เดินทางเพียงสองวัน...นำภาพและเรื่องราวมาโพสต์ในบล็อก exploring the world ต้องใช้เวลาถึง ๒ เดือนเต็ม ขึ้นเดือนที่ ๓ ผมขอตัดคำว่า "FB Trip ไป อช.แม่ปิง" ออกดีกว่า!
จากวัดป่าไผ่ ผมปั่นจักรยาน ๔.๔ กิโลเมตรมาตามทางหลวงหมายเลข 106 (ลำพูน-ลี้) ถึงวัดพระพุทธบาทผาหนาม เห็นอนุสาวรีย์ครูบาขาวปีซึ่งเป็นที่เคารพรักและศรัทธาของสาธุชนทั่วลานนาไทยยืนตระหง่านอยู่ทางด้านขวามือ...
paiduaykan.com ให้ข้อมูลว่า...
วัดพระพุทธบาทผาหนาม เคยเป็นวัดร้างมากว่า ๓๐๐ ปี ก่อนที่ครูบาอภิชัยขาวปีได้ร่วมกับชาวบ้านผาหนามที่อพยพหนีน้ำท่วมจากเขื่อนภูมิพล มาบูรณะให้เป็นวัดที่เจริญรุ่งเรื่องด้วยศรัทธาและสิ่งก่อสร้างมากมาย...
วิกิพีเดียกล่าวว่า...
ครูบาอภิชัย (ขาวปี) เดิมชื่อ "จำปี" เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๓ เป็นบุตรของพ่อเม่าและแม่จันตา ท่านกำพร้าบิดาตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ ต่อมาเมื่ออายุได้ ๑๖ ปี มารดาได้นำไปฝากให้เป็นศิษย์ของครูบาเจ้าศรีวิชัย ณ วัดบ้านปาง ท่านจึงได้เริ่มเรียนหนังสือ โดยท่านเป็นผู้มีนิสัยขยัน เล่าเรียนอย่างจริงจัง อ่อนโยน ว่านอนสอนง่าย นอบน้อม ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงมักใช้เวลาที่ท่านรับใช้ใกล้ชิดอบรมกล่อมเกลา ถ่ายทอดความรู้ให้ด้วยความเมตตา จนท่านครูบาอภิชัยมีความรู้เป็นลำดับ สามารถอ่านออกเขียนได้ และมีทักษะในการสวดมนต์ได้ดีวันนี้ (๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓) ครบ ๔๓ ปีที่ครูบาเจ้าอภิชัยได้ละสังขารไป ผมขอนำข้อมูลจากวิกิพีเดียมาลงไว้แบบเต็ม ๆ รวมทั้งภาพที่ต้องขออนุญาต capture มาจากวิดีโอใน facebook ของวัดพระพุทธบาทผาหนาม (ด้วยความขอบพระคุณยิ่ง)...
นอกจากนี้ในงานก่อสร้าง ท่านก็มิได้นิ่งดูดาย หมั่นสังเกตพิจารณาในการช่างและเข้าไปช่วยทำงานนั้น ๆ อย่างตั้งอกตั้งใจจนมีความรู้ความชำนาญในการช่าง เมื่อถึงเวลาอันสมควร ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่ออายุได้ ๒๒ ปี ได้รับฉายาว่า “อภิชัยขาวปี”
เมื่อถึงพรรษาที่ ๑๓ ท่านถูกกลั่นแกล้งและถูกจับดำเนินคดีในข้อหาหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร จนต้องถูกบังคับให้สึกและครองผ้าขาวเป็นครั้งแรก ในขณะที่ท่านติดคุกท่านได้ริเริ่มสร้างโรงพยาบาลลำพูนจนแล้วเสร็จ เมื่อออกจากคุกแล้วครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ทำการอุปสมบทให้แก่ท่านเป็นครั้งที่สอง เมื่อบวชแล้วท่านได้กราบลาพระอุปัชฌาย์ไปบูรณะวัดวาอารามต่าง ๆ ต่อมาท่านได้ถูกกลั่นแกล้งกล่าวหาว่าเรี่ยไรเงินสร้างโบสถ์ จนถูกจับสึกนุ่งผ้าขาวอีกเป็นครั้งที่สอง
เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยได้สร้างถนนขึ้นวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ ท่านได้พาชาวกะเหรี่ยง ๕๐๐ คนไปช่วยทำถนนจนแล้วเสร็จ และได้กลับมาพำนักกับครูบาเจ้าศรีวิชัย ณ วัดพระสิงห์ ต่อมาได้มีผู้ขอร้องให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยทำการอุปสมบทให้แก่ท่านเพื่อเป็นภิกษุอีกครั้งหนึ่ง ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงยินยอมอุปสมบทให้ ณ วัดศรีโสดา ซึ่งในการอุปสมบทครั้งนี้เป็นเหตุให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยต้องอธิกรณ์อีกครั้ง ครูบาเจ้าอภิชัยจึงต้องสึกนุ่งผ้าขาวอีกครั้ง และได้กลับไปที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะ ถึงแม้ครูบาเจ้าอภิชัยจะนุ่งผ้าขาว แต่ท่านก็มีวัตรปฏิบัติและถือศีลเหมือนพระภิกษุทุกประการ วัตรปฏิบัติอันเคร่งครัดของท่านทำให้มีศรัทธาสาธุชนเลื่อมใส เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพแล้ว ท่านจึงเปรียบเสมือนทายาทธรรมที่มีผู้มาขอความเมตตาไปเป็นประธานในการบูรณะวัดวาอารามต่าง ๆ
ต่อมาครูบาเจ้าอภิชัยได้ไปบูรณะวัดพระพุทธบาทผาหนาม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และได้จำพรรษาอยู่ที่นั่นมาโดยตลอด ขณะเดียวกันท่านก็ได้เป็นประธานในการบูรณะวัดวาอารามสร้างโรงเรียน และโรงพยาบาล อีกหลายแห่ง อาทิเช่น โรงเรียนบ้านสามหลัง (อภิชัยบูรณะ) อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ คณะศรัทธาวัดสันทุ่งแฮ่ม จังหวัดลำปาง ได้มานิมนต์ท่านไปนั่งเป็นประธานในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ต่อมาคณะศรัทธาวัดต้นธงชัย จังหวัดสุโขทัย มานิมนต์ท่านเพื่อขอความเมตตาไปเป็นประธานในการสร้างพระวิหาร ท่านเดินทางไปเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ และเมื่อไปถึงวัดท่าต้นธงชัยได้เพียงวันเดียว ท่านก็ได้มรณภาพในวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ โดยอาการสงบ...
เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๒ ผมได้เดินทางมาถึงวัดพระพุทธบาทผาหนาม นำจักรยานมาอิงตั้งพิงไว้ริมรั้ว (1) เมื่อเวลา ๑๑.๐๐ น...
ตาแก่เมืองรถม้ากราบบูชาอนุสาวรีย์ครูบา (2) แล้วเดินขึ้นบันไดไปยังโฮงหลวงครูบาขาวปี (3)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น