เช้าวันพฤหัสที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๙ ผมคงจะได้ไปยืนอยู่ที่สถานีรถไฟสุรินทร์ และหาทางไปยังอำเภอท่าตูม...
หนังสือ "ตากลาง" หมู่บ้านช้างแห่งลุ่มน้ำมูล ของ พิทยา หอมไกรลาศ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่ตั้ง ภูมิอากาศ และการคมนาคมไว้อย่างมีประโยชน์ดังนี้...
|
ภาพจากหนังสือ "ตากลาง" - หมู่บ้านช้างแห่งลุ่มน้ำมูล - พิทยา หอมไกรลาศ |
ที่ตั้งตากลางเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ในจังหวัดสุรินทร์ มีพื้นที่ราว ๑ ตารางกิโลเมตร อยู่ในเขตการปกครองของตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม ตั้งอยู่บนเนินมีลักษณะลาดเอียงลงไปทางทิศเหนือไปจนจรดบริเวณที่ลำน้ำชีไหลมาบรรจบกับลำน้ำมูล ที่เรียกว่า "วังทะลุ" ตากลางเป็นหมู่บ้านที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าโดยพื้นที่ลาดต่ำที่ใกล้น้ำจะมีลักษณะเป็นกุดเป็นหนอง มีป่าบุ่งป่าทาม (ป่าที่น้ำท่วมถึง) ที่ชาวบ้านใช้เป็นแหล่งเลี้ยงช้าง รวมทั้งเป็นแหล่งอาหาร นอกจากนี้ตากลางยังมีป่าเต็งรังผืนใหญ่สองผืนขนาบอยู่สองด้าน ป่าทางทิศตะวันออกชาวบ้านเรียกว่า "ดงสายทอ" มีพื้นที่ประมาณ ๑๒,๙๖๘ ไร่ และป่าที่อยู่ทางด้านตะวันตกเรียกว่า "ดงภูดิน" มีพื้นที่ประมาณ ๖,๔๘๐ ไร่
|
ภาพจากหนังสือ "ตากลาง" - หมู่บ้านช้างแห่งลุ่มน้ำมูล - พิทยา หอมไกรลาศ |
ภูมิอากาศตากลางและหมู่บ้านใกล้เคียงมีสภาพภูมิประเทศเป็นแบบร้อนชื้นเพราะได้รับอิทธิพลจากมรสุมที่พัดประจำเป็นฤดูกาล ๒ ชนิด ลมที่พัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูหนาวเรียกว่าลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จะพัดเอาความหนาวเย็นมาจากประเทศจีนทำให้พื้นที่บริเวณนี้ประสบกับความหนาวเย็นและแห้งแล้ง ส่วนมรสุมอีกชนิดหนึ่งคือมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ลมนี้จะพัดพาเอาฝนและความชุ่มชื้นจากมหาสมุทร์อินเดียเข้าสู่พื้นที่ แต่เนื่องจากสภาพภูมิประเทศซึ่งมีเทือกเขาเพชรบูรณ์และเทือกเขาดงพญาเย็นเป็นอุปสรรค ทำให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้ามาได้ไม่สะดวก ทำให้ตากลางมีฝนตกน้อย เฉลี่ยปริมาณน้ำฝนทั้งปีประมาณ ๑,๒๙๘ มิลลิเมตร โดยฝนส่วนใหญ่เป็นฝนจากดีเปรสชั่นซึ่งเคลื่อนตัวมาจากทะเลจีนตอนใต้ ผ่านประเทศเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนลาวเข้ามา ดังนั้นในปีใดมีดีเปรสชั่นเข้ามามาก ปีนั้นน้ำมูลและลำชีจะมีมาก
อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีของตากลาง ประมาณ ๒๗ องศาเซลเซียส และมีอากาศร้อนที่สุดในเดือนเมษายน ประมาณ ๔๐ องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ ๖ องศาเซลเซียสในเดือนมกราคม ส่วนลมหนาวที่พัดผ่านจะมีในระหว่างเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ ตั้งแต่ปลายฤดูฝนถึงปลายฤดูหนาวพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีกำลังลมประมาณ ๖-๗ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนลมร้อนจะพัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ตั้งแต่ฤดูร้อนถึงฤดูฝน ราวเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม กำลังลมประมาณ ๖-๗ กิโลเมตรต่อชั่วโมง
|
ภาพจากหนังสือ "ตากลาง" - หมู่บ้านช้างแห่งลุ่มน้ำมูล - พิทยา หอมไกรลาศ |
การคมนาคมเนื่องจากหมู่บ้านตากกลางตั้งอยู่ในพื้นที่กึ่งกลาง ๓ อำเภอของ ๒ จังหวัด คืออำเภอท่าตูมและชุมพลบุรีเขตจังหวัดสุรินทร์กับอำเภอสตึกเขตจังหวัดบุรีรัมย์ และเป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงทางด้านการท่องเที่ยว ทำให้ตากลางมีเส้นทางเข้าออกหลายทิศทาง เช่นหากเดินทางมาจากบุรีรัมย์ก็จะใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๒๓๗๙ มาที่อำเภอสตึกแล้วแยกไปทางบ้านยางน้ำใส ผ่านบ้านโนนมะงา ตรงไปจนถึงบ้านตราด แล้วข้ามลำชีสู่เขตอำเภอท่าตูม ผ่านบ้านหนองบัวไปอีกราว ๑ ก.ม. ก็จะถึงบ้านตากลาง
ถ้าเดินทางมาจากตัวจังหวัดสุรินทร์ สามารถใช้ทางหลวงสายหลักหมายเลข ๒๑๔ ที่เชื่อมสุรินทร์กับอำเภอท่าตูม เมื่อมาถึงบ้านหนองตาดตรงหลักกิโลเมตรที่ ๒๖ เลี้ยวซ้ายผ่านบ้านบะ บ้านกระโพ และบ้านจินดา จนถึงบ้านตากลางรวมระยะทาง ๕๖ กิโลเมตร เส้นทางนี้สามารถนั่งรถโดยสารจากสถานีขนส่งมาต่อรถจักรยานยนต์รับจ้างที่บ้านหนองตาดเข้าไป หรือจะนั่งรถสองแถวประจำหมู่บ้านตรงมาที่บ้านตากลางเลยก็ได้ แต่ละวันจะมีรถเพียง ๔ เที่ยวและเวลาเข้าออกไม่แน่นอน
นอกจากนี้บ้านตากลางยังมีถนนเชื่อมต่อไปยังหมู่บ้านในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งที่เป็นถนนลาดยาง ถนนคอนกรีต และถนนลูกรัง
ขอขอบคุณที่มาของข้อมูล
(หนังสือ "ตากลาง" หมู่บ้านช้างแห่งลุ่มน้ำมูล - พิทยา หอมไกรลาศ)
ผมจะทำได้หรือไม่ อีก ๒-๓ วันรู้กัน! ช่วยลุ้นหน่อยนะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น