วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2565

พระพุทธรูปเจ้าไม้แก่นจันทน์

พระพุทธรูปเจ้าไม้แก่นจันทน์อันล้ำค่าถูกนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดป่าตันหลวง อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ท่านใดอยากเห็นและกราบสักการะก็ต้องมาที่วัดนี้... 

 
พระเจ้าไม้แก่นจันทน์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยแบบเชียงแสนรุ่นหลัง หรือแบบสิงห์สาม แกะสลักจากไม้แก่นจันทน์ ฐานแกะสลักเป็นรูปกลีบบัว ศิลปะแบบปาละ ฐานรองลงไปสลักลวดลายประดับอัญมณี ขนาดหน้าตักกว้าง ๓๒ เซนติเมตร สูง ๔๒ เซนติเมตร ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดป่าตันหลวง อำเภอแม่ทะ 
 
นี่คือสถานที่เดิมที่เคยประดิษฐานพระพุทธรูปเจ้าไม้แก่นจันทน์...
 
 
 
เฟสบุ๊ค "ร้อยเรื่องเมืองพะเยา" เขียนไว้ว่า...
ตำนานในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์กล่าวว่า  พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงโปรดให้สร้างพระพุทธรูปจากไม้จันทน์หอม ต่อมากษัตริย์ในสุวรรณภูมิได้อัญเชิญมาสักการบูชาในดินแดนของพระองค์ จนเวลาผ่านไปกว่าพันปี พระเจ้าอาทิจจักษ์ กษัตริย์สุวรรณภูมิได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดอโศการาม ๑๕ ปีถึง พ.ศ.๒๐๓๖ ได้อันเชิญกลับไปประดิษฐานที่วัดป่าแดงหลวงดอนชัยตามเดิม
ล่วงมา พ.ศ.๒๐๖๕ พระเมืองแก้วโปรดให้อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดบุพพาราม เชียงใหม่ ภายหลังไปอยู่วัดเจ็ดยอด จากนั้นอัญเชิญกลับไปที่พะเยาอีก และ พ.ศ.๒๓๓๐ เจ้าฟ้าเมืองพะเยาหลบหนีภัยมาตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านปงสนุก เมืองลำปาง ได้อัญเชิญพระเจ้าไม้แก่นจันทน์ไปด้วย และได้ประดิษฐานอยู่ในนครลำปางสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ในเทศกาลสงกรานต์มีประเพณีสรงน้ำพระพุทธรูปไม้แก่นจันทน์เป็นประจำทุก ๆ ปี ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๕ - ๑๗ เมษายน โดยมีพุทธศาสนิกชนทั่วสารทิศมาร่วมพิธีตลอดเวลา ๓ วัน ๓ คืน และในวันลอยกระทงจะจัดพิธีสมโพช มีการอาราธนาพระเจ้าไม้แก่นจันทน์มาประดิษฐานเป็นประธานในพิธีด้วย
ภาพนำมาจากเฟสบุ๊ค "ร้อยเรื่องเมืองพะเยา" - ขอขอบคุณ


  
dooasia.com มีบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระเจ้าไม้แก่นจันทน์ ซึ่งผมขออนุญาตนำมาแบ่งปัน...
พระเจ้าแก่นจันทน์ควรยืนหรือนั่ง?

ที่ลำปางมีวัดแห่งหนึ่งชื่อ “ป่าตันหลวง” อำเภอแม่ทะ มี “พระเจ้าแก่นจันทน์” เป็นประธาน ถือเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองที่ชาวลำปางจะแห่มาสรงน้ำกลางเมืองร่วมกับพระพุทธรูปองค์สำคัญอื่นๆ อาทิ พระแก้วดอนเต้า พระเจ้าทองทิพย์ ฯลฯ ในช่วงวันสงกรานต์ทุกปี

โดยทางวัดระบุว่าพระองค์นี้คือพระเจ้าแก่นจันทน์องค์เดียวกันกับที่เคยอยู่พะเยาและเชียงใหม่มาก่อน แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นถึงได้มีการย้ายจากเชียงใหม่ไปลำปาง ใครย้าย เมื่อไหร่?

มีคำถามตามมาอีกว่า พระเจ้าแก่นจันทน์ที่ลำปาง ทำไมจึงเป็นพระพุทธรูปไม้ประทับนั่ง ไม่ใช่พระยืนตามที่ตำนานระบุไว้?

ในขณะที่ทางวัดเจ็ดยอด กลับมีความเชื่อว่า พระเจ้าแก่นจันทน์องค์ที่เคยอยู่เชียงใหม่นั้น “น่าจะอยู่ที่ประเทศลาวแล้ว” โดยอธิบายว่า สมัยพระเมืองเกษเกล้าได้มอบพระธิดาคือนางยอดคำทิพย์ ไปอภิเษกกับพระเจ้าโพธิสารราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง (ลาว)

นางยอดคำทิพย์นิยมมาไหว้พระเจ้าแก่นจันทน์ที่วัดเจ็ดยอดเป็นประจำ จึง(อาจ)นำพระเจ้าแก่นจันทน์องค์นี้ติดไปไว้ที่หลวงพระบางด้วย บางท่านระบุว่าที่วัดเชียงทอง หลวงพระบาง มีพระพุทธรูปไม้ประทับยืนลงรักปิดทองหลายองค์ บางทีหนึ่งในนั้นอาจเป็นพระเจ้าแก่นจันทน์ที่นางยอดคำทิพย์นำไปก็เป็นได้

สรุปแล้ว พระแก่นจันทน์ ที่พระเจ้าปเสนทิโกศลพยายามห้ามมิให้อันตรธานหายไปนั้น ตอนนี้ก็อันตรธานหายไปแล้วจริงๆ จากวัดเจ็ดยอด เชียงใหม่ ตราบที่เรายังไม่อาจหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาเชื่อมโยงความสัมพันธ์ว่าพระเจ้าแก่นจันทน์ที่ลำปางนั้น คือองค์เดิมองค์เดียวกันจริงๆ
พระเจ้าแก่นจันทน์สร้างตั้งแต่ยุคพุทธกาลจริงหรือ
เรื่องราวของพระเจ้าแก่นจันทน์ไม่สามารถยืนยันว่ามีหลักฐานระบุในพระไตรปิฎกจริงหรือไม่ หลักฐานที่อ้างอิงกันอยู่ทุกวันนี้ล้วนแล้วแต่ได้มาจาก ชินกาลมาลีปกรณ์ และ ตำนานพระเจ้าแก่นจันทน์ (ซึ่งไม่ระบุนามผู้เขียนคนแรก แต่คัดลอกต่อๆ กันมาหลายฉบับ) ทั้งสิ้น

เนื้อหามีอยู่ว่า เมื่อครั้งพุทธกาล ช่วงที่พระพุทธองค์เสด็จไปทรงเทศนาโปรดพระพุทธมารดา บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นานร่วมหนึ่งพรรษา (3 เดือน) นั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล มีความรำลึกถึงพระพุทธองค์ ด้วยมิได้ทรงเห็นเป็นเวลานาน จึงตรัสให้นายช่างทำพระพุทธรูปขึ้นด้วยไม้แก่นจันทน์แดง ประดิษฐานไว้เหนืออาสนะที่พระพุทธองค์เคยประทับ

ครั้นพระพุทธองค์เสด็จกลับลงมาจากดาวดึงส์ถึงที่ประทับ ด้วยพระบรมพุทธานุภาพ บันดาลให้พระพุทธรูปแก่นจันทน์ เลื่อนหลีกจากพระพุทธอาสน์ทำท่าจะอันตรธานหายไป พระเจ้าปเสนทิโกศลนึกเสียดาย จึงทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงตรัส “ห้าม” พระแก่นจันทน์ มิให้อันตรธานไปไหน พระพุทธองค์สั่งให้พระเจ้าปเสนทิโกศลรักษาพระแก่นจันทน์นั้นไว้ (กลายเป็นที่มาของพระพุทธรูปปางห้ามพระแก่นจันทน์)

หากเชื่อตามนี้ ก็แปลว่า พระแก่นจันทน์ คือพระพุทธรูปองค์แรกของโลก? เพราะมีอายุร่วมสมัยกับยุคพุทธกาล ย่อมเก่าแก่กว่าการสร้างพระพุทธรูปในสมัยคันธารราษฎร์โดยชาวกรีกเมื่อพุทธศตวรรษที่ 6 ที่เราเคยเชื่อกันตามทฤษฎีว่าเก่าที่สุด

และหากเชื่อเช่นนั้น จะมิขัดแย้งต่อพระพุทธวจนะซึ่งทรงตรัสห้ามมิให้พระอานนท์กังวลต่อการตั้งศาสดาองค์ใหม่ หรือแสวงหาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจด้านวัตถุอื่นๆ ภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน แทนที่จะยึดพระธรรมคำสอนเป็นสรณะดอกล่ะหรือ

หลักฐานด้านพุทธศิลป์ในอินเดียยุคโบราณ ก่อนจะมีการสร้างพระพุทธปฏิมาสมัยคันธารราษฎร์ ซึ่งเราพบกันแค่เพียง ดอกบัว สถูปจำลอง ธรรมจักร กวางหมอบ รอยพระบาท ต้นโพธิ์จำลอง เหล่านี้ จะมิสวนทางย้อนแย้งกันไปหมดล่ะหรือ หากเรายังเชื่อว่า ยุคพุทธกาลเคยมีพระแก่นจันทน์จริง

จึงเป็นที่แน่ชัดว่า ตำนานเรื่องพระแก่นจันทน์นั้น เพิ่งมาแต่งขึ้นภายหลัง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงความเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกล้านนาให้รู้สึกใกล้ชิดแนบแน่นกับสมัยพุทธกาล
โอกาสที่ตาแก่จากห้างฉัตรจะได้เห็นพระพุทธรูปไม้แก่นจันทน์ที่วัดป่าตันหลวงซึ่งประดิษฐานอยู่ในมณฑปพระเจ้าไม้แก่นจันทน์ ก็คือจากภายนอกจะต้องมองผ่านช่องหน้าต่างเข้าไป...

 
นับเป็นบุญตาแล้วหนาที่ได้มาเห็น กล้องถ่ายรูปที่นำมาด้วยก็สามารถบันทึกภาพไว้ได้ด้วย...


 
ซูมเข้ามาใกล้อีกหน่อย...



 
 
 
แค่นี้ก็วิเศษที่สุดแล้ว...ผมคิดในใจ!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น