วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2557

Travellin’ light ไปพม่า – จดหมายจาก Meiktila

มื่อคืนนี้เก็บข้อมูลลงสมุดบันทึก… ผมคัดเอาแต่ที่จำเป็นและมีประโยชน์สำหรับการ improvise เส้นทางในพม่า สมุดบันทึกก็เลือกเอาเล่มที่เบาที่สุดเท่าที่จะหาได้…

ระหว่างเข้าไปค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ดันไปเจอสิ่งที่ตัวเองเขียนไว้เมื่อ ๑๐ ปีก่อน ใน “One of those days”  มันตรงกับที่ผมกำลังจะย้อนรอยกลับไปพอดี ผมได้เขียนไว้ว่า….

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมได้ไปเหยียบแผ่นดินถิ่นพม่าอีกครั้ง แม้จะเป็นแค่เพียงการข้ามสะพานผ่านแดนเข้าไปหาซื้อแผ่นดีวีดีแล้วกลับออกมา แต่บรรยากาศและภาพที่ได้เห็นทางฝั่งโน้นก็ทำให้ผมต้องกลับมานั่งรำลึกถึงการเดินทางไปพม่าครั้งแรกของผมเมื่อปี ๒๕๒๖  ครั้งนั้นมันเป็นการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกในชีวิต ถ้าจะให้เล่าถึงความอ่อนหัดของผม ก็คงจะคุยกันได้เป็นวัน ๆ หรือถ้าจะให้ถ่ายทอดออกเป็นตัวหนังสือเพื่อบรรยายความโง่เขลาของตัวเอง ก็คงจะออกมาเป็น pocket book หนาซัก ๑๐๐ หน้าก็ไม่น่าจะผิด  ผู้คนที่ผมได้พบปะในการเดินทางครั้งนั้น บางคนอาจจะเสียชีวิตไปแล้ว หรือไม่ก็อาจจะแก่ตัวลงไปมาก (เหมือนผม..อิอิ)  คงไม่มีใครจดจำนักเดินทางชาวไทยคนนี้ได้อีก แต่ผมเองยังคงจำได้แทบจะทุกคน ยังอยากจะมีโอกาสได้กลับไปพบเขาเหล่านั้นอีกสักครั้ง เสียดายจริง ๆ ที่ผมไม่มีทุนพอที่จะเดินทางย้อนรอยเดิม กลับไปพร้อมกับรูปถ่ายและที่อยู่เพื่อตามหาผู้ที่อยู่ในภาพ ถ้าหากเจอะเจอ ผมก็อยากจะขอแก้ตัวในสิ่งที่ทำผิดพลาดหรือไม่ดีเท่าที่ควรในอดีต

อย่างเช่นเมื่อปี ๒๕๒๖ วันนั้นผมและเพื่อนนักเดินทางอีกหลายคนต้องออกจากเมืองพุกามแต่เช้ามืด เพื่อเดินทางไปยังสถานีรถไฟ Thazi จากที่นั่น บางคนจับรถไฟขึ้นเหนือไปยังมัณฑะเลย์ บางคนอาจจะเลือกไปเที่ยวเมือง Taunggyi ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก ส่วนผมต้องกลับไปย่างกุ้งเพราะการเดินทางในพม่ากำลังจะสิ้นสุดลงแล้ว ทางการพม่าเค้าอนุญาตให้อยู่ได้แค่ ๗ วัน ทุกคนจึงต้องรีบเที่ยว ๆๆๆ ภายในระยะเวลาที่มีจำกัด จากนั้นก็ต้อง “ออกไป้!” หนึ่งสัปดาห์ในพม่าผมนอนที่ไหนมาแล้วบ้างน้า? ลองคิดก่อนนะ อ่อ..คืนแรกนอนที่โรงแรมเก่าชื่อ Garden Hotel ในย่างกุ้ง คืนที่สองนอนบนรถไฟไปมัณฑะเลย์ คืนที่ ๓ นอนที่ Mea Tarma Hotel ในมัณฑะเลย์ คืนที่ ๔ นอนที่เกสต์เฮ้าส์เมือง Pakokku จุดพักของเรือโดยสารจากมัณฑะเลย์-พุกาม คืนที่ ๕-๖ นอนที่ Sithu guest-house ในพุกาม คืนสุดท้ายผมต้องนอนในย่างกุ้ง  การเดินทางคนเดียว นอกจากเราจะต้องดูแลตนเองและระมัดระวังทุกอย่างโดยไม่มีเพื่อนคู่คิดแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราจะโหยหาคือ เมื่อกลับมาแล้ว เราไม่สามารถมีเพื่อนที่จะคุยถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาด้วยกันได้อย่างถึงพริกถึงขิง ทำได้ก็แค่เพียงนำเรื่องราวมาถ่ายทอดลงบนตัวหนังสืออย่างที่ผมกำลังทำอยู่นี่แหละ ถึงอย่างไรผู้อ่านก็ไม่มันส์ในอารมณ์เท่ากับได้ไปเจอด้วยตนเอง

การเดินทางด้วยรถตู้จากพุกาม ผ่านเมือง Meiktila นั้นราบรื่นดี เสียดายที่ออกเดินทางกันตั้งแต่ตีสี่ จึงทำให้ไม่ได้เห็นภาพสองข้างทาง ผู้โดยสารส่วนใหญ่นั่งหลับต่อ จนถึงสถานีรถไฟ Thazi เมื่อเวลา ๗.๓๐ น.  ดูรูปที่สถานีรถไฟนี่สิครับ… เจ้าหมอที่ใส่เสื้อนักปฏิบัติธรรมนั่น สวมรองเท้าแตะ ดูไม่ออกเลยว่าเป็นนักเดินทางจากประเทศสยาม ไม่มีเป้ ไม่มีถุงนอน ไม่มีอุปกรณ์อะไรทั้งนั้น (นี่เป็นข้อผิดพลาดที่จะลืมไม่ได้เลย) ที่สถานีรถไฟ ผมต้องอยู่รอรถไฟจากมัณฑะเลย์นานเป็นชั่วโมง ผมซื้อผลไม้ กาแฟและโรตีกินเป็นอาหารเช้า วันนั้นผมได้รู้จักเพื่อนชาวพม่าอีกสองคน คนหนึ่งชื่อ Daw Ah Shwin อยู่ที่สำนักงานกรมชลประทาน เมือง Meiktila คนนี้ผมแน่ใจว่า ถ้าได้ไปเยือนพม่าอีกครั้ง ผมหาตัวได้แน่นอน… และยังมีอีกคนหนึ่ง คือคุณป้า Daw Tin Tin เป็นครูสอนในโรงเรียนมัธยมที่ Meiktila เช่นกัน คนนี้แหละ…เป็นคริสเตียนซึ่งบอกผมว่าท่านมีหลานสาว (สวย…บอกด้วยนะ) ถ้าอยากได้เป็นเมียละก้อ ผมจะต้องแต่งงาน แล้วพาเธอออกจากประเทศพม่าไปอยู่เมืองไทย…. นี่เป็นเรื่องจริงนะ ท่านก็ไม่ได้พูดเล่น ๆ และภาษาอังกฤษที่ท่านพูดก็ฟังได้ชัดเจน ผ่านมาตั้ง ๒๒ ปีแล้ว ผมยังจำคำพูดของคุณป้าได้ แม้แต่..คำเตือนให้ระวังเมื่อเห็นผมใช้มีดเล็ก ๆ ปอกผลไม้ว่า “Mind your hand”   มีรูปด้วยนะ แต่ยังหาไม่เจอ! จดหมายที่ติดต่อกันภายหลังจากที่ผมเดินทางกลับเมืองไทยแล้วก็มี แต่หาไม่เจอเหมือนกัน(อีกแล้ว อิอิ) ผมยังเชื่อว่าปัจจุบันคุณป้ายังคงมีชีวิตอยู่ เพราะเท่าที่ผมเห็น ท่านเป็นผู้หญิงตัวเล็ก ท่าทางแข็งแรง แต่ถ้ายังอยู่ ก็คงจะแก่มากแล้วล่ะ ส่วนหลานสาวที่ท่านพูดถึง ป่านนี้คงมีครอบมีครัว หรืออาจจะย้ายไปอยู่ประเทศอื่นแล้วก็ได้(?) ทุกอย่างล้วนเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ผมมองดูทรงผมทรงเต่าทองในภาพแล้วหันมาพิจารณาผมขาวบนศีรษะในวันนี้แล้ว อืมม์! กาลเวลาที่ผ่านไปเพียงสองทศวรรษ มันทำให้ร่างกายของคนเราเปลี่ยนไปได้ถึงเพียงนี้เชียวหรือ?  ไม่มีใครเลยที่จะสามารถย้อนคืนสู่สภาพเดิมได้อีก เพื่อนของผมหลายคนตัดช่องน้อยแต่พอตัว ละทิ้งร่างกายซึ่งร่วงโรยไปแล้ว ยังเหลือผมคนนึงที่จะต้องก้าวเดินต่อไป อีกนานสักแค่ไหน ไม่มีใครรู้ได้!!

ทุกวันนี้ผมยังคงเก็บจดหมายของ Daw Ah Shwin ที่ส่งจาก Meiktila ไว้

Aerogram จากป้า Daw Tin Tin ก็ยังอยู่…

คนเขียนจดหมายอาจจากโลกนี้ไปแล้ว ท่านจะรู้หรือไม่ว่าผมกำลังจะผ่านไป Meiktila ในอีกไม่กี่วันนี้!

วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

Travellin’ light ไปพม่า – บรรจุข้อมูล

south-east-asia

๓๑ ปีก่อนผมไปพม่า… มีคัมภีร์นักเดินทางไปด้วย ๒ เล่ม คือ South East Asia Handbook  กับ Across Asia on the Cheap เล่มแรกหนาปึก ส่วนอีกเล่มบางหน่อย รวมแล้วก็มีน้ำหนักไม่เบา!

Travellin’ light ไปพม่า… ทริปที่จะถึงนี้ไม่มีหนังสือคัมภีร์ ไม่มีคู่มือไปด้วย แต่ผมกลับมีข้อมูลเหลือเฟือเก็บไว้ในเจ้าโมโตฯ (เคยเขียนถึงมาก่อน คลิกอ่านได้ ที่นี่)  

วันนี้ต้องบรรจุไฟล์หนังสือและแผนที่ลงให้ได้ตามต้องการ…

เอาไว้เปิดอ่านในระหว่างเดินทาง…

เคยเขียนเรื่อง “แผนที่เมืองมัณฑะเลย์” ไว้ในบล็อกช่างเหอะ (คลิกอ่านได้ที่นี่)  วันนี้ผมโหลดเก็บไว้เรียบร้อยแล้ว สาธิตให้ดูหน่อย…

ขยายให้ดู…เหมือนกับที่เคยเขียนไว้ ไปถึงมัณฑะเลย์เมื่อไหร่ คงได้ใช้เมื่อนั้น!

จากมัณฑะเลย์ ผมตั้งใจจะนั่งรถไฟขึ้นเหนือ พอดีไปเจอนิตยสาร Traveller ฉบับเดือนมีนาคม 2014 จึงนำมาเก็บไว้อ่าน…

มีเรื่อง “Incredible Rail Journeys for 2014”  หนึ่งในนั้นมีเส้นทางจาก Mandalay ไป Pyin Oo Lwin ซึ่งผมตั้งใจอยู่แล้วว่าจะไป  ในบทความเขียนถึงเส้นทางนี้ว่า…

After leaving Pyin Oo Lwin the train creaks at glacial speed across the Gokteik Viaduct – a steel span that was once the highest bridge in the British Empire. There are no side on the bridge, but those who can stomach leaning out the window are richly rewarded: an unobstructed view of jungle canopies, cliffs with circling birds of prey and a sludge-brown river flowing far down below…

แถมอีกเล่มนึงคือ  Bicycle Maintenance, 2013  เผื่อเอาไว้สำหรับ FB Trip ครั้งหน้าครับ…

เรียบร้อยแล้ว…สำหรับข้อมูลที่ต้องการเก็บไว้ในเจ้าโมโตฯ

วันพุธที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2557

Mya Yatanar Inn

มเคยเขียนถึง Pakokku ไว้ดังนี้…

วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๒๖….ในที่สุดเรือซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ ๑๑ ชั่วโมงจากมัณฑะเลย์ ก็เข้าเทียบท่าที่เมือง Pakokku ยังคงเหลืออีกประมาณ ๓๐ กิโลเมตรก็จะถึงพุกาม แต่ค่ำแล้ว..เค้าต้องหยุดพักค้างคืนกันที่นี่ก่อน พรุ่งนี้เช้าจึงค่อยเดินทางต่อ!  ผมไม่มีข้อมูลของ Pakokku เลย! ในหนังสือที่พกมาด้วยก็ไม่มีเล่มใดกล่าวถึง ทีแรกก็ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะต้องมาค้างคืนที่นี่ แต่พอได้สัมผัสเข้าจริง ๆ มันกลับทำให้ผมประทับใจ…จนยากที่จะลืม

พอลงจากเรือ…ก็มีคนมารับผมและเพื่อนร่วม cabin ไปยังที่พักชื่อ mya yatanar inn ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับท่าเรือนั่นเลย! สองสามีภรรยาเจ้าของโรงแรมซึ่งพูดภาษาอังกฤษคล่อง ได้ให้การดูแลนักเดินทางเป็นอย่างดี การได้พักที่นั่นเหมือนกับว่าผมได้ไปอยู่กับครอบครัวชาวพม่าที่เปี่ยมด้วยไมตรีจิต มันทำให้ผมรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยเป็นอย่างยิ่ง  หลังจากเดินทางมาทั้งวันด้วยความเหนื่อยล้า ผมได้เข้าที่พักอย่างดี(ในความคิดของผม) ได้อาบน้ำ(ตักอาบจากตุ่ม)อย่างเต็มที่ แถมมีอาหารเย็นกินด้วย (เขาคิดทั้งหมดแค่เพียง ๑๕ จ๊าดเท่านั้น)

ผมได้รู้จักกับ San Win ลูกชายเจ้าของโรงแรม, San Oo และเพื่อน ๆ ชาวพม่าอีกหลายคน ก่อนค่ำ…เพื่อนใหม่ชาวพม่าพาผมไปเดินชมวัด มีภาพเก็บไว้เพียงบานเดียว (ไม่ชัดด้วย) คนที่อยู่ด้านซ้ายมือของผมคือ San Win ส่วนคนที่อยู่ด้านขวาคือ San Oo  วันนี้ผมได้เห็นพระเจดีย์เก่าแก่, พระนอน, โบสถ์และการแกะสลักอย่างวิจิตรพิสดาร!  ขณะกำลังตั้งท่าถ่ายรูป…มีวัวตัวหนึ่งพุ่งเข้าชนท้องผมด้วยล่ะ!! แต่ไม่ยักเป็นไร ช่างอัศจรรย์และน่าตื่นเต้นยิ่งนัก!!

หลังจากเที่ยววัด…ผมกลับมาอาบน้ำอีกครั้ง แล้วแต่งตัวด้วยโสร่ง(โลงจี) ที่ซื้อมาจากย่างกุ้ง San Win พาผมไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่มีออร์แกนยี่ห้อ Casiotone ผมมีโอกาสได้ลองเล่นด้วย เราสนุกสนานกันใหญ่ เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว  กว่า San Win จะพาผมกลับที่พักก็เที่ยงคืนพอดี!

Lonely Planet ได้เขียนถึง  Mya Yatanar Inn  ไว้ว่า…

Charming, English-speaking grandma Mya Mya, her daughter and four granddaughters will welcome you to their 100-year-old home on the river, a couple of blocks east of the market. Rooms are super-basic and grubby, but bearable once you fall under the hospitable spell of these women. Electricity is mostly off during the day (as with all of Pakokku), and most rooms share the cold-water bathroom and squat toilet. They can rustle up a delicious meal for under K1000, help you get a taxi deal to see the sights, or show you to local pagodas or where tattooing is done.  Our independent authors have visited Mya Yatanar Inn and selected this as one of our recommended hotels in Pakokku.

 

สำหรับทริป Travellin’ light ไปพม่า ซึ่งจะมีขึ้นหลังจากผ่านมา ๓๑ ปี  Pakokku จะต้องเป็นหนึ่งในจุดหมายของผม และ Mya Yatanar Inn จะต้องเป็นที่ ๆ ผมจะกลับไปพำนักอีกครั้ง 

ทั้ง San Win และ San Oo คงจะแก่แล้วเช่นกัน เป็นครั้งสุดท้ายแล้วที่คนแก่อย่างผมและเพื่อนชาวพม่าจะได้คุยกัน…

วันอังคารที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2557

Travellin’ light ไปพม่า – ซ้อมนุ่งโลงจี

“โสร่ง” ที่ผมใช้นุ่งอยู่ที่บ้านพักของพี่อาลีในกรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ เมื่อ ๓๐ ปีก่อน ผมซื้อมาจากร้านในตลาด Bogyoke หรือที่เรียกกันว่าตลาดสก๊อต เมืองย่างกุ้ง  คนพม่าเรียกโสร่งว่า “โลงจี (longyi)”  

Travellin’ light ไปพม่าคราวนี้ ผมต้องใช้เป้ขนาดเล็กใส่เสื้อผ้าไป (น้ำหนักรวมแล้วต้องไม่เกิน ๗ กิโลกรัม) ดังนั้น “โลงจี” ที่ตั้งใจจะนำไปด้วยคงช่วยได้มาก เพราะเบาแถมยังซักง่าย…แห้งเร็ว  ผมจำได้ว่าในคืนวันที่ผมนั่งเรือจากมัณฑะเลย์ไปขึ้นฝั่งที่ Pakokku  “San Win” เพื่อนชาวพม่า เป็นคนสอนให้ผมนุ่งโลงจี จะออกคอนเสิร์ทยังต้องมี rehearsal  วันนี้ผมขอซ้อมนุ่งโสร่งหน่อย เผื่อใส่แล้ว…ขึ้นรถลงเรือจะได้ไม่หลุดให้เป็นที่อับอายขายหน้า!

แล้วลมจะเย็นมั้ยเนี่ย…อิอิ!

วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557

เรือใกล้จม!

 

มได้เห็นภาพ “เรือใกล้จม” และคำสอนจากพระอาจารย์ยสาโร ซึ่งครูแม้วได้แชร์ไว้ในเฟสบุ็ค ต้องขออนุญาตนำมาโพสต์ต่อดังนี้…

การปรนนิบัติดูแลผู้ใหญ่ผู้มีพระคุณถือว่าเป็นบุญ แต่แม้แต่การเสียสละในกิจที่เป็นบุญนั้น เราไม่ควรละเลยการดูแลตัวเอง เพราะถ้าเราปล่อยให้เหน็ดเหนื่อยเกินไปจนหมดแรง หนึ่ง สุขภาพเราอาจจะเสียจนถึงขั้นทำหน้าที่ไม่ได้ สอง ตอนเหนื่อยมาก ๆ นั้น เรามักจะเผลอสติ ใช้วาจารุนแรงได้ง่าย แล้วมาเดือดร้อนใจทีหลัง โทษตัวเองว่าเราเป็นลูกที่ไม่ดีทำบาปทำกรรมไว้กับบุพการี

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ว่าเราเป็นคนไม่ดีหรือเป็นลูกอกตัญญูหรือไม่รู้จักบุญคุณเขาหรือบุญคุณท่านหรอก แต่เราขาดปัญญาในการรับใช้ ในการสร้างประโยชน์กับคนอื่น เราทำเกินกำลังของตัวเอง เกินกำลังก็เกิดปฏิกิริยาภายในจิตใจ

เราต้องให้อภัยตัวเอง เพราะวาจานั้นไม่ได้สะท้อนถึงความรู้สึกที่แท้จริงต่อท่าน และเราต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ให้รู้จักพอดีในการเสียสละ เพราะในการสร้างประโยชน์ผู้อื่นในระยะยาว เราต้องรู้จักรักษากายและใจของเราไปด้วย

อยากให้เพื่อน ๆ ดูภาพเรือที่รับน้ำไว้จนเกือบเต็มลำ กำลังใกล้จม!   ผมเปรียบได้กับเรือลำนี้แหละ!!

๕-๖ ปีกับการดูแลพี่ชายที่ไม่ยอมให้ความร่วมมือ (ไม่ขอเล่าเพราะจะเป็นการนำเรื่องภายในมาขยายความ)  ตอนนี้บอกได้อย่างเดียวว่า “ผมแย่แล้ว”  ผมกลายเป็นคนที่ไม่อยากออกไปเจอะเจอผู้คน ใจเหลือนิดเดียว ใครพูดอะไรเป็นผิดหู บางครั้งผมก็พูดประโยคเดิม ๆ ออกมาโดยไม่รู้ตัว เช่นว่า “ฮาบอกคิงแล้วบ่เจื้อ!”   บางครั้งก็ร้องเอะอะโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย!  ที่สำคัญคือผมรู้สึกเกลียดพฤติกรรมของพี่ชายจนไม่อยากพูดด้วย ไม่อยากเข้าใกล้ แต่ก็ต้องทำ…

ยิ่งใกล้ travellin’ light ไปพม่า  พอรู้…พี่ชายก็ยิ่งมีอาการ!   บอกผมว่าขยับตัวไม่ได้แล้ว ปวดข้อ แขนขาก็ไม่มีแรง!!

ผมเริ่มคิดถึงคำว่า No Show  คือยกเลิกโครงการ Travellin’ light   ไม่ไปแล้ว… อยู่มันอย่างเนี้ยแหละ!  หาอาหารให้คนใจปลาซิวกินไปเรื่อย ๆ จนถึงวันหนึ่งซึ่งทำให้ขาดผึง…ล้มตึง  กลายเป็นเรือที่จมลง!

“รู้จักพอดีในการเสียสละ เพราะในการสร้างประโยชน์ผู้อื่นในระยะยาว เราต้องรู้จักรักษากายและใจของเราไปด้วย”

ผมอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า…พยายามทำใจไม่ยกเลิก Travellin’ light ไปพม่า!

เรือใกล้จมแล้วครับ!

วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2557

FB Frip 3 – ฉากสุดท้ายที่วัดเสาหิน

ม่ต้องอาศัยเข็มทิศ… แค่ดูตะวันแล้วปั่นไปตามทางจักรยาน (ร่วมทางจราจร)  ไม่นานผมก็ถึง “วัดเสาหิน”!

จอดรถไว้หน้าวิหารเสาหินจำลอง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวัด กล่าวกันว่าเสาหินเดิมอยู่ใต้ฐานประธานในวิหาร วิหารเสาหินจำลองนี้สร้างเป็นอาคารชั้นเดียวทรงจตุรมุขหลังคาซ้อน  ๓ ชั้น  ฐานเสาหินทำด้วยหินทรายขาว ขนาดกว้าง ๑๒ นิ้ว สูง ๑.๙๙ เมตร บริเวณรอบ ๆ เสาหินมีพระพุทธรูปที่ทำจากหินทรายขาวขนาดเล็กจำนวน ๘ องค์…

วัดเสาหินเป็นวัดโบราณที่สร้างมาร่วมสมัยกับเวียงกุมกาม ปรากฏหลักฐานว่าอายุกว่า ๗๐๐ ปี….

ผมเดินเข้าไปถ่ายภาพพระอุโบสถทางทิศเหนือของวิหารเสาหินจำลอง  แสงสะท้อนจากตะวันที่กำลังลับฟ้าส่งประกายสีทองตัดกับเงามืด  ทำให้สถาปัตยกรรมทรงล้านนาโครงสร้างก่ออิฐถือปูน หลังคาไม้เนื้อแข็ง มุงกระเบื้องดินขอ ดูงดงามยิ่งนัก

พระวิหารวัดเสาหินเป็นอาคารทรงล้านนาขนาดย่อมหันหน้าไปทางทิศเหนือค่อนมาทางทิศตะวันออก ฐานยกพื้นสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วม ตัวบันไดสร้างเป็นรูปนกหัสดีลิงค์ที่มีหงอนคล้ายนาค…

เห็นพระเจดีย์อยู่ด้านหลัง…

ก่อนออกจากวัดเสาหิน ผมซูมจับภาพสุนัขสีดำสนิทซึ่งยืนอยู่ไกล มันคงอดแปลกใจไม่ได้ที่เห็นชายร่างใหญ่สวมหมวกคาวบอยขี่จักรยานคันเล็ก ๆ ผ่านมา…

FB Trip 3 ปิดฉากลงแล้วด้วยดี  คงจะมี FB Trip ครั้งต่อ ๆ ไปอีก หลังจาก Travellin’ light ไปพม่าในเดือนเมษายนนี้!

วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2557

FB Trip 3 – วัดช้างค้ำ

ข่งกับอาทิตย์ยามอัสดง…เวลาเหลือน้อยเต็มทีแล้ว ผมให้สัญญากับตัวเองว่าจะต้องกลับมาเที่ยวชมเวียงกุมกามให้ทั่วอีกครั้ง และจะต้องไม่รีบร้อนอย่างเช่นวันนี้!

จากวัดหนานช้าง… ผมปั่นจักรยานถึง “วัดช้างค้ำ” หรือ “วัดกานโถม” เป็นวัดหนึ่งซึ่งสมบูรณ์ มีพื้นที่กว้างขวาง มิได้เป็นแค่เพียงซากโบราณสถาน ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้บรรยายไว้ว่า…

วัดช้างค้ำ เป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ เพราะเป็นวัดที่ประดิษฐานพระเจดีย์อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสัมฤทธิ์นั่ง ที่หล่อโดยพระเจ้ามังรายมหาราช (ชำรุดส่วนล่างตั้งแต่พระนาภีหรือสะดือลงมา และได้บูรณะให้สมบูรณ์โดยใช้ปูนปั้นแล้ว) และยังเป็นสถานที่สถิตของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่ได้อัญเชิญเมล็ดมาจากเมืองลังกา ในครั้งโบราณกาลอีกด้วย

นอกจากพระเจดีย์และต้นศรีมหาโพธิ์อันศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังมีพระวิหารกานโถม และหอพระเจดีย์เจ้ามังราย ซึ่งเป็นวิหารและหอดั้งเดิม ที่มีประวัติอันยาวนานเจ็ดร้อยกว่าปี เมื่อประมาณ ๒๐ ปีมานี้ พระวิหารและหอได้ถูกขุดแต่งและบูรณะโดยหน่วยศิลปากรที่ ๘ เชียงใหม่ กรมศิลปกร ดังนั้น จึงถือเป็นโบราณวัตถุที่ควรค่าแก่การค้นคว้าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

ที่เห็นคือพระวิหารกานโถม…

ส่วนอาคารสองชั้นใหญ่โตนั่นคงเป็นที่อยู่ของสงฆ์…

วิหารและหอดั้งเดิม…

หอระฆังสวยงาม…

พระเจดีย์…

จุดค้นพบเวียงกุมกามอยู่ในบริเวณวัดช้างค้ำ…

ผู้คนรวมทั้งพ่อค้าแม่ขายกลับกันไปหมดแล้ว ผมขี่เจ้า Coyote ออกจากวัด…

ฉากสุดท้ายของ FB Trip ครั้งนี้อยู่ที่วัดเสาหิน!