วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2564

วัดท่าสะต๋อย จ.เชียงใหม่

 
วัดท่าสะต๋อยตั้งอยู่ในตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่...

 
จากสะพานนวรัฐ (B) หากย่ำต๊อกไปวัดท่าสะต๋อยก็ไม่ไกล อากู๋บอกว่าเดินไม่ถึง ๑๕ นาที แต่ถ้าเป็นตาแก่เมืองรถม้าก็น่าจะต้องใช้เวลามากกว่านั้น เผลอ ๆ อาจเป็นลมซะก่อน

ชื่อวัดตั้งตามชื่อหมู่บ้านสะต๋อยซึ่งมีท่าน้ำลงแม่น้ำปิง วัดตั้งอยู่ไม่ไกลท่าน้ำ จึงเรียกกันว่า "วัดท่าสะต๋อย" ผมรู้จักมาตั้งแต่เด็กแล้วล่ะ วันนี้คนเฒ่าได้มีโอกาสเข้ามาเก็บภาพให้เพื่อน ๆ  จากถนน (R) เชียงใหม่-ลำพูน (เลียบแม่น้ำปิง) เลี้ยวเข้าซอยท่าสะต๋อย ขี่จักรยานผ่านประตูทางเข้า (G) ตรงไปในวัด...


 ไม่ต้องมีซุ้มประตูโขงเลิศหรูอลังการ ดีแล้วเจ้าค่า!


ที่ไม่เหมือนใครคือบนเสาประตูไม่มีสิงห์นั่งเฝ้าอยู่ แต่เป็นพระพิฆเนศประทับนั่งบนแท่นประดับด้วยหัวกะโหลก...

รูปบูชาของพราห์มในพุทธสถาน เป็นการผสมผสานที่ดูเหมือนจะมีอยู่ทั่วไป...


มีป้ายบอกประวัติความเป็นมาของชื่อ "สะต๋อย" ให้อ่านด้วยจ้า...

 แต่เพื่อน ๆ คงอ่านไม่ได้ใจความ ผมพิมพ์ให้ดีฝ่า...

ประวัติความเป็นมาของชื่อ "สะต๋อย"

ชื่อบ้านสะต๋อยปรากฏอยู่ในพงศาวดารโยนกว่าด้วยเชียงใหม่สะสมพลเมืองและหนังสือเจ้าหลวงเชียงใหม่ ว่าด้วย "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" โดยจะกล่าวถึงพระกรณียกิจ ของพระเจ้ากาวิละ เจ้าหลวงองค์ที่ ๑ (พ.ศ. ๒๓๒๔ - ๒๓๕๘) ความว่า "ในช่วงเวลานั้น แผ่นดินล้านนาโดยเฉพาะเชียงใหม่ร่วงโรยอย่างยิ่ง บ้านเรืองไร่นาถูกทิ้งร้าง หมู่บ้านกลายเป็นป่า เมืองกลายเป็นดง จะไปทางใต้ก็กลัวเสือ จะไปทางเหนือก็กลัวช้าง บ้านเมืองขาดเสถียรภาพเพราะไม่มีเจ้านายเป็นหลักแห่งแผ่นดิน คงมีแต่ขุนเล็กๆน้อยๆที่ดูแลท้องถิ่นตน โดยเหตุนี้พระเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) จึงทรงให้พระยามังวชิรปราการกำแพงแก้ว (พระเจ้ากาวิละ) ไปฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ ซึ่งนับว่าเป็นยุคที่ต่อมาเรียกว่า "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" จึงไปชักชวน หรือ ตีบ้านเล็กเมืองน้อยต่างๆเพื่อนำเอาประชากรมาสะสมรอไว้ใน "เวียงป่าซาง" รวมกันหลายครั้ง เช่นในปี จ.ศ. ๑๑๔๕ (พ.ศ. ๒๓๓๒) ก็ได้ชาวบ้าน "สะต๋อย" บ้าน "วังลุ" บ้าน "วังกวาด" มารวมไว้อีกด้วย แม้จะเข้ามาตั้งอยู่ในเมืองเชียงใหม่แล้วก็ตาม กิจกรรมการรวบรวมพลเมืองก็ยังดำเนินต่อไป ดังในจุลศักราช ๑๑๖๐ (พ.ศ. ๒๓๔๑)  ก็ได้ประชากรจาก เมืองปุ เมืองสาด เมืองแจดท่าอ้อ เมืองถึง และ เมืองกุน มารวมอยู่ในเมืองเชียงใหม่ และ ในปีรุ่งขึ้นก็ได้ให้กองทัพไปตีเอาประชากรจาก บ้านวัวลาย "สะต๋อย" ส้อยไร ท่าช้าง บ้านนา และ ทุ่งอ้อ มาไว้ในเชียงใหม่อีกเช่นกัน"

ส่วนบรรดาผู้ที่อพยพมาโดยถูกกวาดต้อนจากถิ่นต่างๆ ก็ตั้งชื่อหมู่บ้านของตนตามชื่อบ้านเมืองเดิมที่ตนถูกกวาดต้อนลงมา เช่น "บ้านเมืองมาง" ซึ่งมีชาวบ้านเดิมเป็นชาวไทลื้อ และได้อพยพลงมาจาก "เมืองมาง" ในรัฐสิบสองปันนา นอกจากนี้ ยังมีหมู่บ้าน "เมืองสาด" "เมืองกาย" "เมืองเลน" "เมืองวะ" "เมืองขอน" "เมืองลวง" "เมืองหลวย" "เมืองยอง" "พยาก" "เชียงขาง" เหล่านี้เป็นต้น เป็นหมู่บ้านที่รายรอบเมืองเชียงใหม่และลำพูน ถึงแม้ว่าประชากรดั้งเดิมในหมู่บ้านเหล่านั้น เป็นไทลื้อ ไทเขิน ไทยอง และ ไทใหญ่ ในปัจจุบันนี้ก็ได้กลับกลายเป็นไทยวน โดยเรียกตนเองว่า "คนเมือง" ไปจนหมดสิ้นแล้ว

ที่เห็นคงเป็นอาหารนก แสดงว่าวัดใจดีจริง ๆ...

เจ้าหมีก็ไม่ดุ

 

ป้ายบอกเนื้อ ๑๐ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติห้ามไว้...

เพิ่มพิเศษอีก ๒ อย่าง คือเนื้อวัวกับเนื้อความ แต่ทำไมถึงกินกันนะ? 

"ฟังกำเล่า บ่เต้าต๋าหัน"  งั้นไปดูความงามของวิหารด้วยกันน้า...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น