วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2568

วิหารวัดสวนตาล จ.น่าน

วิหารวัดสวนตาล (4) ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 14 เมตร ยาว 25 เมตร กล่าวว่าสร้างเมื่อ พ.ศ.1955 ที่ผมได้มาเห็นในวันนี้ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์เรียบร้อยแล้ว
 
 

 

มองเห็นพระประธานภายในวิหารแต่ไกล ๆ


บันไดนาคกว้างเต็มพื้นที่วิหารนำทางขึ้นสู่มุขหน้า พร้อมราวบันไดสแตนเลสให้ตาแก่เมืองรถม้าได้พยุงกายขึ้นเก็บภาพมาฝากเพื่อน ๆ เริ่มที่พญานาคชูคอสูงก่อนเลย (ผมเห็นหลายวัดในเมืองน่านมีบันไดนาคแบบนี้)
 
 

 
หน้าบันลวดลายวิจิตร.. 



มุขหน้าวิหารนั้นกว้างเอาการ...

 
 
พญานาคทอดตัวอยู่บนขอบระเบียง ใกล้ ๆ กันมีป้ายบอกเป็นนัย ๆ ว่าสุภาพสตรีที่นุ่งสัันเข้าไปในวิหารไม่ได้...


สำหรับตาแก่นุ่งกุงเกงสะดอสั้นแค่เข่าคงไม่มีปัญหา ไม่เชื่อถามเจ้าเหมียวดูก็ได้!

 
แหงนหน้าดูเพดานมุขหน้า...
 


 
แล้วเดินผ่านประตูที่เปิดอยู่เข้าไปทันที...

นาฬิกาบอกเวลา 07.09 น.


มีสมุดเยี่ยมด้วย!

พระเจ้าทองทิพย์เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง ๑๐ ฟุต สูง ๑๔ ฟุต ๔ นิ้ว สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราชเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ หนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร หน้า 415 เขียนว่า..

เมื่อพระเจ้าติโลกราชยึดเมืองได้แล้ว ได้ปรึกษาเหล่านายทัพนายกองและเสนาอำมาตย์ว่า การที่กองทัพของพระองค์เข้ายึดเมืองไว้ได้ในครั้งนี้ มิได้สู้รบให้เสียเลือดเสียเนื้อกำลังไพร่พล เหมือนกับว่ามีเทพเจ้าเข้ามาช่วยเหลือ จึงเห็นควรให้สร้างอะไรไว้อย่างหนึ่งเพื่อเป็นอนุสรณ์สักขีพยานในชัยชนะ จึงตัดสินพระทัยที่จะสร้างพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสำริด พระเจ้าทองทิพย์ขึ้นในปี พ.ศ. ๑๙๘๗ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปทองสำริดองค์ใหญ่ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๑๐ ฟุต สูง ๑๔ ฟุต ๔ นิ้ว (๔.๑๑ เมตร) ในการสร้างพระพุทธรูปหล่อด้วยทอง พระองค์ได้โปรดให้ช่างทั้งหลาย อาทิ พม่า เงี้ยว และชาวเมืองเชียงแสนกระทำพิธีหล่อหลอมทอง และพิธีหล่อองค์พระพุทธรูปด้วยช่างได้หล่อทองเทเข้าเบ้าพิมพ์หลายครั้งหลายหนแต่ไม่สำเร็จเพราะเบ้าพิมพ์แตกเสียทุกครั้ง ในที่สุดก็มีชายชราแปลกหน้านุ่งขาวห่มขาวมาช่วยทำ จึงสำเร็จเรียบร้อยสมปรารถนา เมื่อสร้างพระพุทธรูปเสร็จแล้วพระเจ้าติโลกราชทรงจัดให้มีการสวดปริตถมงคล และจัดให้มีงานมหกรรมเฉลิมฉลองทำบุญเป็นการใหญ่มโหฬารยิ่ง ส่วนชายชรานั้นก็หายสาบสูญไป ไม่มีผู้ใดพบเห็นอีกเลย ประชาชนชาวเมืองต่างโจษขานกันว่าเป็นเทพยดาแปลงกายลงมา ช่วย จึงได้ขนานพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระพุทธรูปทองทิพย์ หรือ พระเจ้าทองทิพย์ ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

 
 
 
 
 


















ผนังด้านหลังวิหารมีประตูอยู่ตรงกลาง ขนาบข้างด้วย 2 หน้าต่างซ้ายขวา...


ทุก ๆ วัน รถรางจะพานักท่องเที่ยวมาแวะวัดสวนตาล...

 
ก่อนให้นักท่องเที่ยวลง อยากให้มัคคุเทศก์บรรยายเกี่ยวกับพระเจ้าทองทิพย์ด้วย จักเป็นการดียิ่ง!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น