วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

FB Trip ไปอุบล - วัดทุ่งศรีเมือง



"วัดทุ่งศรีเมือง" เป็นวัดเก่าแก่ประจำจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่เลขที่ ๙๕  ถนนหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง ทางด้านทิศตะวันออกของทุ่งศรีเมือง... 


ปั่นจักรยานเที่ยวเมืองอุบลฯ ตั้งแต่ตี ๕ จนใกล้เที่ยง พละกำลังยังคงพอมีเหลือแต่พลังแบตเตอรี่กล้องถ่ายรูปใกล้หมดแล้ว ผมหวังว่าจะเก็บภาพวัดทุ่งศรีเมืองได้บ้าง ก่อนเช็คอินเข้าที่พักที่ราชบุตรโฮสเทล...


เลี้ยวจักรยานเข้าไปจอดไว้ที่ข้างวิหารหลังใหญ่ (1)...







ไม่ได้ขึ้นบันไดไปดูบนวิหารซึ่งทราบทีหลังว่าประดิษฐาน “พระเจ้าใหญ่ศรีเมือง” พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดหน้าตักกว้าง ๒.๓๙ เมตร  ผมเดินไปยังหอไตรกลางน้ำ (2)...


เว็บ guideubon.com กล่าวว่า...
หอไตรกลางน้ำ วัดทุ่งศรีเมือง สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าพรหมราชวงศา (กุทองสุวรรณกูฏ) เจ้าเมืองอุบลราชธานี คนที่สามตามเอกสารระบุว่า ท่านเจ้าคุณอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย หลักคำ) เจ้าคณะเมืองอุบลราชธานี ซึ่งพำนักอยู่ที่วัดมหาวนาราม(วัดป่าใหญ่) เป็นผู้อำนวยการสร้าง โดยวัตถุประสงค์ในการสร้างคือ เพื่อเก็บรักษาพระไตรปิฏก ป้องกันไม่ให้ มดปลวกไปทำลาย ซึ่งช่างที่มีชื่อเป็นช่างควบคุมการก่อสร้าง เท่าที่มีชื่อระบุไว้ ได้แก่ ญาครูช่าง ซึ่งเป็นช่างหลวงจากราชสำนักร่วมก่อสร้างด้วย

ลักษณะของหอไตรวัดทุ่งศรีเมือง เป็นหอน้ำ สร้างอยู่กลางสระน้ำ เป็นอาคารเรือนไม้ขนาดกว้าง ๘.๒๐ เมตร ยาว ๙.๘๕  เมตร สูงจากระดับพื้นน้ำถึงถึงยอดหลังคาประมาณ ๑๐ เมตร แปลน รูป สี่เหลี่ยมจตุรัส ยกพื้นสูงใต้ถุนโปร่ง ผนังเป็นแป้นฝาไม้แบบเรียบ เครื่องสับฝาแบบฝาประกนอย่างเรือนไทยภาคกลาง ลูกฝักรองตีนช้างแกะสลักลายประตูเข้าหอไตร อยู่ทางทิศตะวันออกประตูเดียว มีหน้าต่างโดยรอบทั้งหมด ๑๔  ช่อง หลังคาทรงจั่วมีปั้นกรอบ ปีกนอกกว้าง ๒ ชั้น (คล้ายสถาปัตยกรรมเชียงรุ้ง) ส่วนบนหลังคาทรงแบบโบสถ์ไทยมีชั้นลด ๒ ชั้น ช่อฟ้ารวยลำยอง ใบระกา นาคสะดุ้งและหางหงส์แบบภาคกลาง หน้าบันไม้จำหลักลายแบบไทย(ลายดอก)พุดตาน, ลายกระจังรวน, ลายประจำยามก้ามปู ฯลฯ เดิมมุงแป้นไม้มีทวยสลักด้วยไม้ค้ำยันชายคาปีกนอกโดยรอบ จำนวน ๑๙ ตัว ๒ ตัว ด้านด้านหน้าข้างประตูเข้าสลักหัวทวยเป็นเทพพนมอีก ๑๗ ตัวเป็นรูปพญานาค
(ข้อมูลละเอียดดีจริง ขอขอบคุณ guideubon.com)




 


จากนั้นก็ไปที่พระอุโบสถหรือหอพระพุทธบาท (3)...





ภายในอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพเทพชุมนุม พุทธประวัติตอนผจญมารและปรินิพพาน ภาพชาดกปาจิตต์กุมารและมหาเวชสันดรกัณฑ์ต่าง ๆ...





อ้าว...แบตฯ หมดซะแล้ว!  เก็บภาพ "วัดทุ่งศรีเมือง" ได้แค่นี้เองครับ!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น