ผ่านสี่แยกถนนพรหมเทพ (2) หยุดถ่ายภาพวงเวียนน้ำพุไว้ ๑ บาน...
ตรงไปจนถึงวัดสุปัฏนารามวรวิหาร (3) ซึ่งตั้งอยู่บนถนนสมเด็จ...
นำจักรยานไปจอดไว้ไม่ไกลจากหอระฆัง...
วัดสุปัฏนารามวรวิหารเป็นวัดธรรมยุติวัดแรกของจังหวัดอุบลราชธานี สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๖
พระอุโบสถสร้างแบบผสมผสาน ส่วนหลังคาเป็นศิลปะแบบไทย ส่วนกลางเป็นศิลปะตะวันตก และส่วนฐานเป็นศิลปะแบบขอม...
เก็บภาพมาให้เพื่อน ๆ ดูดังนี้...
Imitation...
บานประตูเรียบง่าย...
ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธาน คือ "พระสัพพัญญูเจ้า" พระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๔ คืบ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙
นอกจากนั้นวัดสุปัฏนารามวรวิหารยังมี ‘หอศิลปวัฒนธรรม’ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ เพื่อใช้เป็นที่เก็บรวบรวมศิลปะและโบราณวัตถุต่าง ๆ
น่าเสียดายที่เปิดให้ประชาชนเข้าชมได้เฉพาะเทศกาลสำคัญเท่านั้น มีเพียง ๒-๓ ชิ้นที่ตั้งแสดงไว้ด้านนอก อย่างเช่น ใบเสมาโบราณ ที่มีป้ายอธิบายอยู่ข้าง ๆ ว่า...
คำว่า เสมา เป็นศัพท์ในภาษาไทย ที่มาจากคำว่า สีมา ในภาษาบาลี-สันสกฤต หมายถึงหลักเขตทำสังฆกรรม (โบสถ์) นักวิชาการเรียกว่า แท่งศิลาหรือแผ่นศิลา มีอายุก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พบในภาคอีสาน
ประวัติที่มา : สันนิษฐานว่า สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) นำมาจาก บ้านตาดทอง อ.เมือง จ.ยโสธร
วัสดุ : ศิลาทราย
ขนาด : สูงรวมฐาน ๒๓๔ เซนติเมตร ฐานกว้าง ๑๐๑ เซนติเมตร หนา ๓๘ เซนติเมตร
ศิลปะ : ทราวดีภาคอีสาน
ใบเสมานี้ มีการสลักตกแต่งทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งสลักเป็นรูปเส้นตรงยาวเหลี่ยมด้านบน ส่วนล่างสลักเป็นรูปหม้อน้ำกลม สันนิษฐานว่าเป็นภาพหม้อน้ำปูรณฆฏะ อีกด้านหนึ่งที่ฐานสลักลายดอกจิกแล้วมีรูปเส้นตรงยาวที่ฐานใบเสมาแกะสลักเป็นรูปกลีบบัว
อายุ : อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๗
มีโปงตะเคียนโบราณสร้างเมื่อปี ๒๔๖๗ ตั้งแสดงไว้ที่ใต้หอระฆัง...
พร้อมป้าย "ประวัติโปงไม้ตะเคียน" อ่านหน่อยนะครับ
คำว่าโปง หมายถึงระฆังใหญ่ ทำด้วยไม้ หรือ โลหะ ใช้กระทุ้งให้เกิดเสียง
โปง หรือ กะปุง เป็นเครื่องตีบอกอาณัติสัญญาณของพระสงฆ์ในวัด แทนการตีระฆัง หรือกลอง เพราะเสียงโปงจะดังกังวานกว่าระฆังหรือกลอง โปงทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่นไม้ตะเคียนท่อนใหญ่ตัดหัวท้าย แล้วนำมาขุดให้เป็นโพรงกลวงข้างใน คว่ำด้านที่ขุดเป็นโพรงลงด้านล่าง เจาะด้านข้างเป็นรูทั้งสองข้างเพื่อเป็นรูเสียง หรือรูแพ แล้วเจาะรูด้านบนสำหรับสอดไม้ค้ำโปงกับเสาแขวนไว้ใต้หอระฆัง เวลาตีใช้ไม้ท่อนใหญ่ ๆ ลักษณะคล้ายสากกระทุ้งโปงเพื่อให้เกิดเสียง กริยากระทุ้งโปงภาษาท้องถิ่นอีสานเรียก "ทั่งโปง" กระทุ้งโปงตามกาลเวลาดังนี้
- เวลาเช้า ก่อนพระบิณฆบาต เพื่อให้ญาติโยมเตรียมตัวตักบาตร
- เวลาเย็น เพื่อประโยชน์ให้คนที่หลงป่ากลับมาถูกทิศ
- เวลาย่ำค่ำ ในช่วงเข้าพรรษาเพื่อให้พระลงทำวัตรเย็น
- เวลายามวิกาล แสดงว่าเกิดเหตุร้ายขึ้นในวัด และแจ้งข่าวสารให้ชาวบ้านได้ทราบว่าทางวัดขอความช่วยเหลือ....
สำหรับโปงนี้ ทำด้วยไม้ตะเคียน (ไม้แคน) ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ (ช่างท้องถิ่น) โดยมีขนาด ความสูง ๓๕๗ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๐๒.๓ เซนติเมตร
ได้เวลาออกเดินทางต่อแล้วครับ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น