วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2558

พิพิธภัณฑ์สงครามอักษะและเชลยศึก กาญจนบุรี


ออกไปตามถนนไชยชุมพล (1)... ผมขี่จักรยานผ่านซุ้มประตู (2) วัดไชยชุมพลชนะสงครามหรือวัดใต้


ทางด้านซ้ายมือเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สงครามอักษะและเชลยศึก (JEATH War Museum)


นำจักรยานเข้าจอด (3) แล้วตรงไปที่ช่องจำหน่ายบัตรซึ่งมีป้ายบอกว่าค่าเข้าชมคนละ ๕๐ บาท...


รู้ว่าถ้าเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ...ผู้สูงอายุเข้าชมฟรี ผมสอบถามว่าที่นี่ต้องซื้อตั๋วหรือเปล่า?  ชายซึ่งนั่งอยู่ข้างในมองหน้าผมยิ้ม ๆ แล้วพยักหน้าอนุญาตให้เช้าชมได้โดยไม่ต้องเสียค่าผ่านประตู (ขอบคุณครับ)  เดินเข้าไปภายในบริเวณพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์...ทางด้านซ้ายผมเห็นเจ้าลูกระเบิดที่ทิ้งลงมาจากเครื่องบินถูกนำมาตั้งแสดงไว้ใกล้ ๆ กับอาคารส่วนที่ ๓


ด้านขวาเป็นอาคารส่วนที่ ๒ (4)


มีแผนที่เส้นทางรถไฟสายมรณะขนาดใหญ่ตั้งอยู่ด้านหน้า....


มีตู้จัดเก็บอาวุธและข้าวของเครื่องใช้ ซึ่งไม่อนุญาตให้เข้าไปถ่ายภาพ....


ถัดไปคือส่วนที่ ๑ ซึ่งเป็นกระท่อมจำลองแบบค่ายเชลยศึก....




ต้องอ่านป้าย "ยกโทษให้...แต่ไม่ลืม (forgive.... but not forget)" ซะหน่อย....
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ถูกก่อตั้งขึ้นโดยท่านเจ้าคุณพระธรรมคุณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดไชยชุมพลชนะสงคราม เมื่อ พส.ศ ๒๕๒๐ โดยประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ มีจุดประสงค์ในการก่อตั้งดังต่อไปนี้...
-เพื่อเก็บรวบรวมเอกสารหลักฐานอันเกี่ยวกับการก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะและสะพานข้ามแม่น้ำแควให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน
-เพื่ออุทิศคุณความดีให้แก่เชลยสงครามกว่า ๑๖,๐๐๐ คนและคนงานท้องถิ่นชาวเอเซียกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คนที่ต้องเสียชีวิตจากการก่อสร้างทางรถไฟสายยุทธศาสตร์ กาญจนบุรี-พม่า ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ กระทั่งทางรถไฟสายนี้ได้รับการขนานนามว่า "ทางรถไฟสายมรณะ"
- เพื่อเตือนให้อนุชนรุ่นหลังได้ประจักษ์ถึงผลร้ายของสงคราม อาคารของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างตามแบบค่ายเชลยสงครามในสมัยสงครามโลก โครงสร้างอาคารทำด้วยไม้ไผ่ฝาขัดแตะด้วยไม้รวก หลังคามุงด้วยจาก พื้นปูด้วยฟากไม้ไผ่ ภายในอาคารได้เก็บรวบรวมภาพถ่ายและภาพเขียนในแง่มุมต่าง ๆ ของเชลยสงครามจากชีวิตและเหตุการณ์จริงโดยเชลยสงครามที่รอดตาย

เค้าห้ามถ่ายรูปภายในอาคาร จึงขอแทนด้วยภาพบรรยากาศริมปากน้ำแม่กลองเมื่อแม่น้ำแควใหญ่และแควน้อยไหลมาบรรจบกัน ผมเห็นต้นไม้ใหญ่ (5) ยืนตะหง่านอยู่ข้าง ๆ ทางลงท่าเทียบเรือ (6)...





ความสงบสุขเข้ามาแทนที่ความรุนแรงในอดีต สิ่งที่เหลืออยู่คือประวัติศาสตร์ที่จะต้องจดจำไว้เป็นบทเรียน ผมหวังว่าความเลวร้ายของสงครามจะไม่กลับมาอีก เพื่อว่าเราทุกคนจะได้มายืนดูภาพเช่นนี้ได้อีกนานเท่านาน...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น