วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

วัดปางม่วง อำเภอห้างฉัตร

ก่อนเขียนเรื่อง "Travellin' light ไปสุมาตรา" การผจญภัยซึ่งกำลังจะเริ่มในเดือนเมษายนนี้... ผมขอเขียนเรื่องวัดต่ออีกวันนะครับ!


"วัดปางม่วง" ตั้งอยู่บ้านปางม่วง หมู่ ๙ ตำบลห้างฉัตร เป็นวัดเก่าสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๐ ชาวบ้านเรียกกันว่า "วัดพระธาตุปางม่วง"


จากสี่แยกห้างฉัตร (1)  เพื่อน ๆ ขับรถไปถึงสี่แยกไฟแดง (ถนนลำปาง-ห้างฉัตร) (2)  ให้ตรงไปยังบ้านแม่ฮาว ข้ามทางรถไฟ (3) แล้วเลี้ยวซ้าย ขับตรงไปอีกเล็กน้อยถึงทางแยกไปบ้านวอแก้ว (4) ไม่ต้องเลี้ยวนะครับ  ขับตรงไปเรื่อย ๆ ในที่สุดก็จะถึงวัดปางม่วง (5)  รวมระยะทางประมาณ ๙ กิโลเมตร...


ซุ้มประตูตั้งเด่นอยู่ข้างหน้า ไม่ต้องกลัวว่าจะหาไม่เจอ...


ขับรถขึ้นไปตามทางเลยครับ...


วัดปางม่วงตั้งอยูบนภูเขาลูกเล็ก...


วัดนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นปูชนียสถานโบราณทางศาสนาอันดับ ๗ เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๓  เว็บห้องสมุดประชาชนอำเภอห้างฉัตรได้ลงประวัติความเป็นมาของวัดปางม่วงไว้น่าสนใจดังนี้...
โดยอดีตกาลประมาณ ๑,๔๐๐ กว่าปี สมัยพระนางจามเทวี ผู้ครองนครหริภุญชัย หรือจังหวัดลำพูนในปัจจุบัน ได้มาประทับเมืองเวียงตาลซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอห้างฉัตร ซึ่งมีพระโอรสองค์ที่ ๒ เป็นเจ้าเมือง ได้สุบินว่ามีชีปะขาวรูปหนึ่ง ชรอยว่าเป็นท้าวสักกะเทวราชจำแลงกายมาทูลพระนางว่าที่บนดอยกุโสนั้นมีพระเกศาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ เส้นบรรจุอยู่ พระนางจึงเล่าสุบินนิมิตให้แก่พระราชบุตรผู้เป็นเจ้าเมืองฟัง พระราชบุตรจึงให้ข้าราชบริพารออกตรวจค้นหาดอยกุโสไม่นานก็พบว่าอยู่ตรงข้ามตำบลห้วยตาน พระนางจามเทวีจึงรับสั่งให้พระราชบุตรเตรียมไพร่พลไปตั้งปางตรงจุดที่ต้นมะม่วง ทำพิธีเฉลิมฉลองเจ็ดวันเจ็ดคืน เริ่มตั้งแต่วันเพ็ญเดือน ๖ ใต้ ซึ่งตรงกับเดือน ๘ เหนือ แรม ๘ ค่ำ กำหนดนี้ได้ปฏิบัติเป็นประเพณีสรงน้ำพระธาตุมาตราบเท่าทุกวันนี้มิได้ขาด การฉลองที่จัดขึ้นในครั้งนั้นเรียกว่า “งานปางม่วน” เพราะมีการละเล่นสารพัดเท่าที่จะมีได้ในยุคนั้น ชาวเมืองอื่นที่อยู่ใกล้เคียงก็มาร่วมม่วนด้วย จึงเรียกติดปากว่า “ปางม่วน” นาน ๆ เข้าก็เลยเพี้ยนมาเป็นปางม่วงจนทุกวันนี้ ต่อมามีนายช่างชาวอินเดียชื่อ นายคาบิเยน โภราค่า ซึ่งเป็นช่างควบคุมงานซ่อมรางรถไฟที่เสียหายจากพายุฝนทำให้ต้องทำการซ่อมให้แล้วเสร็จก่อนวันพีธีเปิดรถไฟสายกรุงเทพ – เชียงใหม่ ได้ร่วมประเพณีสรงน้ำพระธาตุปางม่วง ได้รับรู้เรื่องเล่าความเป็นมาและปาฏิหารย์จากผู้เฒ่าผู้แก่จนเกิดความเลื่อมใสศรัทธา และเห็นว่าบรรดาพุทธศาสนิกชนทุกสารทิศต่างก็ต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง ในการขึ้นไปสักการะบูชาองค์พระธาตุ รวมถึงการถวายอาหารแด่พระสงฆ์สามเณร เพราะทางขึ้นไปนั้นสูง ทั้งไม่มีบันไดต้องปีนป่ายขึ้นอย่างลำบากยากยิ่ง และพิจารณาเห็นว่าองค์พระเจดีย์ที่มีอยู่นั้นเล็กเกินไปไม่สมกับความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชนที่มาสักการบูชาอย่างมาก จึงอยากจะสร้างให้องค์ใหญ่กว่าเก่าแต่ติดขัดที่ตนเองไม่ได้ร่ำรวยจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบเรียนให้เจ้าบุญวาทย์ เจ้าเมืองลำปาง ท่านเจ้าหลวงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา สั่งเบิกเงินจากคลัง ๔ ปีบให้สร้างองค์เจดีย์ตามความประสงค์ และได้แล้วเสร็จก่อนกำหนดวันทำพิธีเปิดรถไฟสายกรุงเทพ – เชียงใหม่ และในวันเปิดทางเดินรถไฟเจ้าบุญวาทย์ได้ขึ้นไปนมัสการพระเจดีย์องค์ใหม่ เกิดความพอใจ แต่ทางขึ้นไปนมัสการไม่สะดวก จึงมอบเงินให้อีก ๘ ปีบให้นายคาบิเยน สร้างบันไดขึ้น และศาลาพักใกล้องค์พระเจดีย์อีกหนึ่งหลัง (บันไดที่นายคาบิเยนสร้างขึ้นคราวนั้น ไม่ได้ราดซีเมนต์อย่างที่เห็นทุกวันนี้ เพียงแต่เอาหินมาเรียงซ้อนกันเป็นขั้น ๆ ขึ้นไปเท่านั้น)
ผมถ่ายภาพเส้นทางสำหรับเดินขึ้นมาให้เพื่อน ๆ ดูด้วย มีอยู่ ๒ ทางคือ ถนนคอนกรีตเล็ก ๆ...


และเส้นทางที่มีบันไดและราวเหล็ก...


ส่วนถนนทางสำหรับพาหนะนั้นค่อนข้างอันตราย เพื่อน ๆ ต้องใช้ความระมัดระวังในการขับขี่...


ขึ้นถึงข้างบนแล้ว จะมองเห็นทัศนียภาพเบื้องล่างได้ชัดเจน (ถ้าไม่มีหมอกควัน) บางครั้งอาจพอดีได้ยินเสียงรถไฟวิ่งผ่านสถานีปางม่วง...




พระธาตุปางม่วงมีลักษณะสถาปัตยกรรมไปทางอินเดีย เพราะผู้สร้างพระธาตุเป็นคนอินเดียชื่อ คาบินเยน โภราด่า (นายช่างคุมงาน) ลักษณะเด่นของพระธาตุคือ มีลวดลายรูปดาบไขว้ปรากฏอยู่  และด้านข้างพระธาตุทั้ง ๔ ด้านมีกระโจมรูปสามเหลี่ยม ยอดประดับด้วยสัญลักษณ์คล้ายหอกสามง่าม...


ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปองค์เล็ก...



ด้านข้างมีศาลาประดิษฐานพระนอน...





มีพระบรมธาตุแช่แห้งจำลองด้วย...


พระอุโบสถก่อด้วยศิลาแลง..






พระประธานภายในอุโบสถ...



ทางขึ้นไปยังรอยพระพุทธบาทวังมะนาว


เห็นมณฑปครอบรอยพระพุทธบาท...







วัดปางม่วงกำลังสร้างวิหารทำด้วยไม้สักทั้งหลัง!!


เจ้าอาวาสวัย ๔๐ ปีกำลังคุมงานก่อสร้างหน้าบัน...



ท่านบอกกับญาติโยมว่า "เดือนพฤษภาฯ มีปอยหลวง...มาเน้อ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น