วันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

FB Trip ไป อช.แม่ปิง - โบสถ์ครูบาเป็กข์



๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๒ เวลาบ่ายโมงตรง ผมปั่นจักรยานมาถึงจุดที่เป็นไฮไลท์ของ "FB Trip ไป อช.แม่ปิง" ครั้งนี้


จากโรงพยาบาลบ้านโฮ่งบนทางหลวงหมายเลข 106 (G) หยุดรถถ่ายภาพวัดห้วยปางค่าซึ่งอยู่ไกลออกไป แล้วปั่นต่ออีกนิดเดียวก็ถึงสถานที่ (M) ซึ่งใน google maps เขียนว่า "โบสครูบาเป็ก"



ครั้งแรกที่เห็นชื่อสถานที่ว่า "โบสครูบาเป็ก" ผมก็ยังสงสัยว่า "ครูบาเป็ก" มีอยู่ในตำนานด้วยหรือ? จากการค้นคว้าเพิ่มเติมจากพจนานุกรมออนไลน์ ทำให้เข้าใจได้ว่า "เป็กข์" (น.) หมายถึง ผู้เพ่ง, ผู้มุ่ง, มักใช้เป็นส่วนท้ายสมาส เช่น อุปสัมปทาเปกข์ คือ ผู้เพ่งอุปสมบท ผู้มุ่งอุปสมบท สอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ใกล้ตัวก็ทราบว่าคำเมืองใช้เป็นคำกริยา (ก.) หมายถึง บวชต่อจากเณรเป็นพระ  ผมเข้าใจว่าครูบาซึ่งผู้เขียนชื่อสถานที่ใน google maps คงหมายถึงครูบาศรีวิชัย ดังนั้นถ้าจะให้แปลความก็น่าจะหมายถึง "อุโบสถที่ครูบาศรีวิชัยได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุเมื่อ ๑๒๐ ปีที่แล้ว" (หากไม่ถูกต้องก็ต้องขออภัย)  

ผมเห็นอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยตั้งเด่นอยู่ด้านหน้า เพิ่งได้รับการเปลี่ยนผ้าไตร จากข่าวที่ว่า "วันเป็กข์ (อุปสมบท) ครูบา ต๋นบุญแห่งล้านนาไหว้สาครูบาศรีวิชัย โดยจัดขึ้นที่อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย อุโบสถธรณีสงฆ์วัดบ้านโฮ่งหลวง ต.บ้านโฮ่ง อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน เมี่อ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๒ โดยคณะศรัทธาได้จัดขบวนแห่ผ้าไตรประทานสมเด็จพระสังฆราชและขบวนแห่ครัวทาน"...

 

ยิ่งได้อ่านประวัติย่อครูบาศรีวิชัย ก็ยิ่งเข้าใจยิ่งขึ้น...


ประวัติย่อพระครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย
พระครูบาศรีวิชัย นามเดิม อินทร์เฟือน เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๑ ตรงกับวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ ปีขาล เป็นบุตรของนายควาย นางอุสา เกิดที่บ้านปาง ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ ณ วัดบ้านปาง มีครูบาขัติ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้นามฉายาว่า "สิริวิชโย" ต่อจากนั้นได้ไปเรียนกัมมัฏฐานจากครูบาอุปถะ วัดพระธาตุดอยแค จากนั้นได้กลับมาสร้างวัดบ้านปางในที่แห่งใหม่ว่า "วัดจอมสะหรีดอนชัยทรายมูลบุญเรืองบ้านปาง" ครูบาได้ประพฤติวัตรปฏิบัติในศีลธรรมกัมมัฏฐาน บำเพ็ญเพียรบารมีจนโด่งดังเป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชนไปทั่วแคว้นดินแดนล้านนาจนได้รับขนานนามว่าเป็นนักบุญแห่งล้านนาไทย ผลงานที่ได้สร้างไว้คือ จารึกคำภีร์ธรรมคำสอนจำนวน ๓,๗๘๕ ผูก สร้างคนขึ้นดอยสุเทพ ก่อสร้างบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามทั่วภาคเหนือจำนวน ๑๐๘ แห่ง สร้างสานุศิษย์ศาสนวัตถุจนเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วหน้า สมกับที่อนุชนรุ่นหลังขนานนามท่านว่า "ต๋นบุญ" ครูบาดำรงสมณเพศจวบจนกระทั่งถึงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ ก็ได้ถึงแก่มรณภาพ รวมอายุได้ ๖๐ ปี ๔๐ พรรษา ได้รับพระราชทานเพลิงศพวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ณ วัดจามเทวี หลังจากพระราชทานเพลิงศพแล้ว ได้มีการแบ่งอัฐิออกเป็นส่วน ๆ เพื่อนำไปบรรจุสถานที่ต่าง ๆ ขณะเดียวกันพระครูศีลาภรณ์พิมล (ครูบาบุญมาสีลาภิรโต) เจ้าคณะกิ่งอำเภอบ้านโฮ่ง เจ้าอาวาสวัดบ้านโฮ่ง ซึ่งเป็นลูกศิษย์อีกรูปหนึ่งได้รับแบ่งอัฐธาตุมาบรรจุในกู่อนุสาวรีย์วัดบ้านโฮ่งหลวง...





มีป้าย "ประวัติย่อ อุโบสถวัดบ้านโฮ่งหลวง" ตั้งอยู่ด้วย จำเป็นต้องอ่านเพื่อจะได้ทราบที่มาของโบสถ์หลังที่เห็นอยู่ นับว่าเป็นบุญที่ได้มาเห็นสถานที่ที่ครูบาศรีวิชัยได้รับการอุปสมบท (เม็กข์) เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๒ คือเมื่อ ๑๒๐ ปีที่แล้ว...



จัดว่าเป็นข้อความอักษรตัวเล็กและมีข้อมูลยาวที่สุดตั้งแต่ผมพิมพ์ลงเว็บ เห็นว่าสำคัญต่อการเรียนรู้จึงอยากให้เพื่อน ๆ ได้อ่าน...
ประวัติย่อ อุโบสถ วัดบ้านโฮ่งหลวง
อุโบสถ วัดบ้านโฮ่งหลวง ตั้งอยู่ ณ เขตธรณีสงฆ์วัดมหาสังฆารามสะหรีบุญเรืองบ้านโห้งหลวงหรือวัดบ้านโฮ่งหลวง ไม่ปรากฏปีที่สร้าง คาดว่ามีอายุประมาณ ๗๐๐ ปี ตั้งอยู่ริมทางหลวงพหลโยธิน หมายเลขที่ ๑๐๖ อยู่ทางด้านทิศตะวันออก ริมฝั่งแม่น้ำลี้ หมู่ ๒ บ้านหม้อหรือบ้านหมั้ว เหตุที่ชื่อนี้เพราะตั้งอยู่สี่แยกหลายหมู่บ้าน เป็นทางผ่านมาบรรจบพบกัน ณ ที่นี้ และเคยเป็นตลาดศูนย์กลางทางการค้าขายแลกเปลี่่่่่ยนสินค้ามาก่อน ในอดีตหลายร้อยปี บริเวณแห่งนี้เป็นเวียงเรียกว่า "เวียงหม้อ" "เวียงหวาย" คู่กับเวียงหนองล่องมาก่อน มีพระญาจันทราชาหรือเจ้าพ่อแปดเลี่ยมปกครอง เคยเป็นที่ตั้งอารามประจำเวียงคือวัดบ้านโฮ่งหลวง แต่ถูกกระแสน้ำแม่ลี้ซึ่งมีความลึกและกว้างกว่าปัจจุบันได้กัดเซาะตะลิ่งเข้าไปบริเวณวัด จึงทำให้วิหารเสนาสนะภายในวัดล่มจมไปกับกระแสน้ำยังคงเหลือแค่อุโบสถหลังเดียว พระสงฆ์และศรัทธาประชาชนในสมัยนั้นจึงได้ย้ายไปสร้างวัดใหม่ซึ่งตั้งอยู่ตรงกันข้ามวัดเดิมทางทิศตะวันตกห่างออกไปประมาณ ๕๐๐ เมตร อุโบสถจึงถูกทิ้งร้างผุพังกัดกร่อนเสียหายไปตามเวลา พอถึงยุคสมัยหนึ่ง พระพุทธศาสนาเข้ามาเผยแผ่ถึงบ้านโฮ่งอีกครั้ง หลังจากผู้คนอพยพล้มตายเนื่องจากสงครามบ้าง ทุพภิกขภัยย้ายถิ่นฐานไปที่อุดมสมบูรณ์ หลังจากที่มีผู้คนอพยพจากเชียงใหม่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ใหม่ได้มีนายชัยหรือพญาไชยมงคลเขื่อนเพชรและคณะเป็นผู้ก่อสร้างบูรณะอีกครั้ง ในยุคต่อ ๆ มาอุโบสถหลังนี้จึงได้ถูกบูรณะปฏิสังขรณ์อีกหลายครั้ง มีพระครูบาศีลาภรณ์พิมล (ครูบามหาวงศ์) พร้อมด้วยศิษยานุศิษย์ ขุนแพทย์ฤาชัยร่วมกับคณะศรัทธาได้ร่วมกันบูรณธสิ้นทุนทรัพย์ ๕๐๐ รูปีเพื่อใช้เป็นที่ทำสังฆกรรมเหมือนแต่เดิม และครั้งล่าสุดพระครูอดุลธรรมคณี เจ้าคณะอำเภอบ้านโฮ่ง เจ้าอาวาสวัดบ้านโฮ่งหลวงร่วมกับคณะศิษยานุศิษย์ได้ดำเนินการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙

ร้อยกว่าปีล่วงแล้วมาวัดบ้านโฮ่งหลวงมีพระสงฆ์รูปหนึ่งมีนามว่าสม ฉายาสมโณ หรือมีนามเรียกขานอีกชื่อหนึ่งว่า ตุ๊เจ้าสมณะ หรือตุ๊เจ้าตุ้ย ได้บรรพชาและอุปสมบท ณ อุโบสถหลังนี้ หลังจากบวชแล้วได้เข้าไปฝากตัวเป็นศิษย์ของสมเด็จเชษฐวชิราปัญญามหาเถร วัดสันต้นธงสังฆปาโมกข์เมืองลำพูน ซึ่งสมเด็จองค์นี้เป็นศิษย์ของครูบากัญจนะอรัญวาสีมหาเถร แห่งวัดป่าสูงเม่น จังหวัดแพร่ และเป็นมหาเถรที่มีชื่อเสียงโด่งดัง กระทั่งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ให้ความเคารพนับถือนิมนต์ท่านไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์หลวง เวียงเชียงใหม่ และครูบากัญจนะองค์นี้เองได้นำเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สร้างหละกังสะดาลถวายองค์พระบรมธาตุเจ้าหริภุญชัยอีกด้วย จึงถือได้ว่าครูบาสมณะเป็นพระมหาเถระมีผู้คนเคารพนับถือท่านในฐานะเป็นศิษย์ครูบาสมเด็จ ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนอักขระสมัยบาลีไวยากรณ์มูลกัจจายน์ ศึกษาศิลปวิทยาคมร่วมสมัยกับครูบาวัดรอยแคและคณะสงฆ์ในเชียงใหม่ทั้งสายวัดสวนดอกและวัดป่าแดง โดยเฉพาะนิกายยองอันเป็นนิกายพื้นเมืองเดิมที่พุทธศาสนาเข้ามาเผยแพร่ในครั้งอดีต จนมีผู้นำลูกหลานไปฝากตัวเป็นศิษย์ท่านจำนวนมาก มีผู้สูงอายุที่เคยบวชเรียนและเล่าสืบ ๆ ต่อ ๆ กันมา หลังจากลาครูบาอาจารย์กลับมาอยู่บ้านโฮ่งก็ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอธิการอุปัชฌาย์ เป็นเจ้าคณะแขวงเมืองลี้ และหัวหมวดอุโบสถแทนครูบาอาจารย์ท่าน ครูบาสมณะเป็นผู้ที่มีความสามารถรับรู้ถึงสัททะเสียงเนียงสัตว์คุยกันและมีความรู้และเข้าใจถึงภาษาบาลี ตลอดจนฝีมือในจิรจารอักขระภาษาล้านนาได้มาก และไม่มีใครสวยเท่าลายมือของท่าน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เด็กหนุ่มคนหนึ่งแห่งหมู่บ้านบางสมัครฝากตัวเป็นศิษย์และได้รับการอุปสมบทเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ ขณะมีอายุได้ ๒๐ ปี ณ พัทธสีมาวัดมหาสังฆารามศรีบุญเรืองบ้านโท้งแห่งนี้ ได้รับสมัญญานามที่ชาวโลกเรียกขานท่านว่า "สิริวิชโย" หรือ "ครูบาศรีวิชัย" นักบุญแห่งล้านนาไทย โดยมีพระครูสมณะคามวาสีมหาเถระเป็นอุปัชฌาย์ จากนั้นต่อมาอีกหลายสิบปีก็เลิกใช้อุโบสถหลังดังกล่าว เพราะวัดบ้านโฮ่งหลวงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา จึงทำให้อุโบสถไม่ได้รับการดูแลและรกร้างไปในที่สุด
ในช่วงที่ครูบาศรีวิชัยอุปสมบทใหม่ ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนศีลธรรมกัมมัฏฐานจากครูบาสมณะ หลังจากกราบลาอาจารย์แล้วในช่วงที่เดินทางไปมาระหว่างในเมืองเชียงใหม่ลำพูน ก็ได้แวะกราบคารวะอยู่เสมอ ๆ ในฐานะสัทธิวิหาริกอันเควาสิกลูกศิษย์กับอาจารย์ จนกระทั่งครูบาสมณะถึงแก่มรณภาพ ครูบาศรีวิชัยก็ได้เป็นกำลังหลักในการจัดงานประชุมเพลิงและนำอัฐิธาตุมีลักษณะประดุจดั่งถั่วเหลืองเท่าจำนวนบาตรไปก่อสถูปบรรจุไว้ด้านหลังอุโบสถแห่งนี้ด้วย และหลังจากครูบาศรีวิชัยถึงแก่มรณภาพแล้ว ด้วยวัย ๖๐ ปีซึ่งเท่ากับอายุอุปัชฌาของท่าน ในช่วงหนึ่งหลังจากครูบาศรีวิชัยมรณภาพได้นำสรีระร่างครูบาศรีวิชัยมาพักบำเพ็ญกุศล ณ วัดแห่งนี้มาก่อนที่จะนำไปในเวียงลำพูน จากนั้นพระครูศีลาภรณ์พิมล (บุญมา) หรือครูบามหาวงศ์ศิษย์ครูบาศรีวิชัยอีกรูปหนึ่ง ได้นำอัฐิธาตุจากวัดจามเทวีมาจำนวนหนึ่ง มาก่อสถูปบรรจุไว้ ณ วัดบ้านโฮ่งหลวง จะเห็นได้ว่าสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ ๆ ผลิตหน่อเนื้อไขแห่งอริยสงฆ์แห่งล้านนาหลายรูป สมควรที่บรรดาเหล่าสานุศิษย์ศรัทธาพุทธศาสนิกชนควรรำลึกถึงปูชนียสถานอันควรร่วมกันบูรณะปฏิสังขรณ์ให้เป็นถาวรวัตถุทางประวัติศาสตร์ล้านนาจารึกไว้แก่อนุชนรุ่นหลังสืบต่อไป
เรียบเรียงสืบค้นประวัติโดย พระครูปริยัติรังสรรค์ (มหารังสรรค์ ชัยสมภาร) ลูกหลานพญาไจยมงคลเขื่อนเพชร


















  





เสียดายยังไม่ได้ไปที่วัดบ้านโฮ่งหลวงซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ ๕๐๐ เมตร... ไว้วันหน้าก่อแล้วกั๋นน้อ!  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น