วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2561

รู้จักไดโนเสาร์


กำเนิดชื่อ "ไดโนเสาร์"
ในปี พ.ศ. ๒๓๘๕ เซอร์ริชาร์ด โอเวน นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษได้ศึกษาซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์กลุ่มหนึ่งที่พบในยุโรปและสรุปว่าเป็นซากของสัตว์เลื้อยคลานดึกดำบรรพ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ด้วยขนาดที่ใหญ่โตของซากที่พบ เขาตั้งชื่อเรียกว่า "ไดโนเสาร์" ซึ่งหมายถึง "สัตว์เลื้อยคลานที่น่าสะพรึงกลัว" 

ไดโนเสาร์คืออะไร?
ไดโนเสาร์คือสัตว์เลื้อยคลานดึกดำบรรพ์กลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่บนพื้นดิน มีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ลักษณะเด่นคือมีขาตั้งตรงอยู่ใต้ลำตัวเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งทำให้มันเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วว่องไวบนพื้นดิน ต่างจากสัตว์เลื้อยคลานอื่น ๆ ที่มีขากางออกข้างลำตัว ส่วนสัตว์เลื้อยคลานดึกดำบรรพ์พวกที่บินได้และพวกที่อาศัยอยู่ใต้ทะเลนั้นไม่จัดว่าเป็นไดโนเสาร์
ความหลากหลายของไดโนเสาร์
ไดโนเสาร์นับเป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการหลากหลายมากที่สุดในบรรดาสัตว์ที่เคยมีมาในโลก โดยสามารถดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้นานถึง ๑๘๖ ล้านปี จากบรรพบุรุษขนาดเท่าสุนัข ไดโนเสาร์วิวัฒนาการไปเป็นหลากหลายเผ่าพันธุ์ มีทั้งพวกที่เป็นนักล่าขนาดยักษ์พอ ๆ กับช้าง พวกกินพืชที่ตัวยาวเท่ากับรถบัสหลายคัน และพวกตัวเล็กที่ว่องไวขนาดเท่าไก่
ช่วงเวลาที่ไดโนเสาร์ครองโลก 
ไดโนเสาร์พวกแรกปรากฏขึ้นเมื่อ ๒๕๑ ล้านปีก่อน ในช่วงเวลาที่พวกมันครองแผ่นดิน ไม่มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่กว่าแมวเกิดขึ้นได้ และเมื่อ ๖๕ ล้านปีที่แล้ว พวกมันก็สาบสูญไปอย่างฉับพลัน

ในอาคารไดโนเสาร์เชียงม่วน มีโครงกระดูกเจ้าซอโรพอดในสภาพสมบูรณ์อยู่หนึ่งตัว ไม่ใช่ของจริงนะครับ เค้าทำขึ้นมาเป็นชิ้น ๆ แล้วนำมาประกอบกันเป็นตัวตั้งไว้ให้ได้ชมกัน....







พร้อมทั้งมีป้ายให้ความรู้เรื่องวิวัฒนาการของสัตว์เลื้อยคลานยุคดึกดำบรรพ์...




ไม่มีไดโนเสาร์ตัวจริงแล้วให้มาดูอะไรล่ะ?  ก็มาดูหลักฐานการค้นพบไดโนเสาร์ตัวแรกในภาคเหนือที่นี่ไงครับ...




มาดูฟอสซิล (fossil)** ของไดโนเสาร์เชียงม่วนซึ่งประกอบด้วยกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และกระดูกคอ...





และเศษชิ้นส่วนของจริงที่อยู่ในตู้กระจก มีทั้งกระดูกซี่โครงและกระดูกโคนหาง...



และข้อมูลอื่น ๆ ที่มีประโยชน์...


บริเวณที่พบกระดูกไดโนเสาร์เป็นเนินเขาหินทรายสีแดง ทางด้านตะวันออกของเทือกเขาดอยแก่งหลวง - ดอยกิ่วแก้ม มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ๒๖๐ เมตร อยู่ในเขตบ้านหนองกลาง หมู่ ๗ ตำบลบ้านมาง อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ห่างจากตัวอำเภอเชียงม่วนมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ๗ กิโลเมตร


คนแก่ผู้ด้อยความรู้ในเรื่องเหล่านี้ก็ต้องขอขอบคุณการสำรวจและขุดค้นอย่างเป็นระบบของเจ้าหน้าที่ ซึ่งในแผ่นป้ายบรรยายว่า...
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ดร.วราวุธ สุธีธี นักโบราณชีววิทยา หัวหน้าคณะสำรวจของกรมทรัพยากรธรณี ได้นำคณะสำรวจเข้ามาทำการขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ที่พบที่นี่อย่างเป็นระบบ โดยเปิดหน้าดินออกไปเป็นบริเวณกว้างประมาณ ๕ เมตร ยาว ๗ เมตร พบซากกระดูกไดโนเสาร์วางตัวเรียงต่อกันในแนวทิศเหนือ-ทิศใต้ จำนวนประมาณ ๒๐ ชิ้น กระดูกที่ขุดค้นพบประกอบด้วยกระดูกคอ กระดูกสันหลัง กระดูกโคนหาง กระดูกสะโพก และกระดูกซี่โครง ผลการตรวจสอบทำให้ทราบว่าซากดึกดำบรรพ์ที่ค้นพบเป็นกระดูกไดโนเสาร์ซอโรพอด ซึ่งเป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ และนับเป็นครั้งแรกที่มีการขุดค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ในภาคเหนือของไทย

ถ้าเพื่อน ๆ มีโอกาสผ่านไปทางอำเภอเชียงม่วน ก็อย่าลืมแวะไปหาเจ้าซอโรพอดนะครับ!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
**ซากพืชหรือสัตว์ที่เป็นหิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น