เพื่อน ๆ ทราบมั้ยครับว่า... เราสามารถนั่งรถไฟ (ขบวนธรรมดา) จากสถานีหัวลำโพงไปลงที่สถานีสุพรรณบุรี (R) ได้?
ผมเคยไปมาแล้วครับ วันนั้นไม่มีเจ้า Banian ไปด้วย ถึงสถานีสุพรรณบุรี (R) ก็ตกค่ำพอดี จากตัวสถานีต้องเดินเลียบทางรถไฟไปอีกเกือบ ๑ กิโลเมตรถึงทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 321 จริง ๆ แล้วรถไฟไปสุดระยะที่ชานชาลาซึ่งอยู่ใกล้ถนนใหญ่พอดี จากตรงนั้นเลี้ยวซ้ายแล้วเดินไปอีกไม่ไกลก็จะถึงประตูทางเข้าด้านหน้าของวัดป่าเลไลยก์ (W) วัดที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีวิหารหลวงพ่อโต (2) ตั้งอยู่ด้านหน้าบริเวณพื้นที่วัดอันกว้างใหญ่...
สารานุกรมเสรีวิกิพีเดีย กล่าวว่า...
หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองสุพรรณมาแต่โบราณกาล ตามพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้ากาแลโปรดให้บูรณะวัดป่าเลไลยก์ เมื่อ พ.ศ. ๑๗๒๔ แสดงว่าแสดงว่าวัดนี้ได้สร้างมาแล้วก่อนหน้านั้นเคยบวชที่วัดนี้แล้วมีโอกาสกลับมาเยือนอีกครั้ง ผมขอนำภาพวิหารหลวงพ่อโตมาฝากเพื่อน ๆ ดังนี้...
องค์พระประดิษฐานอยู่ในวิหารที่สูงใหญ่ มองเห็นเด่นแต่ไกล เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองปางป่าเลไลยก์ขนาดใหญ่สูง ๒๓ เมตรเศษ สร้างตามแบบศิลปอู่ทองรุ่นที่สอง ซึ่งเป็นศิลปะฝีมือสกุลช่างอู่ทองแท้ ๆ เดิมทีองค์พระประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง พระหัตถ์ขวาหัก ช่างได้สร้างวิหารครอบ โดยให้ผนังวิหารชิดกับพระหัตถ์ขวา ส่วนทางพระหัตถ์ซ้ายให้มีที่ว่าง ด้านหลังองค์พระสร้างชิดกับผนังวิหารทำให้แข็งแรง นับเป็นความชาญฉลาดของช่างเป็นอย่างยิ่ง
มีผู้สันนิษฐานว่า เดิมเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ประทับนั่งอยู่กลางแจ้ง พระกรทั้งสองข้างหักหายไป ผู้ที่มาบูรณใหม่ได้ทำเป็นปางป่าเลไลยก์ตามที่นิยมกันในสมัยหลัง ลักษณะประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุข้างซ้าย พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุข้างขวาในท่าทรงรับของถวาย พระวิหารที่สร้างครอบองค์พระ สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเห็นว่าที่หน้าบันของพระวิหาร มีพระราชลัญจกรประจำพระองค์ คือเป็นรูปพระมหามงกุฎอยู่ระหว่างฉัตรคู่ปรากฏอยู่
ตรงขั้นบันไดมีป้ายเขียนบอกให้ถอดรองเท้าไว้ตรงนี้ แต่ผู้คนกลับไม่ทำตาม มีแต่ตาแก่เมืองรถม้า... อิอิ
ทั้งองค์พระและวิหารดูสวยงามกว่าที่ผมเคยได้เห็น...
มีความเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้น สภาพเดิม ๆ ของวัดที่ผมเคยอยู่จำพรรษา ๓ เดือนทุกวันนี้เลือนหายสิ้น...
อาจกล่าวว่าวัดป่าเลไลยก์เป็นวัดที่รวยที่สุดในจังหวัดสุพรรณบุรีก็คงได้!