วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2558

วัดป่าพระนางเจ้าจามเทวี (หนองปู่ฮ้อ)


บนทางหลวงหมายเลข ๑๑  จากสี่แยกห้างฉัตร (1) ถ้าปั่นจักรยานล่องไปทางทิศตะวันออก (เข้าเมือง) ประมาณกว่า ๑ กิโลเมตร จะพบป้ายบอกทางเข้า "วัดป่าพระนางเจ้าจามเทวี (หนองปู่ฮ้อ)" อยู่ทางด้านซ้ายมือ....


ปั่นเข้าไปตามทางที่ฝรั่งเรียกว่า dirt road ขนาบข้างด้วยรั้วแสดงอาณาเขตเจ้าของที่ดิน...




เข้าไปอีก ๔-๕๐๐ เมตร ก็เห็นธงปักเรียงราย....


ทางด้านขวามือเป็นที่ดิน ๑ ไร่กว่าของวัดป่าพระนางเจ้าจามเทวี...




เพื่อน ๆ ต้องอ่านป้ายก่อนนะครับ...จะได้ประวัติความเป็นมา


ประวัติความเป็นมา "วัดป่าพระนางเจ้าจามเทวี"
วัดป่าพระนางเจ้าจามเทวี เดิมชื่อ "วัดหนองปู่ฮ้อ" เจ้าคณะจังหวัดลำปาง-แพร่ พระโพธิญาณรังสีได้ให้ชื่อนี้ไว้เพื่อถวายความจงรักภักดีและประกาศเกียรติคุณของพระนางเจ้าจามเทวี ผู้ทรงอัจฉริยะเลิศด้วยประการทั้งปวง ความสำคัญของสถานที่แห่งนี้ ตามตำนาน เมื่อพันกว่าปีล่วงมานั้น อาจเริ่มต้นจากที่มาของชื่อตำบลห้างฉัตรซึ่งได้บันทึกไว้ว่า เมื่อครั้งที่พระนางเจ้าจามเทวีเสด็จจากหริภุญชัย ได้นำฉัตรบรรทุกมาบนหลังช้าง เพื่อจะนำไปประดิษฐานเหนือพระธาตุเจดีย์ลำปางหลวง และได้หยุดพักประกอบองค์ฉัตร ณ ตำบลห้างฉัตร ซึ่งการประกอบองค์ฉัตรเป็นของที่มีความสูง จึงต้องปีนป่าย เป็นคำกริยา เรียกว่า "ห้าง" จนกลายเป็นชื่อ "ห้างฉัตร" จนทุกวันนี้
สำหรับ ณ สถานที่แห่งนี้ หรือเส้นทางใกล้เคียง มีความสำคัญกับการเสด็จมาของพระนางเจ้าจามเทวี ในฐานะผู้มีบุญญาธิการ ในคราวที่ท่านได้เสด็จมาพร้อมพระราชโอรส พระเจ้าอนันตยศ (ผู้แฝด) พระเจ้าอนันตยศเดินทางเข้ามาปกครองเมืองเขลางค์ ระหว่างเดินทางได้เคลื่อนไพร่พลพร้อมช้าง ม้า วัว ควาย ขบวนเสบียงอาหารผ่านมาบริเวณสถานที่นี้ ปรากฏว่าไม่สามารถผ่านได้ เนื่องจากบริเวณนี้พื้นดินเป็นหล่มเป็นหนอง ช้างม้า วัวควายติดหล่ม ติดโคลน ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ ด้วยพระบารมีแห่งพระนางเจ้าจามเทวี ซึ่งทรงทราบว่าเหล่าพญานาคที่ได้ปกปักษ์รักษาสถานที่แห่งนี้ทราบว่าขบวนของพระแม่เจ้าฯ จะเสด็จผ่านทางนี้ จึงดลบันดาลให้พื้นดินกลายเห็นหนองเป็นหล่ม เพราะเหล่าพญานาคต้องการให้พระแม่เจ้าฯ ทรงสร้างพระเจดีย์ในบริเวณนี้ เพื่อเป็นที่สักการะของเหล่าพญานาคต่อไปในวันข้างหน้า
พระแม่ฯ ได้ทรงทราบความประสงค์ของเหล่าพญานาคเช่นนั้น จึงมีรับสั่งให้ส่งทหารและบริวารร่วมกันสร้างพระเจดีย์ขึ้นมา พื้นดินที่เป็นโคลนตมจึงกลับกลายเป็นที่ดอน ตามพลังอภินิหารของเหล่าพญานาค ขบวนเสด็จจึงผ่านบริเวณนี้ได้อย่างราบรื่น
กาลเวลาผ่านมา ตามหลักการทางประวัติศาสตร์ การย้ายถิ่นฐานและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของผู้คนในแต่ละยุคแต่ละสมัย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงหลักฐานมีการเล่าต่อ ๆ กันมาว่า ประมาณหนึ่งร้อยกว่าปี หมู่บ้านแถบนี้รวมทั้งหนองปู่ฮ้อ เต็มไปด้วยห้วย หนอง คลองบึง อุดมไปด้วยน้ำและมีปลาชุกชุม มีต้นไม้ใหญ่มากมาย ผู้คนจะอพยพมาอยู่ใกล้ที่มีแหล่งน้ำในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่อุดมด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร จากการได้สนทนากับคุณยาย... อายุ ๑๐๔ ปี ซึ่งปัจจุบันคุณยายท่านนี้ยังคงมีชีวิตอยู่ คุณยายเล่าว่าเมื่อครั้งคุณยายยังมีอายุอยู่ในวัยหนุ่มสาว วัดหนองปู่ฮ้อ มีเพียงแต่กุฏิไม้เก่า ๆ หลังหนึ่ง ยายต้องหาบข้าวปลาอาหารไปวัดเพื่อถวายพระ การเดินทางแต่ละครั้งต้องลุยน้ำไป บางช่วงน้ำก็เชี่ยว ข้าวปลาอาหารจะตกหล่นลงไปในน้ำอยู่บ่อยครั้ง พระท่านจึงบอกให้ยายว่าให้เอาแต่ข้าวมาก็พอ จะได้ไม่ต้องลำบากมาถวายทุกวัน
จากคำบอกเล่าของพ่อหลวง อดีตผู้ใหญ่บ้านแพะดอนสัก บันทึกประวัติหมู่บ้านแพะดอนสัก (ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงกันกับบ้านหนองปู่ฮ้อ) ตอนหนึ่งว่า เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์แรก (พระเจ้าอนันตยศ) เมื่อครั้งยกทัพไปเมืองลำพูน เสด็จผ่านมาทางนี้เห็นว่าเป็นทำเลที่ดีจึงปรารภกับเสนาอำมาตย์ ให้ตั้งเป็นฐานกำบังข้าศึก เพื่อมิให้ข้าศึกยกทัพเข้าไปในเมืองได้ ปัจจุบันที่แพะดอนสัก มีศาลเจ้าพ่อวิญยศ พระโอรสของพระเจ้าอนันตยศ สถานที่นี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มีน้ำไหลตลอดปี ไม่มีแห้ง ถึงแม้ในหมู่บ้านจะแห้งหมด แต่ที่นี่ไม่เคยแห้งหลายชั่วอายุคนมาตราบเท่าทุกวันนี้
จึงกล่าวได้ว่า พื้นแผ่นดินในแถบนี้เป็นแผ่นดินหรือเส้นทางที่มีผู้มีบุญญาธิการได้เสด็จผ่านบังเกิดสถานที่สำคัญที่มีความเชื่อมโยงกันแต่ในอดีตมากมาย อันได้แก่ วัดปันง้าว วัดกู่สี่ขันธ์ วัดหนองหล่ม วัดถ้ำขุนทรัพย์ วัดปงยางคก วัดนางเหลียว และวัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นต้น
ปัจจุบัน วัดป่าพระนางเจ้าจามเทวี (หนองปู่ฮ้อ) มีพื้นที่ ๑ ไร่ ๑ งาน ๓๙ ตารางวา ขึ้นทะเบียนวัดภายใต้การควบคุมและอนุญาตในสังกัดธรรมยุตนิกาย...

ในเต๊นท์ชั่วคราวประดิษฐานพระพุทธรูป และรูปปั้นพระนางเจ้าจามเทวี...






โครงการก่อสร้างอาคารและศาสนวัตถุวัดพระนางจามเทวีแสดงให้เห็นชัดเจน พร้อมแผ่นป้ายบอกบุญ...


ตรงกลางลานกว้าง กำลังวางฐานและก่อสร้างอาคาร (?)



ที่เห็นอยู่ด้านข้าง...โครงหลังคาตั้งขึ้นแล้ว!





ถัดไปเป็นกุฏิพระ ๔-๕ หลัง ดูไกล ๆ ผมคิดว่าฝาคงจะใช้ไม้เฌอร่า ส่วนหน้าต่างก็เป็นแบบบานเลื่อนสำเร็จรูป...


เป็นการก่อสร้างวัดด้วยเทคโนโลยีทันสมัย!!

2 ความคิดเห็น:

  1. ขอขอบคุณในความกรุณาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

    ตอบลบ
  2. ขอขอบคุณในความกรุณาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

    ตอบลบ