วันอาทิตย์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

FB Trip ไปเชียงแสน – พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (๑)

604

เว็บของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติได้กล่าวถีงประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑถานเมืองเชียงแสนไว้ว่า…

เชียงแสนเป็นเมืองโบราณบริเวณภาคเหนือตอนบนที่สำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ของแคว้นล้านนา มีแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์ ปรากฎอยู่มาก พระเจ้าแสนภู พระราชนัดดาของพระเจ้าเม็งรายทรงสร้างเมืองเชียงแสนขึ้นปี พ.ศ.๑๘๗๑ เพื่อเป็นที่มั่นในการควบคุมดูแลหัวเมืองต่างๆ ในแคว้นโยนก และเป็นปากประตูเพื่อติดต่อกับบ้านเมืองภายในผืนทวีปตามเส้นทางแม่น้ำโขง มีร่องรอยโบราณสถานให้เห็นอยู่ถึงปัจจุบัน

เมื่อมีการจัดตั้งหน่วยศิลปากรขึ้นปี ๒๕๐๐ เพื่อดูแลรักษาโบราณสถานในเมืองเชียงแสน ได้มีการตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บรวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการสำรวจขุดแต่งโบราณสถานเมืองเชียงแสน และบริเวณใกล้เคียง จัดแสดงให้ประชาชน นักศึกษา ชม และศึกษาหาความรู้ โดยใช้ศาลาหลังเก่าของวัดเจดีย์หลวงเป็นอาคารจัดแสดงหลังแรก

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๔ จึงได้ประกาศให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่เก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ

ปี ๒๕๒๔ ได้รับงบประมาณในการสร้างอาคารทรงไทยล้านนาประยุกต์ ประดับยอดจั่ว กาแล 1 หลัง จึงได้ย้ายโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุไปจัดแสดง แล้วเสร็จในปี ๒๕๒๗ และปี ๒๕๒๘ ได้มีการสร้างอาคารส่วนขยาย ปี ๒๕๓๘ ได้รับงบประมาณในการซ่อมปรับปรุง

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน อย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐

ผมจอดรถจักรยานไว้ด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ซึ่งเปิดบริการวันพุธถึงวันอาทิตย์ เวลา ๘.๓๐ น. – ๑๖.๓๐ น.  ไปหยุดยืนดูแผ่นป้ายที่ติดอยู่ทางด้านซ้ายมือ เพื่อศึกษาก่อนว่าอะไรทำได้..อะไรทำไม่ได้

 
ถ่ายภาพด้วยกล้องถ่ายรูปได้แต่ห้ามใช้ขาตั้งกล้องและไฟแฟลช  (ดูเหมือนจะถ่ายวิดีโอไม่ได้)  ห้ามวิ่ง ห้ามแตะต้อง(ของจะเสีย)  ห้ามสูบบุหรี่  ห้ามกินสตอเบอรี่ (อิอิ)  และห้ามดื่มน้ำ!
รู้ระเบียบข้อบังคับดีแล้ว.. ผมก้าวผ่านประตูเข้าไป ทางด้านซ้ายมือมีห้องจำหน่ายบัตรผ่านประตู  คนไทยจ่าย ๒๐ บาท ชาวต่างชาติจ่าย ๑๐๐ บาท ผมจ่ายด้วยความเต็มใจ  แค่บัตรสวยก็คุ้มค่าแล้วครับ!

เจ้าหน้าที่ยังบอกให้ผมหยิบแผ่นพับที่วางไว้ติดมือไปด้วย…


รูปปั้นซึ่งปรากฏภาพอยู่บนบัตรผ่านประตูและปกแผ่นพับ มีชื่อว่า “หน้ากาล (Gala Face)”  ศิลปะล้านนาราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ – ๑๙  คำบรรยายมีดังนี้….

ปูนปั้น สูง 68 ซม.
เลขทะเบียน 84/2500
ได้จากวัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เมื่อ พ.ศ. 2500

ชิ้นส่วนลายปูนปั้นประดับสถาปัตยกรรมเจดีย์ประธานวัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย บริเวณส่วนมุม ลักษณะเป็นรูปใบหน้ากึ่งมนุษย์กึ่งสัตว์สวมกระบังหน้า เหนือเศียรเป็นลายกนก ปากคายลายกนกออกมาทั้งสอบข้าง มีมือยึดลายกนกไว้ริมฝีปากล่างหักหายไป

ตำนานอินเดียเล่าถึงกำเนิดของหน้ากาลนี้ว่า ครั้งหนึ่งมีพญายักษ์ชื่อชลันธรบำเพ็ญตบะแก่กล้า จนได้รับพรจากพระศิวะไม่ให้ผู้ใดต่อกรด้วยได้จึงเกิดความลำพองทำร้ายข่มเหงทั้งยักษ์ เทพ และมนุษย์

ต่อมา ยักษ์ชลันธรได้ให้พระราหูไปบอกพระศิวะให้มารบกับตน หากพระศิวะแพ้จะริบตัวนางปารพตีมเหสีเป็นของตน พระศิวะได้ฟังดังนั้นก็พิโรธเกิดมียักษ์หน้าสิงห์โตกระโดดออกจากหว่างพระขนงจะกินพระราหู พระราหูเห็นดังนั้นก็ตกใจขอให้พระศิวะช่วย พระศิวะทรงห้ามยักษ์ไม่ให้ทำร้ายพระราหู ยักษ์กล่าวว่าถ้าอย่างนั้นขอให้กินสิ่งอื่นแทนพระราหู พระศิวะตรัสให้ยักษ์นั้นกินแขนขาของตัวเอง ด้วยความหิวโหยยักษ์ได้กัดกินแขนขาของตนหมดแล้วยังไม่อิ่ม จึงกัดกินท้องและอกจนหมดสิ้นเหลือเพียงส่วนหัว พระศิวะเห็นเช่นนั้นก็เกิดความสงสาร ตรัสให้พรยักษ์นั้นให้อยู่ที่ประตูวิมานของพระองค์ตลอดไป ผู้ใดไม่เคารพจะไม่ได้รับพรจากพระองค์ หลังจากนั้นพระองค์เสด็จไปปราบยักษ์ชลันธรได้สำเร็จ

สมัยโบราณถือว่าหน้ากาลนี้เป็นสัญลักษณ์ของเวลาที่กินทุกสิ่งแม้แต่ตัวเอง รวมทั้งเป็นผู้ที่คอยดูแลฝูงปศุสัตว์เนื่องจากพระศิวะได้รับการยกย่องเป็นปศุบดี ผู้เป็นใหญ่ในฝูงสัตว์ หน้ากาลอันเปรียบเสมือนบุตรของพระองค์คงจะมีฤทธิ์ปกป้องสัตว์เลี้ยงได้ ลายหน้ากาลนี้สามารถพบเห็นได้ทั๋วไปในเทวสถานของฮินดู และนิยมสร้างกันอย่างแพร่หลายในอินโดนีเซีย

ด้านขวามือ (ตรงกันข้ามกับห้องจำหน่ายบัตร)มีแผนผังเมืองเชียงแสน แสดงให้เห็นว่ามีวัดและโบราณสถานมากแค่ไหน!!

เมืองที่ผมกำลังเยือนอยู่นี้สุดยอดจริง ๆ ครับ ถ้าจะให้ดีแล้ว…ควรจะอยู่ต่ออีกหลาย ๆ วัน เพื่อจะเที่ยวได้ทั่วถึง! นาฬิกาบอกเวลา ๑๕.๔๒ น.  ผมยังมีเวลาอีกเกือบ ๑ ชั่วโมงที่จะได้เที่ยวชม… 

 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ได้แก่

1. อาคารจัดแสดงหลักชั้นล่าง แบ่งออกเป็น 5 หัวเรื่อง ได้แก่ เรื่องภูมิสถานเมืองเชียงแสน ประวัติศาสตร์และการตั้งถิ่นฐานของเมืองเชียงแสน วัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของมนุษย์ในสังคมล่างสัตว์และสังคมเกษตรกรรม เรื่องลวดลายปูนปั้นจากวัดป่าสัก เรื่องจารึกที่พบในเมืองเชียงแสนและพื้นที่ใกล้เคียง และเรื่องพัฒนาการของเครื่องถ้วยล้านนาในจังหวัดเชียงราย ซึ่งนับเป็นแหล่งศักษาค้นคว้าเครื่องถ้วยล้านนาที่ผลิตจากแหล่งเตาในจังหวัดเชียงรายที่สำศัญแห่งหนึ่ง

2. อาคารจัดแสดงหลักชั้นลอย แบ่งออกเป็น 2 หัวเรื่อง ได้แก่ เรื่องโบราณสถานที่สำศัญในเมืองเชียงแสนและเรื่องโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นและขุดแต่งทางโบราณคดีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500-ปัจจุบัน ทั้งในเมืองเชียงแสน และพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดเชียงราย อาทิ พระพุทธรูป เครื่องประดับเจดีย์ แผ่นอิฐที่จารึก และเครื่องสำริด เป็นต้น

3. อาคารส่วนขยาย จัดแสดงเกี่ยวกับชาติพันธุ์วิทยา แบ่งออกเป็น 3 หัวเรื่อง ได้แก่ เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มชนแถบลุ่มน้ำโขง อาทิ เครื่องมือ ที่ใช้ในการทำมาหากินในชีวิตประจำวัน เครื่องดนตรีพื้นเมือง ดาบและอาวุธต่างๆ เรื่องเมืองเชียงแสนในอดีตกล่าวถึงพัฒนาการของเมืองเชียงแสนในสมัยรัตนโกสินทร์เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าๆให้ชาวลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ เข้าไปอาศัยอยู่ในเมือง เชียงแสน และฟื้นฟูเมืองขึ้นใหม่ การเข้ามาของกลุ่มชนต่างๆ เช่น ไทยลื้อ ไทยใหญ่ รวมทั้งชาวเขาเผ่าต่างๆ โดยได้รวบรวมเครื่องเขินของพม่าแบบต่างๆ มากที่สุด

ที่มาของข้อมูล – nationalmuseums.finearts.go.th



พระพุทธรูปและวัตถุโบราณล้ำค่ากำลังรอให้เพื่อน ๆ ไปสัมผัส(ด้วยสายตา)…

 

 ไม่มีใครเลย!   ผมเดินอยู่คนเดียว รู้สึกว่าทุกย่างก้าวถูกกล้องวงจรปิดจับภาพไว้หมด!

 

ค่อย ๆ เดินดูไป… เพื่อน ๆ ถ่ายภาพได้แต่อย่าเปิดแฟลชก็แล้วกัน!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น