เรื่องราวของวัดวาอาราม ผลพลอยได้จากทริปล้างพิษฯ ในจังหวัดกาญจนบุรี ได้ปิดฉากลงแล้ว! ผมจะกลับไปเขียน "Travellin' light ไปเวียดนามและเขมร" ต่อรึ ก็ยังหาไฟล์ภาพไม่เจอ วันนี้จึงแก้ขัดด้วยการนำเรื่องวัด "จามเทวี" ในลำพูนมาลง...
อ่านป้ายก่อนเด้อ ผมพิมพ์มาให้เพื่อน ๆ ได้อ่านง่าย ๆ แล้ว...
ประวัติความเป็นมาวัดจามเทวีวัดจามเทวี เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญของถิ่นเมืองเหนือล้านนาอีกวัดหนึ่ง ชาวบ้านเรียกกันว่า "วัดกูกุด" ไม่ปรากฏชื่อผู้สร้าง บางแห่งก็ว่าพระนางจามเทวีทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๒๙๒ พระนางจามเทวีบวชเป็นชีที่วัดนี้ เมื่อพระชมมายุ ๖๐ ปี จนถึงพระชนมายุ ๙๒ ปีได้สละสังขาร ภายในวัดมีเจดีย์ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และศิลปกรรมอยู่ ๒ องค์ด้วยกัน สุวรรณเจดีย์จังโกฏิ รูปแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมก่อด้วยศิลาแลง องค์เจดีย์มีลักษณะเป็นทรงเหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ๕ ชั้น แต่ละชั้นมีพระพุทธปางประทานอภัยประทับยืนอยู่ตามซุ้มด้านละ ๓ องค์ ทั้ง ๔ ด้าน รวมทั้งหมด ๖๐ องค์ ภายในพระเจดีย์บรรจุอัฐิของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญชัย ต่อมาจะเป็นสมัยใดไม่ทราบแน่ชัด ยอดพระเจดีย์ได้หักหายไป ชาวบ้านจึงเรียกว่า "กู่กุด" เจดีย์เป็นแบบศิลปะหริภุญชัย ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะทวารวดีตอนปลาย เจดีย์มีรูปคล้ายกับสัตตมหาปราสาทที่เมืองโบลนนาลวะ ประเทศศรีลังกา นอกจากนี้ยังมีรัตนเจดีย์ เจดีย์ทรง ๘ เหลี่ยม ตั้งอยู่ทางขวามือของวิหาร สร้างขึ้นราวสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๗ โดยพระยาศรรพสิทธิ์ เมื่อปี พ.ศ. ๑๒๙๘ และมีกู่ครูบาเจ้าศรีวิชัยอิริยาบถยืนทั้ง ๔ ด้าน ๔ ทิศ และเป็นสถานที่พระราชทานเพลิงศพครูบาเจ้าศรีวิชัยด้วยดูเจดีย์กันก่อน...
ทีนี้เราก็ไปดู "รัตนเจดีย์" ซึ่งอยู่ทางขวามือของวิหาร ฐานล่างสุดเป็นรูป ๘ เหลี่ยมเส้นผ่าศูนย์กลาง ๔.๔๐ เมตร ตัวพระเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่ละเหลี่ยมเจาะเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืน ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์
ให้อ่านป้ายอีกแย้ว...
รัตนเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงปราสาทในผัง ๘ เหลี่ยม มีเรือนธาตุในผังแปดเหลี่ยมซ้อนกัน ๒ ชั้น พระพุทธรูปที่ประดิษฐานภายในซุ้มจระนำชั้นที่ ๑ เป็นพระพุทธรูปประทับยืนยกพระหัตถ์ พระกรส่วนล่างชำรุด แต่ยังแสดงลักษณะของการยกพระหัตถ์ออกสองด้าน เรือนธาตุชั้นที่ ๒ ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่ง แสดงปางสมาธิศิลปะหริภุญไชยที่ได้รับอิทธิพลของศิลปะทวารดีภาคกลาง
ใน พ.ศ. ๒๔๖๙ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จมาพบศิลาจารึกอักษรมอญ (จารึกวัดกู่กุด/ลพ๒) บริเวณฐานเจดีย์กู่กุดและรัตนเจดีย์นี้ ข้อความในจารึกกล่าวถึงการปฏิสังขรณ์รัตนเจดีย์ที่พังทลายลง เนื่องจากเหตุแผ่นดินไหว แต่ปัจจุบันเชื่อว่า "รัตนเจดีย์" ที่ระบุในจารึกคือเจดีย์กู่กุด ส่วนเจดีย์แปดเหลี่ยมนี้ ไม่มีประวัติปรากฏเป็นหลักฐานในเอกสารใด ๆ แต่จากรูปแบบสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่ปรากฏเชื่อว่าสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘
จากเมืองกาญจน์ทะยานมาหริภุญชัย... เอ้าว่าไป้! ข้อสำคัญเพื่อน ๆ อย่าเบื่อละกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น