๓๐ กว่าปีก่อน ผมไปอินเดีย...นั่งรถไฟเกือบ ๙๐๐ กิโลเมตรไปกรุงพาราณสี ตั้งใจว่าจะไปให้ถึงพุทธคยา!
วิกิพีเดียกล่าวว่า...
"พุทธคยา" เป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญที่สุด ๑ ใน ๔ สังเวชนียสถาน ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวพุทธทั่วโลก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา เป็นสถานที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัจจุบันนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า วัดมหาโพธิ์ (Mahabodhi Temple) ตั้งอยู่ที่จังหวัดคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย...
โชคไม่ดีกล้องถ่ายรูป Rollei 35 ซึ่งฝากเค้าซื้อมาให้จากฮ่องกงในราคา ๓,๐๐๐ บาทถูกแขกหลอกเอาไปกินเมื่อตอนเดินทางถึงกัลกาตาใหม่ ๆ ผมเปลี่ยนใจไม่ไปให้ถึงพุทธคยา
จวบจนกาลเวลาผ่านไปกว่า ๓ ทศวรรษ ผมก็ยังไม่มีโอกาสได้กลับไปอินเดียซะที ฝันที่จะเห็นเจดีย์พุทธคยาเลือนลางลงเรื่อย ๆ ก็ได้แต่ดูภาพในอินเทอร์เน็ตเพื่อปลอบใจ จนกระทั่งได้ข่าวว่าเค้ายกพระมหาเจดีย์ที่พุทธคยามาตั้งไว้ในจังหวัดลำปาง จังหวัดที่ผมมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ไม่ได้...ต้องไปดูซะหน่อยว่าจะอลังการแค่ไหน? จากวัดบ้านปางหละ เดินทางผ่านอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทซึ่งอยู่ด้านซ้ายมือไปอีกประมาณสิบกว่ากิโลเมตรก็ถึงวัดจองคำ...
จากลานจอดรถต้องเดินขึ้นเนินไปหน่อย หากเป็นคนแก่ก็ต้องบอกว่า "อิด (เหนื่อย)"
ครั้นได้เห็นความยิ่งใหญ่และงดงามของเจดีย์พุทธคยาเมืองงาวแล้ว ความเหน็ดความเหนื่อยก็มลายหายสิ้น...
ผมนำภาพกลับมาให้เพื่อน ๆ ได้ดูแล้วนะครับ คิดว่าคงจะลอกแบบมาจากเจดีย์พุทธคยาองค์จริงกันเลยทีเดียว...
มีเสาอโศกตั้งอยู่ด้านข้าง...
วิกิพีเดียอธิบายเกี่ยวกับเสาอโศกว่า...
จักรพรรดิแห่งราชวงศ์เมารยะ ที่ปกครองอนุทวีปอินเดียในช่วงยุคพุทธศตวรรษที่ 4 พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างเสาหินทราย (ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า "เสาอโศก") ขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเพื่อระบุสถานที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
เสาหินเหล่านี้สร้างโดยหินทรายจากเมืองจุณนา เมืองทางตอนเหนือของอินเดีย ซึ่งถือได้ว่ามีคุณภาพดีที่สุดในสมัยนั้น โดยเสาทุกเสาจะมีหัวสิงห์แกะสลักประดิษฐานอยู่ เป็นสัญลักษณ์ถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่องอาจดุจราชสีห์ และแผ่ไปไกลดุจเสียงแห่งราชสีห์...
ตามผู้มาเยือนท่านอื่นเข้าไปข้างในกันนะครับ...
กลับออกมาเดินเก็บภาพด้านนอกอีกครั้ง...
มีกองหินที่ผู้คนนำมาเรียงกันให้ดูคล้ายพระพุทธรูป...
เห็นอย่างนี้แล้ว ผมคงไม่ต้องบินไปไกลถึงอินเดีย!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น