ก่อนกลับไปคุยเรื่องเวียดนามและเขมร ผมขอเรื่องวัดในลำพูนอีกซักวัด เป็นวัดเก่าวัดแก่เช่นกัน ชื่อว่า "วัดมหาวัน" (1) ตั้งอยู่เลขที่ ๒ ถนนจามเทวี ตำบลในเมือง จังหวัดลำพูน เดิมชื่อวัดมหาวนาราม
บนเส้นทางไปวัดจามเทวี (2) ห่างจากคูเมืองนิดเดียว วัดมหาวัน (1) อยู่ตรงมุมถนน ป้ายคำขวัญของวัดเห็นได้ชัดเจน...
มีป้ายให้อ่านอีกแล้ว...
วัดมหาวันวนาราม อำเภอเมือง เป็นวัดสำคัญเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่ครั้งพระนางจามเทวีขึ้นครองนครหริภุญไชย เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๒๐๐ เศษ และได้อัญเชิญพระพุทธรูปนาคปรกหรือพระศิลาดำจากเมืองละโว้มาไว้ที่วัดนี้ ชาวเมืองเรียกกันว่าพระรอดหลวง หรือพระรอดลำพูน ซึ่งต่อมาได้เป็นแบบพิมพ์ในการจำลองทำพระเครื่องที่ลือชื่อกรุหนึ่ง คือ พระรอดมหาวัน
วัดมหาวันฯ ได้เจริญรุ่งเรืองมาหลายชั่วกษัตริย์ จนร้างไประยะหนึ่งเพราะศึกสงคราม จนสมัยพระยาสรรพสิทธิ์โอรสของพระยารถราชได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดนี้เมื่อ พ.ศ. ๑๔๒๐ ได้มีการซ่อมแซมและสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่องค์หนึ่ง สิ่งสำคัญในวัดนี้ได้แก่ พระเจดีย์องค์ใหญ่สร้างครอบฐานพระเจดีย์องค์เดิมไว้ พระอุโบสถและพระวิหารที่ได้รับการบูรณะใหม่แล้ว
ประวัติวัดมหาวัน ไม่ต้องไปหาจากอินเทอร์เน็ต...ผมจิ้มนิ้วพิมพ์ให้เพื่อน ๆ อ่านดีกว่า!
วัดมหาวัน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน สร้างขึ้นราว พ.ศ. ๑๒๐๐ เศษ พระนางเจ้าจามเทวีเสวยราชเป็นปฐมกษัตริย์ครองเมืองหริภุญชัยหรือจังหวัดลำพูนในปัจจุบันได้โปรดชักชวนอาณาประชาราษฎร์ร่วมกันสร้างวัดขึ้น ๔ มุมเมือง เพื่อเป็นที่จำพรรษาของพระสงฏ์ที่อาราธนามาจากกรุงละโว้ (ลพบุรี) วัดมหาวันเป็น ๑ ใน ๔ วัดที่สร้างเป็นพระอารามหลวงในสมัยนั้น เรียกชื่อว่า "วัดมหาวราราม" ตั้งอยู่ประตูเมืองด้านตะวันตก หมู่บ้านนี้จึงมีชื่อเรียกว่าบ้านประตูมหาวัน โดยพระแม่เจ้าเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก เมื่อสิ้นสุดรัชสมัยพระแม่เจ้าวัดวาอารามขาดการทำนุบำรุง จึงได้ร่วงโรยไปตามกาลสมัย จนล่วงเลยมาถึง พ.ศ. ๒๔๐๐ สมัยท่านครูบาอุปนันท์เป็นเจ้าอาวาสจึงได้ทำนุบำรุงขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง และเจริญขึ้นตามลำดับ จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๓ ท่านเจ้าคุณพระญาณมงคล (ฟู) ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดและเจ้าอาวาส การพัฒนาทุกด้านจึงเจริญขึ้นตามลำดับ เป็นที่ตั้ง ร.ร. ปริยัติธรรมแห่งแรกของจังหวัดลำพูน ถาวรวัตถุของวัดที่ปลูกสร้างเก่าแก่สมัยพระแม่เจ้าที่เหลือคือฐานเจดีย์ที่บรรจุพระรอด อยู่ด้านหลังพระวิหารด้านใน พระเจดีย์องค์ปัจจุบันที่ก่อครอบฐานพระเจดีย์องค์เดิมที่ได้ปรักหักพังลง พระรอดจึงกระจัดกระจายไปทั่วบริเวณวัด สักขีพยานของพระรอดยังปรากฏเป็นปูชนียวัตถุที่ล้ำค่าที่พระแม่เจ้าได้รับพระราชทานจากพระราชบิดา (พระเจ้าลพราช) มาเป็นศิริมงคลและเป็นสักขีพยานในการขึ้นครองเมือง ชาวบ้านชาวเมืองเรียกพระองค์นี้ว่าพระรอดหลวง หรือแม่พระรอด หน้าตักกว้าง ๑๗ นิ้ว ประดิษฐานอยู่ในวิหารบนแท่นแก้วหน้าพระประธานโดยเรียกชื่อพระรอดองค์นี้ว่า "พระพุทธสักขีปฏิมากร" ทำด้วยกาฬศิลา จึงเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองลำพูนมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาพระนางเจ้าจามเทวีได้โปรดให้ฤาษีนารอด (นารท) เป็นผู้จัดสร้างพระขึ้นมา เรียกตามชื่อฤาษีว่า พระรอด เมือสร้างเสร็จส่วนหนึ่งจึงบรรจุไว้ในเจดีย์องค์เดิมที่อยู่หลังวิหาร ปัจจุบันส่วนหนึ่งนำออกแจกจ่ายให้ไพร่ฟ้าประชาชน และเพื่อคุ้มครองบ้านเมืองให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขปลอดภัยจากข้าศึกศัตรู ปัจจุบันจึงมีผู้หาไว้ติดตัวไว้เพื่อสักการะบูชาพิมพ์ซะเมื่อยนิ้ว เพื่อน ๆ ก็อ่านจนตาลาย...เราไปดูของจริงกันดีกว่า
เดินไปด้านหลังวิหาร...
หลังวิหารต้องมีพระเจดีย์แน่!...
นั่นคงจะเป็นหอไตร...
ยังมีภาพอีกนะ แต่ขอโพสต์เพียงแค่นี้ ถ้าเพื่อน ๆ อยากเห็นมากกว่านี้ คงต้องไปดูด้วยตัวเองแล้วล่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น