วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2558

พระบรมธาตุหริภุญชัย

ก่อนก้าวเดินผ่านซุ้มประตูโขงไปยังวัดอื่น... ผมขอหยุดอยู่ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยอีกสักพัก อยากให้เพื่อน ๆ ได้ดูภาพพระบรมธาตุ หอระฆัง หอไตร และเขาพระสุเมรุจำลอง!



พระบรมธาตุหริภุญชัย ตั้งอยู่หลังวิหารหลวง ประดิษฐานพระเกศธาตุบรรจุในโกศทองคำเจดีย์ ประกอบด้วยฐานปัทม์ แบบฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จ ต่อจากฐานบัวลูกแก้วเป็นฐานเขียงกลมสามชั้น ตั้งรับองค์ระฆังกลม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม เจดีย์มีลักษณะใกล้เคียงกับพระธาตุดอยสุเทพที่จังหวัดเชียงใหม่ มีสัตถบัญชร (ระเบียงหอก ซึ่งเป็นรั้วเหล็กและทองเหลือง) ๒ ชั้น สำเภาทองประดิษฐานอยู่ประจำรั้วชั้นนอกทั้งทิศเหนือและทิศใต้ มีซุ้มกุมภัณฑ์ และฉัตรประจำสี่มุม หอคอยประจำทุกด้านรวม ๔ หอ บรรจุพระพุทธรูปนั่งทุกหอ นอกจากนี้ยังมีโคมประทีป และแท่นบูชาก่อประจำไว้เพื่อเป็นที่สักการบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป พระบรมธาตุนี้นับเป็นปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งในล้านนามาตั้งแต่สมัยโบราณ ในวันเพ็ญเดือน ๖ จะมีงานนมัสการ และสรงน้ำพระบรมธาตุทุกปี   ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อ พ.ศ.๑๔๔๐ พระเจ้าอาทิตยราชกษัตริย์วงศ์รามัญผู้ครองนครลำพูนได้สร้างมณฑปครอบโกศทองคำบรรจุพระบรมธาตุไว้ภายใน และมีการสร้างเสริมกันต่อมาอีกหลายสมัย ต่อมาใน พ.ศ.๑๙๘๖ พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้ปฏิสังขรณ์บูรณะเสริมองค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่เป็นแบบลังกา ซึ่งปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ (ที่มา - madchima.org)










หอระฆังงามแท้...




หอไตรหรือหอธรรม...



เขาพระสุเมรุจำลอง ตั้งอยู่ข้างวิหารหลวง หน้าหอไตร....



อ่านป้ายกันหน่อยนะ...
เขาพระสุเมรุไม่ปรากฏประวัติการก่อสร้างชัดเจน แต่พบหลักฐานจากภาพถ่ายเก่าว่า ตั้งอยู่หน้าหอพระไตรปิฎก ของวัดพระธาตุหริภุญชัยฯ มาแต่โบราณ
รูปแบบสถาปัตยกรรมประกอบด้วยฐานเขียงกลมซ้อนกัน ๓ ชั้น รองรับท้องไม้ประดับด้วยลูกแก้วอกไก่และกรอบช่องกระจก เหนือขึ้นไปเป็นบัวหงายขึ้นรับเขาพระสุเมรุ ซึ่งประกอบด้วยสัตตบริภัณฑ์คีรี และมหานทีสีทันดร จำลองด้วยแผ่นทองสำริดดุนนูนศิลปะหริภุญไชยเป็นลวดลายต้นไม้ เทพยดา สัตว์ป่า และเหล่าอสูรซ้อนเหลี่ยมกัน ๗ ชั้น ชั้นบนสุดประดับด้วยไพชยนต์มหาปราสาทซึ่งเปรียบเสมือนที่ประทับของพระอินทร์
เขาพระสุเมรุนี้สร้างขึ้นตามคติความเชื่อเรื่องแกนกลางของโลกและจักรวาล ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดียในยุคพระเวทย์ ต่อมาได้แพร่หลายเข้ามาในกลุ่มประเทศแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่นับถือพุทธศาสนาและเชื่อว่าน่าจะแผ่เข้ามายังอาณาจักรล้านนาพร้อมพุทธศาสนาลังกาวงศ์ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑



ยังมีเจดีย์อีกองค์ที่น่าสนใจคือ สุวรรณเจดีย์ หรือ เจดีย์ปทุมวิดี  ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวไว้ว่า...
สร้างโดยพระนางปทุมวดีอัครมเหสีของพระเจ้าอาทิตยราช พร้อมกับพระเจ้าอาทิตยราชทรงสร้างพระธาตุหริภุญชัยในราว พ.ศ. ๑๖๐๗ ส่วนตำนานมุูลศาสนาระบุเพิ่มเติมว่าในครั้งนั้นทรงโปรด ฯ ให้ประดับทองคำบริเวณส่วนยอดของเจดีย์ จึงได้ชื่อว่าสุวรรณเจดีย์... เป็นเจดีย์ก่ออิฐแต่ฐานก่อด้วยศิลาแลง มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมซ้อนเหลื่อมกัน ๓ ชั้น รองรับเรือนธาตุที่มีซุ้มจระนำซ้อนลดหลั่นกัน ๔ ชั้น ภายในซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป ปูนปั้นประทับยืนแสดงปางประทานอภัย ศิลปะหริภุญไชยอายุราวพุทธสตวรรษที่ ๑๗-๑๘ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เมืองหริภุญไชยมีความเจริญอย่างสูงสุดทั้งด้านการค้า ศาสนา และศิลปะวิทยาการ




ชักจะหิวซะแล้ว... ผมคงต้องหาอะไรใส่ท้องก่อนที่จะสำรวจนครหริภุญชัยต่อไป!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น