จากบ้านวิชาเยนทร์ ผมปั่นจักรยานไป "เทวสถานปรางค์แขก" ซึ่งเรียกสั้น ๆ ว่า "ปรางค์แขก" กล่าวกันว่าเป็นโบราณสถานเก่าแก่ที่สุดของจังหวัดลพบุรี...
เช้านี้ท้องฟ้าสีสวย...
ผมมองเห็นปราสาทขอมตั้งอยู่ในสนามหญ้าสีเขียวบนเกาะกลางถนน รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับภาพที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า...
ตัวเทวสถานประกอบด้วยปราสาทอิฐ ๓ องค์ เรียงตัวกันในแนวเหนือใต้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามธรรมเนียมที่พบในกัมพูชา องค์กลางมีขนาดใหญ่กว่าองค์อื่น ๆ มีประตูทางเข้าเพียงประตูเดียวในแต่ละปรางค์ ส่วนอีกสามประตูเป็นประตูหลอก และไม่มีฉนวนเชื่อมดังพระปรางค์สามยอด แต่เดิมก่อด้วยอิฐไม่สอปูนและคาดว่าคงพังทลายลง ช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลายในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงมีการปฏิสังขรปรางค์ทั้งสามองค์ขึ้นใหม่ในรูปแบบถืออิฐสอปูน แต่ละก้อนเชื่อมด้วยยางไม้ และสร้างอาคารอีกสองหลังขึ้นเพิ่มเติม โดยอาคารแรกเป็นวิหารทางด้านหน้า ส่วนอาคารอีกหลังทางทิศใต้สร้างเป็นถังเก็บน้ำประปา และอาคารทั้งสองเป็นศิลปะไทยผสมยุโรปตามพระราชนิยม โดยประตูทางเข้ามีลักษณะโค้งแหลม ต่อมาเมื่อเทวสถานปรางค์แขกชำรุดทรุดโทรมลง กรมศิลปากรจึงเข้าไปทำการบูรณะเพิ่มเติมและเทคอนกรีตเสริมฐานราก
มีป้ายบรรยายด้วยครับ เพื่อน ๆ อ่านหน่อยน้า...ผมพิมพ์ให้แล้ว
เทวสถานปรางค์แขก ตั้งอยู่ระหว่างพระนารายณ์ราชนิเวศน์กับบ้านหลวงรับราชทูต ไม่ห่างจากพระปรางค์สามยอดมากนัก เดิมเป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ประกอบด้วยปราสาทก่ออิฐ ๓ องค์ ตั้งเรียงกันในแนว เหนือ-ใต้ ปราสาทองค์กลางขนาดใหญ่สุดขนาบข้างด้วยปราสาทขนาดเล็ก ๒ องค์ ปราสาททั้งสามมีประตู เข้า-ออก ทางด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว อีกสามด้านเป็นประตูหลอก ปรางค์แขกกำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ด้วยมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมคล้ายกับปราสาทในศิลปะเขมรในพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีการบูรณะปรางค์แขกสร้างวิหารหน้าปราสาทองค์กลาง ซึ่งมีประตูทางเข้าแบบโค้งแหลม และถังเก็บน้ำอยู่ทางด้านใต้ของปราสาท ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๐๔ และ พ.ศ. ๒๕๒๑ กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งและบูรณะปรางค์แขกอีกครั้งหนึ่ง นับว่าปรางค์แขกเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรีแสงกำลังดีเลย ผมเดินเก็บภาพมาฝากเพื่อน ๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น