๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๐ เวลาประมาณบ่าย ๓ โมงครึ่ง... ชาร์จไฟแบตเตอรี่กล้องเต็มแล้วก็ได้เวลาลุยต่อ จุดหมายแรกของผมคือ "วัดราชบูรณะ" อีกวัดหนึ่งซึ่งไม่ไปไม่ได้!!
มีแผ่นป้ายขนาดใหญ่ตั้งอยู่ เขียนว่าเป็นประวัติของวัด แต่อ่านดูแล้วเป็นเนื้อหาในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมากกว่า ผมพิมพ์มาให้แล้วนะ เพื่อน ๆ จะอ่านหรือไม่อ่านก็ได้ครับ
ประวัติวัดราชบูรณะ
วัดราชบูรณะตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน โดยอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุและวัดนางพญา ซึ่งอยู่ภายในกำแพงเมืองพิษณุโลกฝั่งตะวันออก ทิศเหนือติดกับถนนสังห์วัฒน์ และวัดพระศรีรัตนมหาธาตุและวัดนางพญา ทิศใต้ติดกับถนนบรมไตรโลกนาถ ทิศตะวันออกติดกับถนนสิงห์วัฒน์ (ประตูผีซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง) ทิศตะวันตกติดกับถนนพุทธบูชา (แนวกำแพงเมืองเดิม) วัดราชบูรณะปรากฏในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ ความว่า อนึ่งที่เล่าถึงเมื่อเวลาเช้านี้ขาดไปหน่อยหนึ่ง เมื่อเสด็จจุดเทียนชัยแล้วไปดูวัดนางพญาซึ่งอยู่ต่อวัดมหาธาตุติดกันทีเดียว วัดนี้มีแต่วิหารไม่มีพระอุโบสถ มีโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมตั้งอยู่ในนั้นโรงหนึ่ง พระสอนมีนักเรียนมากที่คับแคบไม่พอ ออกจาวัดนางพญานั้นต่อลงไปถึงวัดราชบูรณะไม่มีบ้านเรือนคั่น วัดมีพระอุโบสถ พระวิหารหลวงตั้งอยู่ใกล้พระเจดีย์อันอยู่ใกล้ถนนริมน้ำ พระองค์นี้ฐานเป็นแปดเหลี่ยมใหญ๋ แต่ชำรุด มีผู้ไปสร้างเจดีย์ไม้ ๑๒ ต่อขึ้นข้างบนทำนองสร้างพระปรางค์ขึ้นบนเนินปฐมเจดีย์องค์นี้ ถ้าหากว่าจะไม่เป็นรูปแปลก เช่น พระบรมธาตุเมืองชัยนาท ก็ต้องเลยไปถึงพระเจดีย์มอญ แต่ส่วนพระอุโบสถก็ดี พระวิหารก็ดี เมื่อได้เพิ่มแห่งใดแห่งหนึ่งแล้ว ก็นับว่าเป็นทั่วทุกแห่ง เพราะทำอย่างเดียวกันทั้งสิ้น ตั้งใจเอาอย่างพระวิหารวัดมหาธาตุ พระประธานเล่าก็ตั้งใจเอาอย่างพระชินราชด้วยกันทั้งนั้นไม่มีอะไรน่าดู มีธรรมาสน์บุษบกสลักปิดทองอย่างเก่า ก็เอาอย่างในวัดมหาธาตุ แต่สู้กันไม่ได้ และออกจะทิ้งให้โทรม มีเสลี่ยงกงอย่างเก่า เหมือนที่ลพบุรีไม่ผิดกันเลย ที่ลพบุรีเขาว่า สำหรับแห่งพระราชาคณะของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ดังนี้.. ออกจากหมู่บ้านก็เข้าท้ายวัดราชบูรณะ พอถึงหลังโบสถ์ก็ต้องลงจากหลังม้าเข้าทางด้านหลังโบสถ์ บานประตูแกะสลักลายออก ๔ กลีบ ฝีมือดีแต่เป็นลายตามธรรมเนียม ผนังโบสถ์เขียนรามเกียรติ์ไม้ไม่สู้เก่านัก มีพระประธานใหญ่ แต่ไม่เก่ง มีพระเล็กน้อยมา เสาและเครื่องบนทาดำทาแดง ปิดลายทองฉลุ แต่ไม่ใช่ลายเก่า เป็นปฏิสังขรณ์ใหม่ แต่ผนังโบสถ์และตัวเครื่องไม้บนเก่า เป็นเครื่องประดุจช่อฟ้าปูน ออกจากโบสถ์ไปดูศาลาการเปรียญ แต่ไปไม่รอด เพราะอ้ายธรรมาสน์เก่าที่ศาลาข้างโบสถ์ มันเหนี่ยวเอา เหนี่ยวเอาไปดูมัน ธรรมาศน์นั้นเก่ามากทีเดียว ทีก็เป็นซุ้มเกี้ยวยอดพังทิ้งอยู่ข้างล่างเหลือชั้นเดียว ฐานก็ไม่แปลกจากที่เคยเห็น คือสิงห์แขวนขานาคต่อ แต่ข้างล่างจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ เพราะสูญเสียหมดแล้ว มาแปลกอยู่ที่ไม่มีกระจังบัดตีนยาน ใช้อ้ายหยัก ๆ สำหรับหลังซุ้มประตูแทน เช่นเขียนตัวอย่างไว้ดูนี้ และมีกวางทรงเครื่องหักอยู่ตัวหนึ่ง สำหรับเป็นบันไดรองเท้าขึ้นบนธรรมาศน์ ที่เก็บมาแต่วัดในเมืองสมุทรปราการแต่ก่อนนั้น…ดูธรรมาสน์แล้ว ไปดูการเปรียญ ทีก็เหมือนโบสถ์ เครื่องประดุฝาอิฐ แต่ฝาก่อทีหลัง เดิมเป็นเสาไม้ เป็นศาลาโถง ฝาเจียนประถมสมโพธิ แต่ไม่เก่าและไม่เก่ง มีพระงามพอใช้องค์หนึ่ง หน้าตัก สัก ๒ ศอก... ในราว ร.ศ. ๑๒๐ (ทวน พินธุพันธ์, ๒๕๑๕ หน้า ๖๔) วัดราชบูรณะเป็นวัดเก่าแห่งหนึ่งเข้าใจว่าอาจเก่าไปถึงสมัยสุโขทัย เดิมมีพื้นที่ต่อเนื่องกับวัดนางพญา ต่อมาในเดือนเมษายน ๒๕๐๒ ทางราชการได้ตัดถนนสายพิษณุโลกไปหล่มสัก คือถนนมิตรภาพ ถนนสายนี้ได้ตัดผ่านเข้าไปในเนื้อที่วัดนางพญาและวัดราชบูรณะด้วย โดยเฉพาะอุโบสถ จนต้องรื้อใบเสมามุมพระอุโบสถด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือออกไปส่วนหนึ่ง (เสนอ นิลเดช, ๒๕๓๒ หน้า ๕๗)
phitsanulokhotnews.com บรรยายว่า...
พระอุโบสถ ขนาด กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๘ เมตร สูง ๑๐ เมตร ลักษณะก่ออิฐถือปูน ผนังหนาราว ๕๐ เซนติเมตร มีบันไดขึ้นทางด้านหน้าสองแห่งและด้านหลังสองแห่ง โครงสร้างหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา พระอุโบสถวัดราชบูรณะเป็นการวางรูปโบสถ์แบ่งออกเป็นหกห้อง ประตูหน้าหลังด้านละสองประตูหลัง หลังคามุขหน้าหลังปีกนกคลุมสองชั้น ทรงนี้เรียกว่า แบบทรงโรง ลักษณะเป็นแบบเก่าสมัยอยุธยาและถูกซ่อมแซมมาหลายยุคสมัย ภายในมีเสาห่านร่วมในเรียงอยู่สองแถว เพื่อรับตัวขื่อ หน้าจั่วเป็นแบบเก่าคือแบบภควัม เช่นเดียวกับจั่ววิหารพระพุทธชินราช แปดเหลี่ยมเพื่อรองรับรวยระกาที่หนาบันโดยเฉพาะ ลำยองจึงไม่ทำวงแบบ นาคสะดุ้ง หางหงส์และนาคปรก ทำเป็นนาคเบือน ลักษณะความแหลมของแนวหลังคาเป็นแบบเก่าที่ใช้กับรวยระกา ตามแบบป้านลมสมัยสุโขทัยได้อย่างดีบานประตูสลักรูปดอกเป็นสี่กกลีบแบบดอกลำดวน...
พาเพื่อน ๆ ไปดูอุโบสถเก่ากันเลยดีฝ่า...
พระประธาน (หลวงพ่อทองสุข) พระพุทธรูปปางมารวิชัย ลงรักปิดทองหน้าตักกว้าง ๒ เมตร สูง ๓ เมตร ศิลปะสมัยสุโขทัยประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีก่ออิฐถือปูนชั้นล่างเป็นฐานเท้าสิงห์ ๒ ชั้น ชั้นบนสุดเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย ปิดทองประดับกระจกสี
ที่มา – phitsanulokhotnews.com
วัดนี้เปิดเสียงเพลงจากอินเดียเป็นแบ็คกราวน์ "พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ...."
ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังอีก ๑ ชุดใหญ่ครับ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น