ผมคิดว่าพอจะมีคำตอบซึ่งน่าจะเชื่อมโยงได้กับเหตุการณ์วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ เมื่อน้ำป่าไหลบ่าลงมาจากภูเขาเข้าท่วมหมู่บ้าน Bukit Lawang ด้วยระดับน้ำสูง ๒๐ เมตรซึ่งกวาดทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า เป็นผลมาจากการตัดไม้ทำลายป่าอย่างผิดกฎหมายนั่นเอง อุทกภัยครั้งนั้นได้นำมาซึ่งความพินาศย่อยยับแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว บ้านเรือนประมาณ ๔๐๐ หลัง, สุเหร่า ๓ แห่ง, สะพาน ๘ แห่ง, ตู้และแผงจำหน่ายอาหาร ๒๘๐ แห่ง, โรงแรมและเกสต์เฮ้าส์ ๓๕ แห่ง มีประชาชน ๒๓๙ คน (๕ คนเป็นนักท่องเที่ยว) ต้องเสียชีวิต ชาวบ้าน ๑,๔๐๐ คนได้กลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่
หลังจากนั้นอีก ๘ เดือน Bukit Lawang ก็กลับมาเปิดตัวอีกครั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๗ แต่ความเจ็บปวดจากการสูญเสียบ้านเรือนและเพื่อนพ้องน้องพี่ยังคงตามมาหลอกหลอน ชาวบ้านผู้เผชิญกับภาวะว่างงานและไร้ที่อยู่ยังคงต้องใช้เวลาอีกนานสำหรับการฟื้นฟูและสร้างเมืองขึ้นใหม่ ด้วยงบประมาณและการช่วยเหลือจากรัฐที่จำกัดจำเขี่ย อย่างไรก็ตามชาว Bukit Lawang ผู้มีชีวิตรอดก็ยังคงสร้างหมู่บ้านและเริ่มธุรกิจขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือบรรดาคนรุ่นใหม่ ซึ่งหวังว่าจะสร้างบ้านสร้างเมืองให้ดีกว่าเก่า ด้วยตระหนักในความสำคัญของการอนุรักษ์และพิทักษ์สิ่งแวดล้อม สิ่งหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนเจตนารมณ์ของเขาคือ "การท่องเที่ยว" อันนำมาซึ่งรายได้เพื่อสร้างอนาคตอันสดใสให้กับชาว Bukit Lawang ต่อไป... (ขอบคุณข้อมูลจาก wikitravel.org)
ผมคิดว่าชาวบ้านคงตระหนักดีว่าการท่องเที่ยวจะนำมาซึ่งรายได้อย่างต่อเนื่องให้กับหมู่บ้าน...
จึงไม่มีใครรังเกียจนักท่องเที่ยว ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะสวมกางเกงสะดอ...หรือกางเกงยีนส์ราคาแพง!
เมืองไทยยังไม่เคยได้รับบทเรียนเช่นนั้น! ทุกวันนี้ใครมือยาวถึงสาวได้สาวเอา!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น