วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

บ้านสะลวง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

ตำบลสะลวงตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอแม่ริม สภาพเป็นที่ราบเชิงเขาและภูเขาสลับซับซ้อน ปั่นจักรยานก็ไม่เหนื่อยเท่าไหร่ เพราะยังไม่สูงชันมากนัก...

 
อยู่ในเขตป่าสงวนและแหล่งต้นน้ำลำธาร ทิศเหนือติดกับ ต.สันป่ายาง ทิศใต้ติดกับ ต.ห้วยทราย ทิศตะวันออกติดกับ ต.ขี้เหล็ก ทิศตะวันตกติดกับ ต.สะเมิงเหนือ ชาวบ้านมีอาชีพหลักในการทำนาทำสวนและรับจ้าง มีถนนลาดยางและถนนคอนกรีต เดินทางได้สองทาง คือจากอำเภอแม่ริมถึงบ้านสะลวงนอก ระยะทาง ๑๖ กม. และจากบ้านปากทางสะลวง ตำบลถึงบ้านสะลวงนอก ระยะทาง ๘ กม.

 
บนทางหลวงหมายเลข 3009 (1)  ผมปั่นจักรยานมาถึงหน้าโรงเรียนสะลวงนอก (2) ทางด้านซ้ายมือ (L) เป็นบ้านสะลวงใน ส่วนด้านขวา (R) เป็นบ้านสะลวงนอก
 
 
 
เกือบหลงออกนอกทาง ผมต้องไปหยุดแวะกินไอติมขนมปัง (๑๐ บาท) แล้วถามถึงทางไปเมืองปายที่ถูกต้อง...
 

ยังมีอีกคำถามที่ต้องการหาคำตอบ ผมถามคนเมืองเหนือแท้ ๆ ๑๐๐ เปอร์เซนต์ว่า "สะหลวง...แป๋ว่าหยัง?" คำตอบที่ได้รับคือ "บ่าฮู้"  
 
ยุคนี้เป็นสมัยแห่งการเรียนรู้ สามารถค้นคว้าหาคำตอบในอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย ในวารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๒ กรกฎาคม-ธันวาคม ๒๕๕๗ ตีพิมพ์บทความของ รังสรรค์ จันต๊ะ เรื่อง "ภูมินามพื้นบ้าน: ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกับวรรณกรรมพื้นบ้านในเขตภาคเหนือตอนบน (The Indigenous Place Name in Local History and Folk Literature in the Upper North)"  หน้า ๑๐๔-๑๐๗ มีว่า...

จาก สรรวง - สรลวง – สลวง – สระหลวง – สรวย และสรวง (สวรรค์) ถึง “บ้านสะลวง”  ของ  อำเภอแม่ริม  :  ความพยายามต่อเติมบางส่วนที่ขาดหายไปของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น อำเภอแม่ริม มีชื่อหมู่บ้านหนึ่งอยู่ถัดจากตัวอำเภอขึ้นไปทางทิศเหนือราว ๓ กิโลเมตร ชื่อว่าหมู่บ้าน “สะลวง” แยกเป็น ๒ กลุ่มบ้าน คือบ้านสะลวงนอก กับสะลวงใน ทั้งสองหมู่บ้านสังกัดอยู่ในตำบลสะลวง คนบ้านสะลวงเป็นคนเมือง หรือที่เรียกว่าเป็น “คนไท - ยวน” (โยนหรือโยนก)...

ศัพท์สันนิษฐานคำว่า “สรวง – สาง” ของจิตร ภูมิศักดิ์*  ที่ปรากฏในลิลิตโองการแช่งน้ำพิพัฒน์สัตยาโคลงห้า (มณฑกคติ) เป็นคำสรรเสริญพระวิษณุ (พระนารายณ์) ในตอนต้นว่า“โอมสิทธิสรวงศรีแกล้ว แผ้วมฤตยู เอางูเป็นแท่น แกว่นกลืนฟ้ากลืนดิน บินเอาครุฑมาขี่ สี่มือถือสังขะ จักรคธาธรณี ภีรุอวตาร อสุรแลงลาญทัค ททัคนีจรนาฯ” จิตร พบข้อสังเกตว่า นามของพระวิษณุที่ปรากฏในร่ายนั้น ปรากฏในนามที่เป็นภาษาไทยโบราณ ที่มีการเลือนความหมายไปแล้ว นามที่ว่านั้นคือคำว่า “สรวง” นั่นเอง จิตร แปลความหมายของศัพท์ดังกล่าวตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่าน่าจะหมายถึง “เทวดา” มากกว่าที่จะแปลว่าสวรรค์ เพราะจากบทที่ว่า “โอมสิทธิสรวงศรีแกล้ว” โดยใช้ความหมายตามพจนานุกรม ก็ต้องแปลว่า “โอมขอความสำเร็จแด่เทวดาผู้เป็น ศรีแห่งความแกล้วกล้า” จะแปลสรวงในที่นี้ว่า “สวรรค์” ไม่ได้เลย และที่เรียกท้าววิษณุว่า “พระสรวง” ก็เรียกตามชื่อเมืองที่สถิตอยู่ คือ “ไวกูณสวรรค์” หรือ “สรวงสวรรค์” และก็คือคำเดียวกับชื่อเมือง “พิษณุโลก” (เมืองของพระวิษณุ) ในภาษาสันสกฤตว่า “เมืองสรวง” ที่เดิมเรียกว่าเมือง “สระหลวง” เพราะออกเสียงคำว่า “สรวง” แบบแยกเสียงเป็น “สะ – หลวง” แล้วเขียนตามเสียงอ่านโดยโยงกับคำว่า “สระ” ที่แปลว่าหนองน้ำ ซึ่งความจริงก็คือ “เมืองสรวง” ที่ไม่ได้เกี่ยวกับสระน้ำเลยนั่นเอง โดยยืนยันจากหลักฐานจารึกสุโขทัยซึ่งจะเขียนว่า “สรลวง” ทุกหลัก ซึ่งก็ไปสอดคล้องกับนามพระชนกของพระลอ (ในลิลิตพระลอ) คือ ท้าวแมนสรวง อันหมายถึง เทวดาหรือผีฟ้าในสรวงสวรรค์ เพราะคนไทยโบราณเรียกเทวดาที่เป็นเทวดาโดยกำเนิด ว่า “แมน” (ถ้าคนทำดีตายแล้วไปเป็นเทวดา ก็จะเรียกว่า “ผีฟ้า”) ดังนั้นจิตรจึงสรุปว่า เมือง สรลวง หรือ สลวง ก็มาจาก สรวง นั่นเอง เพราะถ้าสรวงจะแผลงเป็น “สรรวง” เวลาอ่านก็ออกเสียงยากและทำให้งง จึงแปรรูปเป็น “สรลวง” นอกจากนี้ ม.ร.ว. สุมนชาติ สวัสดิกุล ยังอ้างไปถึงชื่อตำบล “แม่สรวย” ในเขตอำเภอเวียงป่าเป้า  จังหวัดเชียงราย  ในปัจจุบันว่า  น่าจะแผลงมาจากรูปคำว่า “สรวง” คือ เมืองสรวง ของพระลอ เช่นเดียวกัน 

เมื่อมาถึงตำบล “สะลวง” ของอำเภอแม่ริม ทำให้เป็นไปได้ว่า คนท้องถิ่นโดยเฉพาะปราชญ์ท้องถิ่น เช่น พระสงฆ์ผู้มีความรู้ ด้านบาลี  สันสกฤต  ได้รับอิทธิพลจากงานวรรณกรรม  ทั้งที่เป็นมุขปาฐะและลายลักษณ์อักษรจากเอกสารพับสาหรือใบลาน ที่ปรากฏอยู่ตามวัดต่างๆ ที่พระนำมา ใช้เทศนาในวันสำคัญทางศาสนา  จึงนำมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านตามการออกเสียงและรูปเขียนที่แผกกันออกไปดังกล่าวอย่างไรก็ตาม มีการอ้างถึงสำนวนของชาวบ้านในชุมชน ที่พยายามเชื่อมโยงและผสมผสานเอาจาก คำสองคำเข้ามาเกี่ยวข้องกัน เป็นชื่อบ้านสะลวง คือคำว่า“สะลอง” ว่ามาจากชื่อดอยแม่สะลอง ในอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย กับคำว่า “ลวง” ที่หมายถึงสัตว์คล้ายมังกร ของกลุ่ม “คนไท” ในเขตล้านนาเดิม โดยอ้างถึงชาวบ้านผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนหมู่บ้าน ได้เล่าถึงที่มาของชื่อชุมชนหมู่บ้านว่า ผู้ก่อตั้งบ้านสะลวงใน คือ ลุงอ้ายตำ เป็นชายร่างกายกายลำสัน บึกบึน แข็งแรง สมกับเป็นหัวหน้า แต่รูปร่าง ค่อนข้างตำ  หลังจากเดินรอมแรมมาหลายคืน  จนกระทั่งพบหมู่บ้านนี้เข้า  เห็นว่าเป็นที่ราบ ขนานไปกับลำห้วยเชิงเขา อุดมสมบูรณ์ดี เหมาะแก่การสร้างบ้านสร้างเมือง จึงพากันหยุดพักสร้างปางขึ้น  ช่วยกันทำเพิงพักอยู่ร่วมกัน  ช่วยกันแผ้วถางที่ราบแห่งนี้ แบ่งกันเป็นที่ทำไร่ ทำนา หมู่บ้านแห่งนี้ ก็เจริญขึ้นตามลำดับ ครั้งแรก ไม่รู้ว่าจะตั้งชื่อหมู่บ้านว่าอย่างไรดี  ชาวบ้านจึงประชุมปรึกษากันเพื่อตั้งชื่อหมู่บ้านขึ้น ลุงอ้ายตำซึ่งเป็นหัวหน้าจึงออกความเห็นว่า ที่บ้านแห่งนี้มีลักษณะภูมิประเทศเหมือนกับ ดอยแม่สะลอง ต่อมาชาวบ้านหากินลึกเข้าไปตามลำห้วยทางทิศตะวันตกประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ไปพบต้นเมี่ยงซึ่งขึ้นตามธรรมชาติมีอยู่จำนวนมาก จึงพากันไปตั้งปางนอนค้างแรม  เก็บใบเมี่ยงออกมาขายเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง  อยู่มาไม่นานพวกชาวบ้านป่าเมี่ยงเหล่านี้ ก็พบกับสิ่งแปลกประหลาดอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่งตอนกลางคืน ของวันเพ็ญเดือนสิบสองเหนือ  ขณะที่ชาวบ้านป่าเมี่ยงกำลังนั่งล้อมวงเฝ้าดูการนึ่งเมี่ยงอยู่นั้น ก็มีเสียงดังครืนๆ คล้ายฟ้าจะถล่มขึ้นที่ห้วยต้นนำ ใกล้ๆ กับปางที่พักนั่นเอง ทุกคนจึงออกจากที่พักกระท่อมมองไปตามเสียงที่เกิดขึ้น ต้องตกตะลึงไปตาม ๆ กันกับสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เป็นสัตว์ประหลาด รูปร่างคล้ายงู ตัวมหึมา ลำตัวยาว เท่าต้นตาล ที่หัวมีหงอน มีขา สี่ขา นัยน์ตาสีแดงเป็นประกาย ลำตัวมีรัศมีลุกโชติช่วงเป็นแสงพุ่งไปทางสว่างไปไกล ลอยละล่องขึ้นสู่บนท้องฟ้า เป็นประกายระยิบระยับ เหมือนสายฟ้าแลบ มุ่งหน้าลอยตัวไปในทิศตะวันออก ด้วยความรวดเร็วพร้อมกับเสียงที่ดังกระหึ่มกึกก้องไปไกล ในขณะเดียวกัน พวกที่อยู่ทางบ้านก็เห็นตัวประหลาดนี้มาวนเวียนอยู่เหนือน่านฟ้าบ้านแม่สะลองแห่งนี้อยู่หลายรอบ แล้วก็มุ่งหน้ากลับไปสู่ที่เดิม พอรุ่งเช้าชาวบ้านป่าเมียงก็พากันไปดูที่เกิดเหตุที่ต้นนำลำห้วย พวกเขาได้พบรูน้ำใหญ่  ขนาดตัวคนมุดเข้าไปได้  มีรอยงูใหญ่เลื้อยออกมาจากรู พาเอาเศษโคลนแปดเปื้อนต้นไม้ ใกล้เคียงบริเวณที่มันผ่านไป มีรอยลู่เป็นทางตั้งแต่โคนต้นจนถึงปลายต้น เชื่อกันว่าเป็นรอยของมังกร หรือที่ชาวเหนือเข้าเรียกว่า “ลวง” ชาวบ้านต่างโจษจันกันไปต่าง ๆ นานา ปรากฏเช่นนี้ขึ้นหลายครั้ง ส่วนมากจะเกิดขึ้นในวันเดือนเพ็ญเป็นประจำ ดังนั้นลุงอ้ายตำ จึงประชุมชาวบ้านเพื่อเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเสียใหม่  ให้เป็นไปตามนิมิตปาฏิหาริย์ที่ปรากฏให้เห็นในครั้งนี้  ให้เหมาะสมกับชื่อบ้านที่มีตัว “ลวง” ลอยผ่านเป็นสายในระยะทางสิบกิโลเมตรนี้ว่า “บ้านสายลวง” ตั้งแต่นั้นมาคนรุ่นหลังเรียกเพี้ยนไปเป็น “บ้านสะลวง” ตราบจนทุกวันนี้ จะสังเกตเห็นได้ว่า คำอธิบายเหล่านี้เป็นความพยายามสร้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของคนในชุมชนในยุคหลัง ๆ ขึ้นมาใหม่ ตามกระแสท้องถิ่นนิยมหรือระบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ต่อต้านการเข้ามาของกระแสโลกาภิวัตน์ในแง่ของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เกี่ยวพันอยู่กับธุรกิจการท่องเที่ยว  แต่ก็ได้ทิ้งความกำกวมแบบพื้นบ้านให้เห็นว่า ที่มาของชื่อนั้นมักใช้วิธี “เทียบเคียง” เอาจากเสียงของคำ รูปคำ หรือความหมายของคำ จากชุมชนที่ใกล้เคียงกันอย่างปะปนกัน จนไม่แน่ชัดว่ามาจากคำไหนกันแน่ เช่น มีทั้งการเทียบเคียงจากชื่อดอย “แม่สะลอง” ว่าอาจเพี้ยนเป็น “สะลวง” เพราะคำ สะลอง กับ สะลวง ใกล้กัน และพยายามบอกว่ามีภูมิศาสตร์คล้ายกัน ซึ่งความจริงดอยแม่สะลองมีความสูงชันกว่ามาก ขณะเดียวกันก็มีคำว่า “ลวง” อยู่ จึงเพิ่มเรื่องเป็นเรื่องของ “ลวง” หรือ สัตว์คล้ายมังกรในคติของกลุ่มคนไททางล้านนาเข้าไป...

 

 ใกล้ค่ำแล้ว ดูเหมือนว่าคืนนี้ถ้าจะต้องนอนบ้านสะลวงเป็นแน่แท้!

-----------------------------------------------------------------------------------------------

* เป็นนักคิดด้านการเมือง นักประวัติศาสตร์ และนักภาษาศาสตร์ นับเป็นนักปราชญ์และนักปฏิวัติทางความคิดและวิชาการคนสำคัญของประเทศไทย จิตรเป็นนักวิชาการคนแรก  ๆ ที่กล้าถกเถียงและคัดค้านปราชญ์คนสำคัญ ด้วยวิธีคิดที่มีเหตุผลและลุ่มลึก มีความโดดเด่นจากผลงานการค้นคว้าทางวิชาการที่แปลกใหม่และลึกซึ้ง .

วิหารวัดสุวรรณาวา

 
บันไดนาคขึ้นสู่โถงด้านหน้าของวิหารวัดสุวรรณาวา มีราวสแตนเลสไว้ให้คนแก่เกาะกันล้มด้วย...

 
ช่อฟ้าใบระกาแลหน้าบันก็สวยไม่แพ้ใคร...
 


 
 
แสงแดดสาดส่องคันทวยเกิดภาพงดงาม...
 
 
 
หลังคาลดชั้น ๒ ระดับ...

  
 
 
  
 
 
หลังวิหารมี ๒ ประตูซ้ายขวา ตรงกลางประดิษฐานพระพุทธรูป... 

 
ตรงตามสูตรคือถัดมาเป็นพระเจดีย์...
 
  
เก็บภาพมาฝากเพื่อน ๆ ดังนี้...

 
 
 
 
  
 
ออกจากวัด... ลงเนินต้องห้ามล้อ เจ้าทัสซูเฮะส่งเสียงดังน่ากลัว! เกือบ ๔ โมงเย็นแล้วครับ

วัดสุวรรณาวา(นาหืก)

จากถนนโชตนา (ทางหลวงหมายเลข 107) ถ้าเพื่อน ๆ อยากไปอำเภอปายด้วยเส้นทางที่ไม่พลุกพล่าน ก็ต้องหาทางหลวงชนบทหมายเลข 3009 ให้ได้ หากไม่มีเครื่องมือนำทางก็อาศัยปากสอบถามเค้าเรื่อยไป...

 
ชาวบ้านรู้กันว่า 3009 คือเส้นทางสายในไปปาย เป็นแค่เพียงถนนลาดยางไม่กว้างแต่ร่มรื่น ผมปั่นประมาณ ๑๐ กิโลเมตรถึงวัดสุวรรณาวา (นาหืก) หมู่ ๑ ตำบลสะลวง อำเภอแม่ริม

 

เห็นศาลาริมน้ำทางด้านซ้ายมือ... ตาแก่เมืองรถม้าพาเจ้าทัสซูเฮะขึ้นนั่งพัก เอากล้วยตากออกมากิน

ชื่นชมกับบรรยากาศริมน้ำ...

 มองไปฝั่งตรงข้ามเห็นห้องน้ำของร้านลาบนาหืก...

 

ทีแรกคิดว่าจะนอนที่นี่แหละคืนนี้ แต่นาฬิกาบอกเวลา ๑๕.๒๕ น. ยังมีเวลาอีกมากกว่าจะมืด ผมตัดสินใจไปต่อ จูงจักรยานมาที่ซุ้มประตู (3) ถ่ายภาพไว้แล้วขี่ขึ้นไปตามถนนเบื้องหน้า...

วัดอยู่บนเนิน ต้องจูงจักรยานขี้นนึดนิงถึงวิหาร (4)


แสงแดดยามบ่ายแก่ ๆ ทำให้เกิดเงายาวทอตตัว...

 
 
 
 
 
 

ไปดูวิหารกับพระเจดีย์กันดีกว่า!

วิหารวัดเจดีย์สถาน

วัดเจดีย์สถานเลือกสีชมพูให้กับผนังวิหาร พื้นตัวหนอนก็ยังปูให้มีลวดลายงามตา...


บันไดปูกระเบื้อง ๒ สี นำขึ้นสู่มุขด้านหน้า...

 
ลวดลายบานประตูและซุ้มสวยงาม...
 


หลังคาลดชั้น ๒ ระดับ ด้านข้างมี ๕ ช่องหน้าต่างพร้อมซุ้มลายวิจิตร...
 

 
  
หลังวิหารมีบันไดขึ้นไปยังระเบียงแคบ ๆ มีอยู่ ๑ ประตู... 
 
 
เห็นแง้มอยู่นิด ๆ ตาแก่ไม่กล้าเปิดเข้าไปดูข้างใน! ทวารบาลดูน่ากลัว
 

มาถ่ายรูปพระเจดีย์ดีกว่า...

 
 
หุ้มทองจังโก...

 


ยังมีอุโบสถอีก ๑ หลัง เก็บภาพมาฝากเพื่อน ๆ แล้วดังนี้...

 
 
 
 
ด้านหลังอุโบสถ...
 
 
เก็บภาพสีเงินขอบหลังคาศาลาและซุ้มไว้อีก ๑ บาน...

 
ลาแล้วจ้า...สิงห์จ๋า 

 
ออกจากวัดเจดีย์สถาน ผมปั่นจักรยานหาทางลัดไปเมืองปาย!