบบดังกล่าวจึงถือได้ว่าเจดีย์ที่วัดหมื่นเชียงนี้น่าจะมีอายุอยู่ในราวกลางพุทธศตวรรษที่21 ตามเอกสารที่กล่าวถึงว่าสร้างโดยหมื่นเชียง ในปี พ.ศ. 2030 นับเป็นเจดีย์ที่มีความสำคัญมากที่สุดองค์หนึ่งเพราะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดเดียวแบบล้านนา ที่เหลืออยู่เพียงองค์เดียวเท่านั้น ส่วนอีกองค์หนึ่งเป็นกู่ขนาดเล็ก ได้แก่ กู่วัดจอมสวรรค์ ซึ่งน่าจะมีรูปแบบที่ใกล้เคียงกันด้วย

ผมรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้นำเจ้า Nikon D50 มาบันทึกภาพให้ได้ชัดเจนกว่านี้ เอาไว้เที่ยวหน้านะครับ…

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น