วันพุธที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2560

FB Trip ไปอยุธยา - วัดบรมพุทธาราม


จาก "ป้อมเพชร" (1) ผมปั่นจักรยานล่องมาตามถนนอู่ทอง เลี้ยวขวาตรงสามแยกโรงพยาบาล  ยูเทิร์นกลับมายัง "วัดบรมพุทธาวาส" (2) ระยะทางประมาณ ๓ กิโลเมตรดูเหมือนไม่ไกลเลย...


"วัดบรมพุทธาราม" ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยาทางด้านทิศใต้ ในเขตตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระราชวงศาวดารกรุงศรีอยุธยาระบุว่า สมเด็จพระเพทราชาโปรดฯ ให้สร้างวัดนี้ขึ้นในบริเวณย่านป่าตองซึ่งเป็นนิเวศน์สถานเดิมของพระองค์สมัยก่อนขึ้นครองราชย์และโปรดฯ ให้ช่างทำกระเบื้องเคลือบสีเหลืองมุงหลังคาอาคารภายในวัด วัดแห่งนี้จึงมีชื่อเรียกขานอีกชื่อหนึ่งว่า "วัดกระเบื้องเคลือบ" กล่าวกันว่าสมเด็จพระเพทราชาทรงได้รับแรงบันดาลใจจากกระเบื้องที่ใช้มุงหลังคาพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญมหาปราสาทภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ที่เมืองลพบุรี จึงได้สั่งทำกระเบื้องเคลือบสีเดียวกันใช้มุงหลังคาวัดแห่งนี้
ภายในวัดประกอบด้วยพระอุโบสถเป็นประธานของวัด มีเจดีย์ทรงปรางค์สององค์ตั้งเรียงกันอยู่ทางด้านหน้า และมีพระวิหารตั้งอยู่ทางด้านข้างของเจดีย์ทรงปรางค์

ที่มา - แผ่นป้ายโบราณสถาน วัดบรมพุทธาราม


โน่นไง...เจดีย์ปรางค์ ๒ องค์และวิหาร ผมจูงจักรยานมาจอดไว้ริมรั้ว มีช่องให้เดินลงไปชมข้างในได้


วัดบรมพุทธารามเป็นวัดผ่ายคามวาสี ที่สถิตของพระราชาคณะที่มีฐานานุศักดิ์เป็นพระญาณสมโพธิ์ สมเด็จพระเพทราชาโปรดให้สร้างขึ้นในบริเวณซึ่งเคยเป็นบ้านของพระองค์เองเมื่อราว พ.ศ. ๒๒๓๒ ที่ตำบลป่าตอง ใกล้ประตูชัย ประตูใหญ่บนแนวกำแพงเมืองด้านใต้ ที่ตั้งของวัดบรมพุทธารามถูกจำกัดโดยเส้นทางคมนาคมสมัยโบราณ คือด้านตะวันออกเป็นแนวคลองฉะไกรน้อย ด้านตะวันตกเป็นแนวถนนหลวงชื่อถนนมหารัฐยาหรือถนนป่าตอง แนวถนนและคลองดังกล่าวบังคับแผนผังของวัดให้วางตัวตามแนวเหนือใต้ โดยหันหน้าวัดไปทางทิศเหนือ ซึ่งเป็นทางผ่านของถนนโบราณอีกสายหนึ่งชื่อถนนพระงาม มีสะพานข้ามคลองฉะไกรน้อยไปป่าดินสอ สะพานดังกล่าวเป็นสะพานอิฐชื่อสะพานบ้านดินสอ

ที่มา - ป้ายบรรยายของกรมศิลปากร

อุโบสถเป็นประธานของวัดสร้างอยู่ภายในกำแพงแก้ว...


เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานแอ่นโค้งเป็นรูปท้องเรือสำเภอ ซุ้มประตูหน้าต่างตกแต่งด้วยลายปูนปั้นที่มีความงดงามเป็นอย่างยิ่ง ใช้ผนังอาคารรองรับชั้นหลังคา จึงไม่ปรากฏเสาอยู่ภายในอาคาร





ซุ้มเหนือประตูหน้าต่างที่พอเห็น แสดงว่านิยมทำเป็นทรงบันแถลงและทรงปราสาท





ผนังด้านในแต่ก่อนเคยมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง...


ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธาน พระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนปางมารวิชัย





เจดีย์ทรงปรางค์ ลักษณะองค์เจดีย์สูงเพรียวโดยการยึดส่วนฐานให้สูงขึ้น เรือนธาตุมีขนาดเล็ก มีซุ้มจระนำยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน เหนือขึ้นไปเป็นส่วนยอดที่เป็นชั้นหลังคาซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป เดิมส่วนยอดของเจดีย์ได้พังทลายลงมา เมื่อกรมศิลปากรทำการบูรณะได้ยกส่วนยอดขึ้นไปประกอบไว้ที่เดิม





ถ้าย้อนกลับไปสู่อดีตเมื่อ ๓๐๐ กว่าปีก่อนได้ก็คงจะดี จะได้เห็นหลังคาโบสถ์กระเบื้องเคลือบสีเหลือง...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น