จากวัดพระบวช… ผมจูงจักรยานข้ามถนนไปยัง “วัดมุงเมือง” ซึ่งอยู่ตรงข้าม ถ่ายถาพคู่กับป้ายวัดไว้ก่อน ๑ บาน!
ป้ายของกรมศิลปากรบรรยายว่า…
วัดมุงเมือง วัดนี้ ปัจจุบันเป็นวัดร้าง ประกอบด้วยเจดีย์ทรงปราสาท ก่ออิฐถือปูนอฐานปัทม์ย่อเก็จ ประดับลูกแก้ว กว้างด้านละ ๗.๐๐ เมตร รองรับเรือนธาตุทรงปราสาท มีซุ้มจรนำสี่ด้านประดับลายปูนปั้น เหนือขึ้นไปเป็นยอดระฆังทรงกลมบนฐานแปดเหลี่ยม ตั้งอยู่ด้านหลังวิหารซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีซุ้มประตูโขงอยู่ทางด้านทิศใต้ พื้นเมืองเรียกว่า ซุ้มโขง หรือโขงประตู นอกจากนี้ยังมีอุโบสถและวิหารเล็กอีกอย่างละหนึ่งหลัง วิหารก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง ๑๔.๐๐ เมตร ยาว ๒๐.๐๐ เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้าเป็นห้องเปิดโล่ง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา ผนังก่อทึบ ประกอบด้วยฐานชุกชีหรือแท่นแก้วประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ด้านทิศใต้มีบันไดเชื่อมต่อทางเดินไปยังอุโบสถและวิหารเล็ก ไม่ปรากฏประวัติการก่อสร้าง จากลักษณะรูปแบบทางสถาปัตยกรรม สันนิฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙
ในบทความทางวิชาการเรื่อง “พระธาตุเจดีย์ในเมืองเชียงแสน” เขียนโดย นายคงเดช ประพัฒน์ทอง (เขียนที่หน่วยศิลปากรที่ 4 อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายเมื่อปี พุทธศักราช 2508) กล่าวถึงพระธาตุเจดีย์วัดมุงเมืองไว้ดังนี้…
พระธาตุเจดีย์วัดมุงเมือง ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองเชียงแสน ด้านทิศเหนือริมถนนใหญ่ สำหรับพระธาตุเจดีย์องค์นี้ไม่ปรากฏว่าสร้างแต่ครั้งใดใครเป็นผู้สร้าง เมื่อพิจารณาลักษณะการก่อสร้างแล้วก็เห็นได้ว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับพระธาตุเจดีย์วัดป่าสัก ถ้าตัดส่วนซุ้มคูหราพระพุทธรูปตอนล่างของวัดป่าสักออกแล้วก็จะได้พระธาตุเจดีย์วัดมุงเมืองในส่วนที่เป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ แต่มีขนาดเล็กกว่า ฉะนั้นจึงอาจแบ่งส่วนของพระธาตุเจดีย์นี้ออกเป็น 3 ส่วนคือ
ส่วนฐานล่าง ทำเป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยมจตุรัสซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปสามชั้น ลักษณะของฐานส่วนนี้ก็คือ ส่วนที่ถัดซุ้มพระชั้นล่างของวัดป่าสักขึ้นไปนั่นเอง
ส่วนซุ้มจระนำ หมายถึงส่วนท่อนกลางทั้งหมด เป็นรูปแท่งสี่เหลี่ยมทรงสูง มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืนปางเปิดโลก ลักษณะของซุ้มนั้นเป็นเรือนซุ้มชั้นเดียว มีลวดลายปูนปั้นประดับแต่ลดคุณค่าในทางศิลปะลงแล้ว ไม่อาจจะเทียบกับวัดป่าสักได้เลย เป็นลายปูนปั้นอย่างตื้น ๆ แต่สิ่งที่ควรชมเป็นพิเศษก็คือองค์พระพุทธรูปปูนปั้นนั่นเอง ทรวดทรงพระวรกายทั้งหมดมีความกลมกลืนกันเป็นอย่างดีในรูปเส้นนอกของภาพ เป็นความประสานกันอย่างได้สัดส่วนที่สุด อยู่ในลักษณะโปร่งบางไม่อวบอ้วนเหมือนพระพุทธรูปที่พระธาตุเจดีย์วัดป่าสัก ความได้สัดส่วนของพระพุทธรูปที่วัดมุงเมืองนี้เป็นหลักฐานว่าต้องได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบสุโขทัยเข้าไปอย่างเต็มที่ หรือน่าคิดไปอีกทางหนึ่งว่าเป็นฝีมือช่างชาวสุโขทัยไปทำขึ้น แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายอยู่ว่าไม่พบพระพักตร์ที่สมบูรณ์เลย แม้พระพุทธรูปปูนปั้นจากวัดนี้ซึ่งจัดว่าค่อนข้าวงจะสมบูรณ์ที่สุดได้นำเข้าไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเชียงแสน ตามบัญชาของท่านอธิบดีกรมศิลปากร พระพักตร์ของพระพุทธรูปองค์นั้นก็บุบสลายเสียหมดแล้ว และสังเกตเห็นว่าได้รับการซ่อมแซมเพิ่มเติมมาแล้วด้วย พระธาตุเจดีย์วัดมุงเมืองนี้โดยเฉพาะส่วนแท่งสี่เหลี่ยมทรงสูงมีซุ้มจระนำทั้งสี่ด้านนั้น อยู่ในลักษณะย่อมุมไม้สิบสอง
ส่วนบน คือส่วนที่อยู่เหนือซุ้มจระนำขึ้นไปองค์ระฆังทรงกลม ส่วนยอดได้หักหายไป ไม่อาจทราบได้ว่าจะมีพระเจดีย์ขนาดเล็กประจำมุมทั้งสี่เหมือนพระธาตุเจดีย์วัดป่าสักหรือไม่เพราส่วนนี้มีความชำรุดทรุดโทรมมาก
ผมคว้าจักรยานจูงข้ามถนนตรงไปยัง “วัดเจดีย์หลวง” ซึ่งอยู่เยื้อง ๆ กับที่ทำการไปรษณีย์ เฉพาะตรงสี่แยกนี้ก็เป็นที่ตั้งของวัด ๓ วัด และติดกับวัดเจดีย์หลวงก็เป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ…
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น