วัดทุ่งกล้วยโพธาราม ตั้งอยู่เลขที่ ๕๙๖ หมู่ ๘ ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง...
บนพื้นที่ ๖ ไร่ เสนาสนะประกอบด้วย วิหาร พระเจดีย์ ศาลาราย กุฎิ ศาลาการเปรียญ หอระฆัง ฯลฯ ครบถ้วน prmaemoh.com กล่าวว่า...
วัดทุ่งกล้วยโพธาราม ตั้งอยู่ ณ หมู่บ้านทุ่งกล้วย หมู่ที่ 8 ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2500 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2505 ตามประวัติการสร้างวัดทุ่งกล้วยเป็นวัดที่มีความสำคัญควบคู่ไปกับวัดเมาะหลวงลักษณะสร้างขึ้นโดยชาวไทยญวนหรือชาวพื้นเมืองปัจจุบันเหลือเพียงหลักฐานกำแพง กู่ขนาดเล็กฐานอาคารรูปวงกลมและสิงค์คู่ด้านหน้าทางเข้าประตูทางทิศใต้ สิงห์คู่หน้าวัดทุ่งกล้วยสร้างขึ้นโดย พก่าซอ ซึ่งเดินทางมาจากเมืองมัณฑะเลย์ เพื่อทำกิจการค้าไม้ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 25 ในฐานะของคหบดีได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัด ปัจจุบันเป็นวัดที่การจัดกิจกรรมอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมโดยเฉพาะเรื่องการอนุรักษ์คำเมือง มีการเขียนป้ายคติคำสอนเป็นภาษาเมืองหรือภาษาล้านนานอกจ้านั้นยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัยมีห้องเรียนคอมพิวเตอร์ วัดทุ่งกล้วยโพธารามสันนิษฐานว่าสร้างมาแล้วประมาณ 400 ปี ได้รับวิสุงคาราม พระครูมนูญกิจปีชา ดร.วุฒิการศึกษาปริญญาเอก วุฒิการศึกษาทางธรรม นักธรรมเอก ตำแหน่งการปกครองคณะสงฆ์ เจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบลบ้านดง
ด้วยอนุญาตจากท่านสิงหราช...ผมเก็บภาพมาฝากเพื่อน ๆ แล้วดังนี้
มีป้ายบอกประวัติความเป็นมาของประวัติความเป็นมาของวัดด้วยครับ รูปที่ถ่ายมาอ่านไม่ได้ ผมพิมพ์ให้เพื่อน ๆ อ่านแล้วดังนี้...
วัดทุ่งกล้วยโพธาราม เดิมตั้งอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำแม่เมาะ ระหว่างทางไปบ้านเมาะหลวงกับบ้านหัวทุ่ง ตั้งอยู่เลขที่ ๑๙๔๕ บ้านหัวทุ่ง หมู่ที่ ๑ ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างเมื่อก่อน พ.ศ. ๒๔๐๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑ ไร่ ๘๐ ตารางวา อาณาเขต ทิศเหนือ ทิศตะวันออก ติดต่อเขตที่นาของเอกชนชาวบ้าน ทิศตะวันตกติดลำน้ำแม่เมาะ ทิศใต้ติดต่อกับเส้นทางสาธารณะ มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน ๑ แปลง เนื้อที่ ๕ ไร่ ๒ งาน ๓๐ ตารางวา อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วยอุโบสถ และกุฏิสงฆ์ มีปูชนียวัตถุโบราณเป็นพระพุทธรูปไม้แกะสลัก ศรัทธาประชาชนเรียกขานนามว่า "พระเจ้าไม้ซ้อ" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปไม้แกะสลักอันเป็นที่สักการะบูชาของชาวอำเภอแม่เมาะ วัดทุ่งกล้วยโพธาราม แต่เดิมห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๓๐๐ เมตร นอกกำแพงปริมณฑลมีดอกไม้ ไม้ผล ไม้ยืนต้น อยู่มากมาย และมีไม้ทับทอง (ถูลั๊ว) เป็นสัญลักษณ์ซึ่งไม้เก่าแก่โบราณ สูงประมาณ ๒๐ เมตร รอบลำต้น ๔ เมตร บริเวณโคนต้นทั้งสี่ด้านปูด้วยแผ่นอิฐเผาโบราณหนา ๓ นิ้ว กว้าง ๘ นิ้ว ยาว ๑๒ นิ้ว ใช้สำหรับพักผ่อนหย่อนใจในช่วงฤดูร้อน
วัดทุ่งกล้วยโพธารามเป็นปูชนียสถาน เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนแม่เมาะโดยทั่วไป ตั้งสมัยครั้งโบราณ ในส่วนของการศึกษาสังเคราะห์ มีโรงเรียนสอนเด็กก่อนเกณฑ์ เปิดสอนในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ มีประเพณีงดงามสืบทอดกันมา เช่น ประเพณีสงกรานต์ (วันขึ้นปีใหม่เมือง) เข้าพรรษา ออกพรรษา พอถึงวัฒนธรรมประเพณีดังกล่าวจะมีพระภิกษุสงฆ์จากวัดต่าง ๆ ในเขตอำเภอแม่เมาะ พร้อมเพรียงกันมาประกอบพิธีทางศาสนาที่วัดทุ่งกล้วยโพธารามก่อน แล้วกลับไปทำพิธีต่าง ๆ ที่วัดของตน ชาวเมืองแม่เมาะจะมาทำบุญโดยพร้อมเพรียงกันอย่างหนาแน่นทั่วสารทิศ ซึ่งถือว่าวัดทุ่งกล้วยโพธารามเป็นศูนย์กลางงานวัฒนธรรม ประเพณี ตามคำบอกเล่างานประเพณดังกล่าวจะเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแต่พอสันนิษฐานได้ประมาณ ๔๐๐ ปีมาแล้ว อาศัยหลักฐานตำนานพระบาทห้วยสอง สมัยสามร้อยด้ามดาบ มาทำลวดลายวัตถุมงคลที่พระพุทธบาทซึ่งยังมีเศษวัสดุปรากฏอยู่ถึงปัจจุบัน
วัดทุ่งกล้วยโพธารามเดิมไม่มีพระภิกษุสามเณรอยู่ประจำ มีถาวรวัตถุคือ กำแพงรอบสี่ด้าน พระอุโบสถ ๑ หลังเป็นปฏิมากรรมหลังคามุงด้วยไม้สักล้วน โดยตัดไม้สักเป็นแผ่นเหมือนกระเบื้องหางแหลม ฝาผนังด้านหลังปิดคานและขื่อ ฝาผนังด้านข้างปิดครึ่งเสา ด้านหน้าช่องกลางเปิดโล่ง พื้นปูด้วยอิฐเผา บรรจุคนได้ประมาณ ๑๐๐ คน มีฟุตบาทรอบพระอุโบสถ ประวัติการก่อสร้างไม่สามารถหาหลักฐานได้ อายุพระอุโบสถเก่าแก่จึงทำให้พระอุโบสถทรุดโทรมมาก
ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้มีพ่อเลี้ยงพะก๋าซอหน้อย สัญชาติพม่า ซึ่งมีฐานะมั่นคง อยู่บ้านเมาะหลวง ได้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนาทำการก่อสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่โดยทำการรื้ออุโบสถหลังเก่าออก สร้างใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม มีเสาอาคารและโครงสร้างทำจากไม้สักทั้งหมด ฝาอุโบสถครึ่งปูนครึ่งไม้ มีมุขและหน้าบรรพ ประกอบด้วยช่อฟ้า ปันลม หลังคามุงกระเบื้อง ภายในมีฐานพระสร้างใหม่ ประดิษฐานพระพุทธรูป ๓ องค์ ทรงศิลปะพม่า สร้างเสร็จได้จัดพิธีฉลองสมโภช เมื่อวันพุธที่ ๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๐
พ.ศ. ๒๔๙๔ นายมนตรี วงศ์จักร ได้รับตั้งเป็นกำนัน เห็นว่าพระภิกษุไม่มีจำพรรษาดูแลวัด จึงได้ร่วมกันกับคณะศรัทธาก่อสร้างกุฏิสำหรับพระภิกษุขึ้นมาจำนวน ๑ หลัง และสร้างเสร็จภายในปีเดียวกัน โดยได้นิมนต์พระภิกษุหน้อย อริยวโส จากวัดดอยดอง อำเภอเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มารักษาการแทนเจ้าอาวาสรูปแรก
พ.ศ. ๒๕๐๐ พ่อเลี้ยงน้อยขาว แม่เลี้ยงคำแดง จำปาเสิศ พร้อมคณะศรัทธาได้สร้างเจดีย์ด้านหลังอุโบสถขึ้นมา ๑ องค์ โดยได้นิมนต์พระธรรมจินดานายก เจ้าคณะจังหวัดลำปาง มาโปรดเมตตาเป็นประธาน ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ปีระกา เดือน ๕ ขึ้น ๑ ค่ำ เวลา ๑๒.๐๐ น. ใช้เวลาก่อสร้าง ๓ เดือน จึงได้มีการสมโภชเฉลิมฉลอง ต่อมามีกุลบุตรผู้เข้ามาบวชเรียนเป็นพระภิกษุสามเณรจำพรรษาอยู่ในวัด และดำเนินการขออนุญาตตั้งวัดให้เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมายขึ้นทะเบียนกับกรมศาสนา (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในกาลปัจจุบัน)
หอระฆัง (5) ตั้งอยู่โน่น
ใกล้ ๆ กัน...ผมเห็นศาลาพักร้อนตั้งเรียงราย (อย่างเนี้ยน่าจะมาขออนุญาตนอนค้างคืนที่นี่ อิอิ)
ท่านเจ้าอาวาส พระครูมนูญกิจปรีชา จบปริญญาเอก ผมมีโอกาสได้พบท่านด้วยแหละ พระหนุ่มใจดี! ดูท่าทางไม่หวงวัด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น