"เจ๋ดีย์หลวง" คำเมืองหมายถึง "เจดีย์ขนาดใหญ่" ผมปั่นจักรยานมาถึงวัดเจดีย์หลวงวรวิหารเพื่อจะดูความยิ่งใหญ่และงดงามของพระเจดีย์
"เจดีย์หลวง" เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๙๓๔ สมัยพญาแสนเมืองมา เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ลำดับที่ ๗ แห่งราชวงศ์มังราย เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้พระราชบิดาคือพญากือนา แต่สร้างไม่เสร็จได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน มเหสีคือพระนางเจ้าติโลกจุฑาราชเทวีได้ก่อสร้างต่อจนแล้วเสร็จในรัชสมัยพญาสามฝั่งแกน เรียกกันว่า “กู่หลวง” แรกสร้างเป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมฐานกว้างด้านละ ๑๔ เมตร สูง ๒๔ เมตร
สมัย"พระเจ้าติโลกราช" รัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์มังราย พ.ศ.๑๙๘๕ - ๒๐๓๐ ได้โปรดให้ "หมื่นด้ามพร้าคต" เป็นนายช่างใหญ่สร้างเสริมเจดีย์ใหม่ ให้มีส่วนสูง ๘๐ เมตร ขยายฐานสี่เหลี่ยมให้กว้างด้านละ ๕๖ เมตร ปรับรูปทรงเป็นแบบโลหะปราสาทของลังการูปลักษณ์ทรงเจดีย์แบบพุกาม ดัดแปลงซุ้มจระนำมุขเจดีย์ด้านตะวันออกให้เป็นซุ้มและแท่นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตสูง ๘๐ เมตร
ในรัชสมัยพระเจ้ายอดเชียงราย ประมาณ พ.ศ. ๒๐๒๑ มีการปิดทองภายในซุ้มจระนำของพระเจดีย์หลวงทั้งสี่ด้าน ปี พ.ศ. ๒๐๘๘ รัชสมัยพระนางเจ้ามหาเทวีจิรประภา มีฝนตกหนักและเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เป็นสาเหตุให้ส่วนยอดของเจดีย์หักพังเหลือเพียงครึ่งองค์ เกิดรอยร้าวที่องค์พระเจดีย์และถูกทิ้งร้างมานานถึง ๔๔๕ ปี
เดือนมิถุนายน ๒๕๓๓ ถึงเดือนธันวาคม ๒๕๓๕ กรมศิลปากรได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุเจดีย์หลวงด้วยงบประมาณ ๓๕ ล้านบาท รักษารูปทรงที่เหลืออยู่จากครั้งแผ่นดินไหวให้มั่นคงยิ่งขึ้น โดยทำฐานกว้างด้านละ ๖๐ เมตร พร้อมเสริมเติมส่วนที่ยังมีร่องรอยเช่น ช้างทั้ง ๘ เชือก ฯลฯ
ที่มา - templeofchiangmai.weebly.com และ med.cmu.ac.th
ผมนำภาพมาฝากเพื่อน ๆ แล้วดังนี้...
แถมด้วยภาพ "เจดีย์รายองค์เหนือ" อีก ๑ บาน เป็นเจดีย์เก่าแก่คู่พระธาตุเจดีย์หลวง ไม่ปรากฏปีที่สร้าง ทรงสี่เหลี่ยมย่อเก็จสามชั้น ฐานปัทม์ย่อเก็จสองชั้น คอระฆังหุ้มทองจังโกปิดทองคำเปลว ปลียอดและฉัตรทำด้วยทองเหลืองปิดทองคำเปลว ฐานกว้างด้านละ ๖.๕๕ เมตร สูง ๑๓.๔๓ เมตร บูรณะใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๖...
ที่มา - ป้ายที่ตั้งอยู่ด้านข้าง
ถ้าเป็นที่ลาวก็จะเรียกว่า "ພຣະທາດຫລວງ"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น